หมอก

หมอก(Fog)

Highlight
  • หมอกเกิดจากการเย็นตัวของอากาศแล้วไอน้ำในอากาศควบแน่นกลายหมอก โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นเมื่อความชื้นสัมพัทธ์เกิน 85 % และมีลมสงบ ส่วนหมอกที่เกิดในความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 85 % ก็คือหมอกแดดหรือฟ้าหลัว ซึ่งเกิดจากฝุ่นละอองในอากาศ มักจะปกคลุม กทม. ช่วงเดือน ธ.ค.- ม.ค.
  • ทะเลหมอกทางภาคเหนือในช่วงฤดูหนาว ส่วนใหญ่เป็นหมอกแบบแผ่รังสี จะเกิดขึ้นในคืนที่มีท้องฟ้าแจ่มใส อากาศเย็น และลมสงบ หรือ 3c ที่ทำให้เกิดทะเลหมอกคือ cool clear calm โดยทั่วไปแล้วทะเลหมอกทางภาคเหนือจะเกิดมากที่สุดช่วงปลายฝนต้นหนาวหรือเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน
  • หมอกที่เกิดหลังจากฝนตก อายุของหมอกแต่ละก้อนจะอยู่ประมาณ 10-15 นาที แต่ว่าหมอกชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้เรื่อย ๆ จนกว่าอุณหภูมิและความชื้นระหว่างช่วงที่ฝนตกกับไม่ตกสมดุลกัน อาจจะใช้เวลาถึง 1 ช.ม. หลังจากฝนตก

1.หมอกเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วต่างกับเมฆมั้ย

“หมอก” เรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของความสดชื่นของคนส่วนใหญ่ ที่ทำให้ใครหลาย ๆคนรวมถึงผมด้วยต้องโหยหาโอกาสไปสัมผัสหมอกตามดอยต่าง ๆ อย่างน้อยก็ปีละหนึ่งครั้ง ส่วนหมอกที่ว่า คือหมอกไอน้ำนะครับ ไม่ใช่หมอกแดดหรือหมอกควันที่ไม่ต้องโหยหาเดี๋ยวมันก็มาทุกปีช่วงหน้าหนาว และเมื่อใครหลายคนได้มาสัมผัสดูทะเลหมอกก็คงเกิดคำถามขึ้นมาบ้างว่า “หมอกมันเกิดได้ยังไง ทำไมบางครั้งเป็นแผ่น บางครั้งเป็นก้อน บางครั้งมีเยอะจนแทบมองอะไรไม่เห็น บางครั้งร้องโหยหาจนเหนื่อยก็ไม่มีสักนิด” แน่นอนว่าบทความนี้ผมจะพาไปรู้จัก ”น้องหมอก” ว่าแท้จริงแล้วหมอกที่เราเห็นกันอยู่นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมันพอที่จะบอกได้หรือไม่ว่า “ช่วงเวลาไหน? หมอกตามดอยต่าง ๆ จะเยอะและสวยที่สุด” ดังนั้นในหัวข้อนี้จะออกแนววิชาการหน่อยนะครับ แต่ผมจะพยายามเขียนให้รู้สึกผ่อนคลายให้อ่านแล้วรู้สึกไม่ง่วงนอน(จะพยายามละกันนะ ฮ่า ๆ)

  •  หมอก (FOG)  = หยดน้ำเล็ก ๆที่เกาะกลุ่มกันทำให้ทัศนวิสัยลดลงน้อยกว่า 1 กิโลเมตร (หมอกหนา)
  •  หมอกน้ำค้าง (MIST) = หยดน้ำเล็ก ๆที่เกาะกลุ่มกันทำให้ทัศนวิสัยลดลงมากกว่า 1 กิโลเมตรขึ้นไป (หมอกบาง)

