ช่วงเวลาแสงทอง ชั่วโมงทองคำ Golden Hour Golden Time

ช่วงเวลาแสงทอง(Golden Hour)

Highlight

  • ช่วงเวลาแสงทอง (Golden hour) ถือเป็นสิ่งที่ช่างภาพสาย Landscape วิ่งเข้าหามากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ถ่ายรูปออกมาสวยที่สุด ทั้งนี้ความสวยก็ขึ้นกับสภาพอากาศ หมอก ฝุ่นละอองในอากาศ ณ เวลานั้นด้วย
  • ช่วงเวลาแสงทอง ก็คือช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ทำมุมไม่เกิน 13 องศา กับขอบฟ้า หรือ 65 นาที ก่อนพระอาทิตย์ตกหรือหลังพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงแรกแสงมีลักษณะส้มอมแดง ช่วงสองแสงจะออกเหลืองอมส้ม ช่วงสามแสงจะออกเหลือง ๆ และช่วงสี่แสงจะออกเหลืองจาง ๆ

1. มารู้จักกับช่วงเวลาของแสง(Golden hour)ที่นักถ่ายภาพไม่ควรพลาด

ผมเชื่อว่าใครหลายคนที่เริ่มสนใจในการถ่ายภาพแลนด์สเคป(Landscape) ก็คงพอเคยได้ยินกันบ้างแล้วว่าธรรมชาติมีช่วงเวลาที่สวยที่สุดของวันจะอยู่ตรง ช่วงเวลาแสงทอง (Golden hour) หรือบางคนเรียกว่า “ชั่วโมงทองคำ” นั่นเอง แล้วอะไรคือชั่วโมงทองคำ? ในทางดาราศาสตร์แล้วก็คือช่วงที่พระอาทิตย์ทำมุมกับขอบฟ้าไม่เกิน 13 องศา หรือพูดง่าย ๆสำหรับเมืองไทยแล้วก็ประมาณ 65 นาทีหลังพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าหรือก่อนพระอาทิตย์ตกดินในตอนเย็น หากลองสังเกตกันจริง ๆแล้วจะเห็นได้เลยว่าภาพ Landscape สวย ๆ  ส่วนใหญ่มักจะถ่ายกันช่วงเวลาแสงทองกันทั้งนั้น แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็เพราะภาพถ่ายแนว Landscape จำเป็นต้องพึ่งพาแสงจากธรรมชาติมากที่สุด แล้วช่วงแสงทองนี้เองก็เป็นช่วงเวลาของธรรมชาติที่มีแสงสวยงามตระการตาและได้อารมณ์มากที่สุด แน่นอนว่าทีเด็ดของการถ่าย Landscape ก็อยู่ที่ช่วงเวลาแสงทองนี่แหละครับ ทั้งนี้ช่วงเวลาแสงทองจะสวยหรือไม่สวยก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและฤดูกาลด้วย อย่างในสภาวะอากาศที่มีหมอกแดดหรือฝุ่นละอองในอากาศเยอะ แสงทองที่ได้จะมีลักษณะตุ่น ๆไม่ใสและท้องฟ้าจะออกไปทางโทนเฉดสีแดงอมชมพู แต่ในสภาวะอากาศแจ่มใสไร้ฝุ่นละอองแสงทองจะมีลักษณะส้มอมเหลือง ส่วนแบบไหนสวยกว่ากันก็แล้วแต่คนชอบครับ ฮ่า ๆ

ผมแนะนำว่าถ้าใครอยากเก็บภาพ Landscape ในสถานที่นั้น ๆได้สวยงาม ควรไปถึงสถานที่จริงก่อนช่วงเวลาแสงทองประมาณ 30-40 นาที เพื่อจะได้หามุมถ่ายภาพที่ดีที่สุด พอถึงช่วงเวลาแสงทองจริง ๆจะได้ไม่พลาดมุมเด็ด ๆของสถานที่นั้น ๆ เพราะต้องอย่าลืมว่าช่วงเวลาแสงทองจะกินระยะ 65 นาที แต่ช่วงที่มีความสวยงามจริง ๆจะมีเพียงแค่ 40 นาที เท่านั้น ดังนั้นต้องรีบ ๆ หน่อยนะครับ เพราะทุก ๆ 10 นาที แสงจะเปลี่ยนเฉดเรื่อย ๆ อารมณ์ของภาพที่ได้ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย ส่วนใครชอบอารมณ์แบบไหนก็เอาตามความชอบของแต่ละคนเลย แต่ถ้าให้ผมแนะนำก็เก็บมันทุกช่วงเวลาของแสงทองนั่นแหละครับ แล้วค่อยมาคัดแยกรูปเอาทีหลัง