โดยทั่วไปแล้ว “หมอก” เกิดจากการที่อากาศเย็นตัวลงจนถึงอุณภูมิจุดน้ำค้างจนอากาศไม่สามารถอุ้มไอน้ำได้อีก จึงทำให้ไอน้ำในอากาศควบแน่นเปลี่ยนสถานะกลายเป็นละอองหยดน้ำเล็ก ๆเกาะกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจริง ๆ แล้วหมอกสามารถเกิดขึ้นได้เมื่ออุณหภูมิอากาศกับอุณหภูมิจุดน้ำค้างต่างกันไม่เกิน 2.5 องศาเซลเซียส หรือความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 85% ยิ่งส่วนต่างระหว่างอุณหภูมิอากาศกับอุณหภูมิจุดน้ำค้างน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดหมอกได้มากขึ้นเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วอากาศเย็นจะมีความสามารถอุ้มน้ำได้น้อยกว่าอากาศร้อน พูดง่าย ๆคือในอากาศที่มีความชื้นสัมพัทธ์ 100% เหมือนกัน ในอากาศอุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส จะมีจำนวนไอน้ำในอากาศจริงน้อยกว่าในอากาศอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส บางครั้งในแถบอาร์กติกช่วงที่อุณหภูมิ -50 องศาเซลเซียส เวลาหายใจออกมาไอน้ำที่ออกมาจากปากจะควบแน่นกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งเลย(ปกติจะเป็นควันขาว) เพราะว่าอากาศเย็นจัดจนไม่สามารถรับไอน้ำจากปากเราได้อีกแล้ว จึงควบแน่นกลายเป็นเกล็ดหหิมะแบบเฉียบพลัน ดังนั้นเมื่ออุณหภูมิอากาศลดลงความสามารถการอุ้มไอน้ำในอากาศก็ลดลงตาม ทำให้ไอน้ำที่อยู่ในอากาศจึงกลั่นตัวกลายเป็นหมอกได้ง่ายขึ้น

Mist
หมอกน้ำค้างบาง ๆ(mist) ในช่วงปลายฝนต้นหนาว กลางทุ่งนา อ.เชียงกลาง จ.น่าน รีวิวเพิ่มเติม เชียงกลาง น่าน
FOG
หมอกหนา ๆ(Fog) ปกคลุมทุ่งนาอำเภอนาน้อน จ.น่าน

แล้วหมอกกับเมฆต่างกันอย่างไร? อันที่จริงมันก็ไม่ได้ต่างกันหรอกครับ เพราะทั้งเมฆกับหมอกก็เกิดจากการเย็นตัวของอากาศแล้วไอน้ำในอากาศควบแน่นเป็นละอองหยดน้ำเล็ก ๆเกาะกลุ่มกัน  เพียงจะต่างกันตรงที่  “หมอกจะอยู่ติดกับพื้นดิน ส่วนเมฆจะลอยอยู่เหนือพื้นดิน นั่นเอง” อันที่จริงแล้วมันมีคำนิยามอยู่นะว่า “กลุ่มละอองน้ำอะไรก็ตามที่ลอยอยู่เหนือพื้นดินเกิน 1.50 เมตร ถือว่าเป็นเมฆครับ” แล้วถ้าเมฆชนยอดภูเขาแบบนี้เรียกว่า “หมอก หรือ เมฆ”? คำตอบง่ายๆ  ก็คือเมื่อเมฆชนภูเขาจะเรียกว่าหมอกเลยครับ ส่วนถ้าหมอกอยู่ดี ๆ ลอยออกจากภูเขาสูงก็จะกลายเป็นเมฆ ดังนั้นเมฆสามารถเปลี่ยนเป็นหมอกได้ และหมอกก็สามารถเปลี่ยนเป็นเมฆได้เหมือนกัน

หมอกบนสันเขา เขาค้อ
เมฆหมอกบนสันเขา บริเวณแคมป์สน เขาค้อ เพรชบูรณ์ รีวิวเพิ่มเติม >>>เขาค้อ เพชรบูรณ์

2.แล้วในเมืองไทยมีชนิดหมอกแบบไหนบ้าง

หมอกแบบแผ่รังสี (Radiation Fog)

“หมอกแบบแผ่รังสี” จะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนที่มีอากาศเย็นและท้องฟ้าแจ่มใส เนื่องจากว่าในคืนที่ท้องฟ้าแจ่มใสพื้นดินจะคายความร้อนออกสู่บรรยากาศเบื้องบนได้ดี(พื้นดินเย็น) ทำให้อากาศรอบ ๆ พื้นดินเย็นลงจนถึงอุณหภูมิจุดน้ำค้าง ไอน้ำในอากาศจึงควบแน่นกลายเป็นหมอก นอกจากกลางคืนท้องฟ้าแจ่มใสแล้วหมอกจะอยู่คงทนได้นาน ลมระดับล่างต้องสงบนิ่งด้วย(ลมเบา ๆก็ได้อยู่นะ) ดังนั้นหมอกแบบแผ่รังสีส่วนมากแล้วจะเกิดขึ้นในหุบเขาที่ไม่มีลมพัดนั่นเอง หลายคนเริ่มคุ้น ๆแล้วว่าใช่แบบเดียวกับทะเลหมอกตามดอยต่าง ๆ หรือไม่ ตอบเลยว่า “ใช่” หมอกแบบแผ่รังสีเป็นหมอกที่พบเจอเยอะสุดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย เพราะเป็นช่วงที่ตอนกลางคืนมีอากาศเย็นและท้องฟ้าจะแจ่มใสได้มากที่สุด และในตอนกลางคืนอากาศเย็นจากยอดเขาจะไหลลงไปยังหุบเขา จนอากาศในหุบเขาเย็นลงถึงอุณหภูมิจุดน้ำค้าง ไอน้ำบริเวณหุบเขาจะควบแน่นกลายเป็นหมอก และด้วยหุบเขาไม่มีลมพัด ทำให้หมอกไม่ถูกพัดไปไหนจนสะสมกลายเป็นทะเลหมอกนั่นเอง สุดท้ายแล้วหมอกชนิดนี้จะสลายตัวเมื่อแสงแดดเริ่มส่องจนอากาศในหุบเขาเริ่มอุ่นขึ้น หมอกชนิดนี้จะระเหยหายไปหรือลอยกลายเป็นเมฆแทน ส่วนหมอกจะอยู่นานหรือไม่นานก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ด้วย ถ้าเป็นหุบเขาลึกและแคบหมอกอาจจะอยู่ได้นานถึง 09:00 – 09:30 เลย แต่ถ้าเป็นพื้นที่ราบหุบเขากว้างใหญ่ ๆไม่เกิน 08:00 ก็สลายตัวแล้ว ขอเสริมอีกนิดสำหรับใครที่ยังสงสัยว่าทำไมอากาศเย็นบนภูเขาถึงไหลลงไปหุบเขาด้านล่าง? ง่าย ๆเลยอากาศเย็นจะหนักกว่าอากาศร้อน ไม่เชื่อลองเปิดตู้เย็นแล้วจะรู้สึกเย็นตีนไม่ได้เย็นหน้าแต่อย่างใด

หมอกแบบแผ่รังสี Radiation Fog
หมอกแบบแผ่รังสี ช่วงเช้า ของอำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่
หมอกแบบแผ่รังสี Radiation Fog
หมอกแบบแผ่รังสี เริ่มสลายตัวในช่วงสาย ๆ ของอำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่

หมอกฝน(Rain Fog)

“หมอกฝน” หมอกชนิดนี้มีลักษณะเป็นก้อน ๆ มักเกิดบนภูเขาหรือพื้นดินที่เป็นป่าอุดมบูรณ์ โดยเฉพาะช่วงฝนกำลังตกหรือหลังฝนตก ซึ่งหมอกชนิดนี้แต่ละก้อนจะคงอยู่ได้ไม่นานส่วนใหญ่จะประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น แต่ว่าจะเกิดขึ้นได้ใหม่เรื่อย ๆ จนกว่าความชื้นและอุณภูมิระหว่างช่วงที่ฝนตกกับไม่ตกจะสมดุลกัน โดยทั่วไปแล้วหมอกฝนจะเกิดได้ 2 กรณีคือ