2. ช่วงเวลาแสงทอง(Golden hour)มีกี่ช่วง แล้วแต่ละช่วงสวยต่างกันอย่างไร

ถึงแม้ว่าแสงทองจะปรากฎให้เราได้นานถึง 65 นาที หลังพระอาทิตย์ขึ้น/ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน แต่เท่าที่ผมสังเกตแล้วช่วงเวลาของแสงทองก็ยังสามารถแบ่งออกเป็น 4 ช่วง(Stage) ซึ่งแต่ละช่วงก็มีความสวยงามที่แตกต่างกัน ส่วนแตกต่างกันอย่างไรนั้น ผมขอแบ่งตามด้านล่างนี้เลย

  • ช่วงแรก(Stage 1) ผมเรียกช่วงนี้ว่า “ช่วงทองแดง” คือช่วงที่พระอาทิตย์ ทำมุม 0-2 องศา จากขอบฟ้า หรือประมาณ 0-10 นาที ก่อน/หลัง พระอาทิตย์ตก/ขึ้น ช่วงนี้สังเกตง่าย ๆ เลย ตรงขอบฟ้าหรือแสงที่สะท้อนกับเมฆจะออกโทนสีแดงอมส้ม
  • ช่วงสอง(Stage 2) ผมเรียกช่วงนี้ว่า “ช่วงทองแท้” คือช่วงที่พระอาทิตย์ ทำมุม 2-5 องศา จากขอบฟ้า หรือประมาณ 10-25 นาที ก่อน/หลัง พระอาทิตย์ตก/ขึ้น ช่วงนี้สังเกตง่าย ๆ เลย แสงอาทิตย์จะออกสีเหลืองอมส้ม และเป็นช่วงที่แสงมีความทองมากที่สุดอีกด้วย
  • ช่วงสาม(Stage 3) ผมเรียกช่วงนี้ว่า “ช่วงทองเหลือง” คือช่วงที่พระอาทิตย์ ทำมุม 5-8 องศา จากขอบฟ้า หรือประมาณ 25-40 นาที ก่อน/หลัง พระอาทิตย์ตก/ขึ้น ช่วงนี้สังเกตง่าย ๆ เลย แสงอาทิตย์จะออกโซนสีเหลืองเลย ท้องฟ้าเริ่มเป็นสีฟ้าบ้างแล้ว บางครั้งถ้าแสงสะท้อนกับหมอก อาจทำให้หมอกอมส้มได้บ้าง
  • ช่วงสี(Stage 4) ผมเรียกช่วงนี้ว่า “ช่วงทองเก๊” ก็คือช่วงที่พระอาทิตย์ ทำมุม 8-13 องศา จากขอบฟ้า หรือประมาณ 40-65 นาที ก่อน/หลัง พระอาทิตย์ตก/ขึ้น ช่วงนี้สังเกตง่าย ๆ เลย ความเหลืองแทบจะจางหมดแล้ว ความฟ้าของท้องฟ้าจะเริ่มเข้ามาแทนที่ ทำให้ภาพที่ถ่ายช่วงนี้จะดูออกเป็นโทนสีเหลืองอ่อนนุ่ม ไม่ร้อนแรงเท่ากับ 3 ช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้าถ่ายมุมตรงข้ามกับพระอาทิตย์จะยังออกเหลืองส้มอยู่นะครับ