  • หมอกที่เกิดตอนฝนตก ในช่วงก่อนที่ฝนตกพื้นดินได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์จนเกิดการสะสมความร้อนในพื้นดิน(พื้นดินอุ่น) เมื่อฝนตกลงมาบนผิวดินที่อุ่นน้ำฝนจึงระเหยกลายเป็นไอแล้วลอยขึ้นไปกระทบกับอากาศเย็นในตอนที่ฝนกำลังตก ทำให้ไอน้ำที่อุ่นควบแน่นกลายเป็นหมอกอย่างฉับพลัน หมอกชนิดนี้จะเกิดขึ้นตอนฝนตกใหม่ๆ หรือตอนที่ฝนกำลังตกนั่นเอง (คล้ายกับการต้มน้ำร้อนแล้วมีไอน้ำควันขาว ๆ ออกมา) ซึ่งก็เป็นหลักการเดียวกับไอหมอกลอยบนน้ำอีกด้วย จริง ๆแล้วลักษณะแบบนี้ถ้าเกิดฝนตกหนักแปร๊บ ๆไม่เกิน 20 นาที หมอกแบบนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้หลังฝนตกเหมือนกัน
  • หมอกที่เกิดหลังฝนตก ในตอนที่ฝนกำลังตกพื้นดินได้รับความเย็นและความชื้นจากน้ำฝน เมื่อฝนตกเสร็จแล้วอากาศอุ่นชื้นหลังจากฝนตกมาปะทะกับอากาศเย็นใกล้พื้นดิน ทำให้ไอน้ำควบแน่นกลายเป็นหมอกได้เหมือนกัน(คล้ายกับหยดน้ำที่เกาะรอบ ๆแก้วน้ำเย็น คืออากาศอุ่นชื้นปะทะกับความเย็นของแก้วน้ำ) บางครั้งในช่วงเวลาเช้าบริเวณป่าดิบชื้นอาจจะมีการคายของต้นไม้ในป่าร่วมด้วย ทำให้ช่วงเช้าเวลาหลังฝนตก ไม่ว่าจะบนภูเขาหรือป่าดิบชื้นจะเกิดหมอกชนิดนี้ได้ไม่ยากเลย จากเท่าที่ผมสังเกตมาหมอกชนิดนี้แต่ละก้อนจะมีอายุแค่ 10-15 นาที แต่ว่าจะมีก้อนใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆไปได้นานถึง 1 ช.ม. หลังจากที่ฝนตกเลยทีเดียว
หมอกหลังฝนตก Rain Fog
หมอกหลังฝนตก ช่วงเย็น ๆ บ้านนาเลาใหม่ เชียงใหม่ รีวิวเพิ่มเติม >>> บ้านนาเลา เชียงใหม่
หมอกหลังฝนตก Rain Fog
หมอกหลังฝนตก ช่วงเช้า ๆ บนดอยม่อนแจ่ม เชียงใหม่ รีวิวเพิ่มเติม >>> ดอยม่อนแจ่ม เชียงใหม่
หมอกหลังฝนตก Rain Fog
หมอกหลังฝนตก ช่วงเช้า ๆ บ้านสะปัน บ่อเกลือ จ.น่าน รีวิวเพิ่มเติม >>> บ้านสะปัน น่าน
หมอกฝน
หมอกหลังฝนตก ที่มีแอ่งน้ำด้านล่างเป็นตัวช่วยเสริมความชื้น เขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี รีวิวเพิ่มเติม >>> เขื่อนเชี่ยวหลาน
หมอกฝน
หมอกขณะฝนตก บนทางหลวงหมายเลข 317 (จันทบุรี-สระแก้ว) ช่วงอำเภอมะขาม

หมอกลาดเนินเขา (Up slope Fog)

หมอกชนิดนี้คือหมอกที่เกิดบนยอดภูเขาสูงๆ หรือจะเรียกว่า “เมฆคลุมภูเขา” ก็ได้ ซึ่งเกิดจากอากาศอุ่นชื้นเบื้องล่างถูกลมพัดให้ลอยขึ้นมาตามลาดชันภูเขา ซึ่งอากาศอุ่นชื้นที่ลอยขึ้นมาจะเกิดการขยายตัว ทำให้อากาศมีอุณหภูมิลดลงแบบเอเดียบาติก(ตามกฎยิ่งสูงยิ่งหนาว) อากาศอุ่นชื้นที่ลอยตัวจะเย็นตัวลงจนไอน้ำควบแน่นกลายเป็นหมอก แล้วถ้าลมเบื้องบนแรงหมอกชนิดก็อาจทำให้เกิดหมวกเมฆคลุมภูเขาหรือหมอกไหลตามสันเขาได้ แต่หากลมด้านบนสงบบวกกับอากาศที่ไหลขึ้นอย่างต่อเนื่องหมอกประเภทนี้สามารถจะพัฒนากลายเป็นเมฆฝนได้ในที่สุด

หมอกบนสันเขา upslope fog
หมอกบนสันเขา บนยอดภูชี้ฟ้า จ.เชียงราย (ช่วงปลายฝนต้นหนาว) รีวิวเพิ่มเติม >>> ภูชี้ฟ้า เชียงราย
หมอกบนสันเขา upslope fog
หมอกบนสันเขา บริเวณเทือกเขาหลังวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว เขาค้อ เพรชบูรณ์

หมอกไอน้ำบนผิวน้ำ (Streaming Fog)

หมอกไอน้ำ(stream fog) เกิดจากอากาศเย็นจัดลอยไปบนผิวน้ำที่นิ่งและอุ่นกว่าอากาศ น้ำที่อุ่นจะมีการระเหย เมื่อไอน้ำไปกระทบอากาศเย็นจัดที่มีความสามารถอุ้มไอน้ำได้น้อยกว่ามาก น้ำที่ระเหยก็จะควบแน่นกลายเป็นหมอกไอน้ำทันที คล้ายกับการอาบน้ำอุ่นในห้องแอร์แล้วมีควันลอยเต็มห้องน้ำ ส่วนทำไมน้ำต้องนิ่งก็เพราะว่าน้ำที่นิ่งจะสะสมความร้อนจากดวงอาทิตย์ในตอนกลางวันได้ดีกว่าน้ำที่ไหลนั่นเอง สำหรับประเทศไทยแล้วหมอกชนิดนี้จะเจอได้ในวันที่ลมค่อนข้างสงบแล้วต้องเป็นวันที่อุณหภูมิอากาศต่ำมาก ๆ ประมาณ 16 องศาเซลเซียส และจะเกิดขึ้นเยอะมาก ๆ เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ดังนั้นหมอกชนิดนี้จะเกิดในช่วงฤดูหนาวทางภาคเหนือ โดยเฉพาะแถบแม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน แนะนำว่าถ้าอยากเห็นไอหมอกลอยบนน้ำสวยๆให้ไปปางอุ๋ง หรือไม่ก็บ้านรักไทย แล้วควรไปช่วงเดือนมกราคมนะครับ เพราะมีโอกาสเห็นเยอะมากที่สุด

หมอกไอน้ำ
ไอหมอกบนน้ำ ช่วงเช้ากลางฤดูหนาว บ้านรักไทย แม่ฮ่องสอน รีวิวเพิ่มเติม >>>บ้านรักไทย แม่ฮ่องสอน
ไอหมอกบนน้ำ ช่วงเช้ากลางฤดูหนาว หนองจองคำ แม่ฮ่องสอน