ส่วนช่วงไหนสวยที่สุดนั้นผมคงตอบให้ไม่ได้ เพราะแต่ละช่วงก็มีเสน่ห์สวยงามเฉพาะตัว อยู่ที่ว่าใครอยากได้ภาพอารมณ์แบบไหน แต่ถ้าสำหรับผมแล้วผมชอบช่วง stage 2 – 3 มากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่แสงทองเป็นสีทองจริง ๆ และช่วงที่สามเป็นช่วงที่เราสามารถถ่ายแสงทองที่อ่อนลงมานิดหน่อย พร้อมกับเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้ามากขึ้นทำให้ภาพไม่ออกไปทางโทนส้มเกินไป คราวนี้มาดูรูปภาพกันเลยว่าแต่ละช่วงนี่มีความแตกต่างกันอย่างไร ใครชอบแบบไหนก็รอจ้องจังหวะนั้นให้ดี ๆละกันเพราะแต่ละ stage จะห่างกันเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น

ช่วงเวลาแสงทอง ดอยเสมอดาว
ดอยเสมอดาว ช่วงปลายฝนต้นหนาว : แสงทอง Stage 1: ทำมุม 0.60 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 4 นาที
ช่วงเวลาแสงทอง ดอยเสมอดาว
ดอยเสมอดาว ช่วงปลายฝนต้นหนาว : แสงทอง Stage 2: ทำมุม 2.04 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 11 นาที
แสงทอง Golden hour ดอยเสมอดาว
ดอยเสมอดาว ช่วงปลายฝนต้นหนาว : แสงทอง Stage 2: ทำมุม 3.31 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 17 นาที
Golden hour ดอยเสมอดาว น่าน
ดอยเสมอดาว ช่วงปลายฝนต้นหนาว : แสงทอง Stage 3: ทำมุม 5.40 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 26 นาที
แสงทอง Golden time ดอยเสมอดาว น่าน
ดอยเสมอดาว ช่วงปลายฝนต้นหนาว : แสงทอง Stage 3: ทำมุม 5.40 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 26 นาที
ชั่วโมงทองคำ ดอยเสมอดาว น่าน
ดอยเสมอดาว ช่วงปลายฝนต้นหนาว : แสงทอง Stage 4: ทำมุม 8.52 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 40 นาที
ช่วงเวลาแสงทอง เขาค้อ
เขาค้อ ช่วงฤดูฝน : แสงทอง Stage 1 : ทำมุม 0.21 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 2 นาที
ชั่วโมงแสงทอง เขาค้อ
เขาค้อ ช่วงฤดูฝน : แสงทอง Stage 2: ทำมุม 3.69 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 18 นาที
ชั่วโมงทองคำ เขาค้อ ทะเลหมอก
เขาค้อ ช่วงฤดูฝน : แสงทอง Stage 3: ทำมุม 5.77 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 26 นาที
แสงทอง Golden hour วัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว
เขาค้อ ช่วงฤดูฝน : แสงทอง Stage 4: ทำมุม 10.48 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 49 นาที
แสงทอง กว๊านพะเยา
กว๊านพะเยา ช่วงฤดูหนาว : แสงทอง Stage 4: ทำมุม 13.39 องศากับขอบฟ้า : ก่อนพระอาทิตย์ตก 66 นาที
ชั่วโมงทองคำ แสงทอง กว๊านพะเยา
กว๊านพะเยา ช่วงฤดูหนาว : แสงทอง Stage 2: ทำมุม 4.21 องศากับขอบฟ้า : ก่อนพระอาทิตย์ตก 21 นาที

ต้องบอกก่อนว่า การแบ่ง stage ของช่วงเวลาแสงทองนี้เกิดจากการสังเกตของผมล้วน ๆ พอดีผมมีโอกาสได้ไปถ่ายรูปในสถานที่ต่าง ๆแล้วนำรูปภาพที่ถ่ายมาเปรียบเทียบกับมุมและเวลาตามแบบจำลองพระอาทิตย์/ตก ทีหลังนะครับ อันที่จริงแล้วเรื่องของแสงทองในเมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครเขียนละเอียดอย่างจริงจังสักเท่าไหร่ ส่วนในต่างประเทศก็พอมีเขียนอยู่บ้าง แต่เขาจะแบ่งช่วงเวลาแสงทองเพียงแค่ว่าพระอาทิตย์ทำมุมกับขอบฟ้าน้อยกว่า 6 องศา เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วจากประสบการณ์ของผมแล้วช่วงที่เกิน 6 องศา ก็มีความสวยงามไม่แพ้กัน อย่างเช่นหากเราถ่ายทิศตรงข้ามกับแสงอาทิตย์เราสามารถใช้ประโยชน์จากแสงทองได้ถึงพระอาทิตย์ทำมุม 13 องศากับขอบฟ้า หรือประมาณ 65 นาที หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น/ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน เลยทีเดียว อย่างรูปด้านล่างนี้เป็นต้น