3.ไปดูทะเลหมอกภาคเหนือ ช่วงไหนไม่แป็ก

ทะเลหมอกโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นหมอกแบบแผ่รังสี (Radiation Fog) มักเกิดขึ้นตามบริเวณหุบเขาในคืนที่ท้องฟ้าแจ่มใสและลมสงบ ยิ่งด้านล่างหุบเขามีแอ่งน้ำหรือลำน้ำไหลผ่านด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นตัวช่วยทำให้เกิดทะเลหมอกได้ง่ายขึ้น เช่น ดอยเสมอดาวหรือจุดชมวิวทะเลหมอกเขาค้อ โดยทั่วไปแล้วทะเลหมอกทางภาคเหนือจะเกิดขึ้นได้ง่ายมากในช่วงปลายฝนต้นหนาวหรือประมาณกลางเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เนื่องจากช่วงนี้ความชื้นในฤดูฝนยังสะสมอยู่ พอมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมา ทำให้ภาคเหนือท้องฟ้าแจ่มใส พื้นดินจึงคายความร้อนออกสู่บรรยากาศได้ดี อากาศรอบ ๆพื้นดินจึงเย็นตัวลงพร้อมกับมีความเย็นจากจีนแผ่ลงมาช่วยเสริม ทำให้อากาศเย็นลงจนถึงจุดน้ำค้างได้ง่าย ดังนั้นไอน้ำในอากาศที่มีอยู่มากจากการสะสมในช่วงฤดูฝนจึงควบแน่นกลายเป็นหมอกได้สบาย ๆ แล้วด้วยลักษณะของหุบเขาจะมีภูเขาล้อมรอบซึ่งเป็นตัวกั้นช่วยไม่ให้ลมพัดหมอกนั้นฟุ้งกระจาย หมอกจึงสะสมๆไปเรื่อยจนมากพอกลายเป็นทะเลหมอกนั่นเอง นอกจากนี้บริเวณหุบเขายังสามารถเกิดปรากฏการณ์ “อุณหภูมิกลับชั้นด้วย” ก็คือบริเวณหุบเขาที่มีทะเลหมอกบางครั้งจะเย็นกว่าบริเวณยอดเขา ซึ่งถ้าเกิดอุณภูมิกลับชั้นด้วยแล้วทะเลหมอกจะถูกกักไม่ลอยกลายเป็นเมฆได้ ดังนั้นวันไหนที่เกิดอุณหภูมิกลับชั้นร่วมด้วย ทะเลหมอกสามารถอยู่ยาวได้ถึง 9-10 โมงเช้า เลยทีเดียว

ทะเลหมอก ภูชี้ฟ้า
ทะเลหมอกช่วงปลายฝนต้นหนาว บนยอดภูชี้ฟ้า จ.เชียงราย รีวิวเพิ่มเติม >>> ภูชี้ฟ้า เชียงราย
ทะเลหมอก บ้านจ่าโบ่
ทะเลหมอกช่วงปลายฝนต้นหนาว บ้านจ่าโบ่ จ.แม่ฮ่องสอน รีวิวเพิ่มเติม >>> บ้านจ่าโบ่ แม่ฮ่องสอน
ทะเลหมอก วัดพระธาตุเขาน้อย น่าน
ทะเลหมอกช่วงกลางฤดูหนาว บนวัดพระธาตุเขาน้อย จ.น่าน รีวิวเพิ่มเติม >>>วัดพระธาตุเขาน้อย น่าน

แต่ทีนี้หลายคนมักเข้าใจผิดว่าทะเลหมอกจะต้องเกิดในวันที่หนาวจัดเท่านั้น ยิ่งหนาวเท่าไหร่ยิ่งหมอกเยอะ นั่นเป็นความเชื่อที่อาจจะไม่ถูกสักเท่าไหร่  หลายคนไปดูทะเลหมอกในวันที่ลมหนาวลงมาจัด ๆแต่กลับไม่เจอทะเลหมอกใด ๆเลย เจอความหนาวของลมแทน คราวนี้ผมจะบอกหลักการเล็ก ๆ น้อย ๆ เผื่อว่าคราวหน้าใครจะวางแผนไปดูทะเลหมอกแล้วไม่อยากแป็ก ซึ่งผมพอมีข้อสังเกตประมาณนี้ครับ

  • เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่า ตั้งแต่วันที่ 1-3 ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาทำให้ตอนบนของประเทศไทยมีอากาศหนาวจัด แบบนี้บอกเลยว่าไม่ต้องไปดูทะเลหมอกที่ไหนไม่มีแน่นอน เพราะช่วงแรกที่ลมหนาวลงมามันจะเอาลมมาด้วยแบบนี้พัดทะเลหมอกกระจายหมด หรือถ้ามีก็ไม่เยอะ
  • แต่พอกรมอุตุฯบอกว่า ตั้งแต่วันที่ 4-6 ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะเริ่มอ่อนกำลังลง ตรงนี้แหละโอกาสเจอทะเลหมอกสูงมาก แม้ว่าอากาศอุ่นขึ้นก็จริง แต่ภายในหุบเขาอากาศเย็นยังถูกกักไว้อยู่ ซึ่งจะเกิด Warm Font ระหว่างอากาศร้อนชื้นกับอากาศเย็นในหุบเขา และที่สำคัญช่วงที่ลมหนาวอ่อนกำลังลง จะไม่มีลมหนาวมารบกวนการเกิดหมอกนั่นเอง

แต่วิธีนี้จะใช้ได้ดีช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม เพราะความชื้นสะสมในดินจากฤดูฝนยังมากอยู่โอกาสเกิดหมอกจึงเยอะกว่า ส่วนตั้งแต่กลางเดือนมกราคม-มีนาคม บางครั้งก็ไม่มีทะเลหมอกนะครับ ยิ่งเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปยิ่งแทบไม่มีเลย เพราะว่าความชื้นในดินเริ่มน้อยแล้ว ส่วนใครเดินทางมาถึงจุดชมทะเลหมอกแล้ว ก็มาดูวิธีการ confirm อีกครั้งว่าพรุ่งนี้หมอกจะเยอะไหม? ให้สังเกตดังนี้

  • ในช่วงเย็นหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง หรือราว ๆ 2-3 ทุ่ม ให้สังเกตดูว่าเกิดน้ำค้างเกาะตามเต็นท์หรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าอากาศเย็นและมีความชื้นสูง แล้วยิ่งท้องฟ้าตอนกลางคืนแจ่มใสไร้เมฆด้วยแล้ว บอกเลยว่าพรุ่งนี้เช้ามีโอกาสเกิดทะเลหมอกแน่นอน แต่ถ้าคืนไหนมีเมฆเยอะพรุ่งนี้เช้าจะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เห็นทะเลหมอก เนื่องจากเมฆทำให้พื้นดินคายความร้อนออกสู่บรรยากาศชั้นบนได้น้อย และตัวของเมฆเองยังคายความร้อนออกมายังสภาพแวดล้อมอีกด้วย ทำให้อากาศบริเวณภาคพื้นดินจะเย็นลงน้อยมาก ดังนั้นโอกาสเกิดทะเลหมอกจึงน้อยตามไปด้วย
  • ลมก็เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ทะเลหมอกไม่มีได้ พูดง่าย ๆเลยว่าถ้าคืนไหนบนดอยมีลมแรง โอกาสที่จะเกิดทะเลหมอกด้านล่างหุบเขาก็มีน้อยมากเช่นกัน หรือต่อให้มีทะเลหมอกก็มีเพียงนิดเดียว เพราะลมบนดอยยิ่งแรงเท่าไหร่ โอกาสที่ลมจะไปรบกวนทะเลหมอกด้านล่างหุบเขาก็ยิ่งมีมากขึ้น ส่วนถ้าบนดอยมีลมเบา ๆ ถึงปานกลาง แบบนี้พอมีทะเลหมอกตามหุบเขาได้ เพราะลมจะรบกวนหมอกด้านล่างไม่มาก
ทะเลหมอก ดอยเสมอดาว น่าน
ทะเลหมอกบนดอยเสมอดาว น่าน ช่วงปลายฝนต้นหนาว
ทะเลหมอกบนดอยเสมอดาว น่าน ช่วงกลางฤดูหนาว(ปีใหม่)