มีหลายคนถามผมว่าในต่างประเทศแถบละติจูดสูงจะมีช่วงเวลาแสงทองเหมือนกับไทยมั้ย? ต้องตอบเลยว่าไม่เหมือนกันแน่นอน เพราะช่วงเวลาแสงทองขึ้นอยู่กับการทำมุมของดวงอาทิตย์ ในละติจูดสูง ๆ อย่างประเทศไอซ์แลนด์ในช่วงฤดูหนาวจะมีช่วงเวลาแสงทองถึง 4 ช.ม. เลย เพราะพระอาทิตย์ที่นั่นจะขึ้นเพียงแค่ 4 ช.ม. เท่านั้น และจะทำมุมกับขอบฟ้าสูงสุดตอนเที่ยงวันประมาณ 1-2 องศา ในขณะที่ฤดูร้อนก็จะมีช่วงเวลาแสงทอง 4 ช.ม. หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น/ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน รวมเป็น 8 ช.ม. ต่อวันเลยทีเดียว แต่แสงทองในช่วงฤดูร้อนอาจจะต้องนอนกันดึกหรือตื่นเช้ากันหน่อยนะครับ เพราะพระอาทิตย์จะขึ้นประมาณตี 2 และตก 5 ทุ่ม ดังนั้นผมขอย้ำนะครับตัวเลข 65 นาที ที่กล่าวบ่อย ๆในบทความนี้ใช้ได้เฉพาะกับเมืองไทยหรือละติจูดใกล้เคียงกับไทยเท่านั้น เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า มาเลเซีย สิงค์โปร อินโดฯ ฮ่องกง ศรีลังกา อินเดียตอนใต้ แอฟริกาตอนกลาง แถบอเมริกันกลาง(ปานามา โคลอมเบีย) ตอนเหนือออสเตรเลีย

3. มาดูกันว่าแสงทองแต่ละ stage ของสถานที่ต่าง ๆกันบ้าง

Stage 1

แสงงทอง ชัวโมงทองคำ ห้วยน้ำดัง
ห้วยน้ำดัง ช่วงฤดูหนาว : ทำมุม 0.65 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 5 นาที
ช่วงเวลาแสงทอง ดอยภูคา  ช่วงฤดูหนาว
ดอยภูคา ช่วงฤดูหนาว : ทำมุม 0.70 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 7 นาที

Stage 2

ห้วยน้ำดัง ช่วงฤดูหนาว : ทำมุม 2.83 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 16 นาที
ช่วงเวลาทองคำ ขุนสถาน ช่วงฤดูฝน
ขุนสถาน ช่วงฤดูฝน : ทำมุม 3.95 องศากับขอบฟ้า : ก่อนพระอาทิตย์ตก 18 นาที
เขื่อนเชี่ยวหลาน ช่วงฤดูฝน แสงเย็น
เขื่อนเชี่ยวหลาน ช่วงฤดูฝน : ทำมุม 4.09 องศากับขอบฟ้า : ก่อนพระอาทิตย์ตก 19 นาที

Stage 3

บ้านรักไทย ช่วงฤดูหนาว : ทำมุม 4.92 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 26 นาที
เชียงกลาง ปลายฝนต้นหนาว : ทำมุม 7.21 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 35 นาที

Stage 4

บ้านรักไทย ช่วงฤดูหนาว : ทำมุม 8.50 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 43 นาที
เชียงกลาง ปลายฝนต้นหนาว : ทำมุม 10.26 องศากับขอบฟ้า : หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น 49 นาที

บทความเกี่ยวกับการถ่ายรูปเพิ่มเติม

 

สถานที่ท่องเที่ยวเก็บแสงทองสวย ๆ แนะนำ

 

หากสงสัยหรือสอบถามข้อมูลแอดมินเพิ่มเติมเข้าไปที่ Fan Page : TheSunsight ได้นะค้าบบบ ถ้าแอดว่างจะรีบมาตอบให้เร็วที่สุด