4.หมอกไอน้ำกับหมอกแดด สดชื่นเหมือนกันมั้ย

เรารู้กันแล้วว่า “หมอกไอน้ำเกิดจากอากาศที่เย็นจนถึงอุณหภูมิจุดน้ำค้างหรือความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 85 %  ทำให้ไอน้ำในอากาศจะควบแน่นกลายเป็นหมอกนั่นเอง” แต่คราวนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าบางทีอากาศก็ร้อนโคตร ๆ แถมความชื้นก็น้อย แล้วทำไมมีหมอกบาง ๆ ฟ้าขาว ๆบนท้องฟ้าได้ และบางครั้งทัศนวิสัยลดลงได้ต่ำกว่า 2 กิโลเมตร อันที่จริงแล้วหมอกที่เกิดลักษณะนี้เราเรียกว่า “หมอกแดดหรือฟ้าหลัว(Haze)” นั่นเอง หมอกแดดจะเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิกลับชั้นหรืออากาศจมตัว ทำให้ฝุ่นละอองไม่ว่าจะเป็น PM2.5 PM10 หรือไอเกลือทะเล ไม่สามารถลอยไปไหนได้จึงสะสมอยู่ในบรรยากาศชั้นล่างนั่นเอง

ทะเลหมอก กิ่วแม่ปาน
ทะเลหมอกด้านล่าง และมีชั้นหมอกแดดปกคลุมเล็กน้อย มุมมองจากยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ รีวิวเพิ่มเติม >>> กิ่วแม่ปาน ดอยอินทนนท์

หมอกแดด นอกจากจะส่งผลต่อทัศนวิสัยและสุขภาพแล้วยังส่งผลกับนักถ่ายภาพด้วย เพราะว่าวันไหนที่เกิดหมอกแดดเราจะเห็นท้องฟ้าเป็นฝ้าสีขาว ๆท้องฟ้าไม่เป็นสีฟ้า แสงเช้าและเย็นสีจะออกส้มตุ่น ๆ ทำให้การเก็บ detail ของภาพทำได้ยาก เนื่องจากแสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่เพียงพอ และทัศนวิสัยลาง ๆ ยังทำให้ภาพถ่ายไม่เกิดความ contrast ที่ชัดเจนอีกด้วย จริง ๆแล้วหมอกแดดมันก็มีฤดูการเกิดของมันนะครับ อย่างในประเทศไทยส่วนใหญ่หมอกแดดจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งผมจะแบ่งออกเป็นรายภาคดังนี้

  • ภาคเหนือ หมอกแดดจะเริ่มปรากฏจาง ๆ ช่วงปลายเดือนมกราคม และจะหนามากที่สุดคือเดือนมีนาคม(หมอกควันร่วมด้วย) และจะสิ้นสุดฟ้าหลัวประมาณปลายเดือนเมษายน
  • ภาคอีสาน หมอกแดดจะเริ่มปรากฏจาง ๆ ช่วงเดือนธันวาคม และจะหนามากที่สุดคือเดือนกุมภาพันธ์(หมอกควันร่วมด้วย) และจะสิ้นสุดฟ้าหลัวประมาณกลางเดือนเมษายน
  • ภาคกลางและตะวันออก หมอกแดดจะเริ่มปรากฏจาง ๆ ช่วงกลางเดือนตุลาคม และจะหนามากที่สุดคือเดือนมกราคม และจะสิ้นสุดฟ้าหลัวประมาณกลางเดือนมีนาคม
  • ภาคใต้ เป็นภาคที่โชคดีนิดนึงในเรื่องฟ้าหลัวที่ไม่ค่อยเกิดจนมีนัยสำคัญเท่าไหร่ เนื่องจากภาคใต้มีลมทะเลช่วยพัดสองฝั่ง ทำให้อากาศเกิดยกตัวได้ง่าย โอกาสเกิดอุณหภูมิกลับชั้นมีน้อยมาก แถมลมทะเลยังเป็นตัวช่วยพัดฝุ่นละอองอีกด้วย
หมอกแดด Haze
หมอกแดด หมอกควัน ปกคลุมเหนือท้องฟ้าในช่วงปลายหน้าหนาวต้นร้อน อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง รีวิวเพิ่มเติม >>> วัดเฉลิมพระเกียรติ ลำปาง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมอุตุนิยมวิทยาไทย

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์