ล่าทางช้างเผือก

ล่าทางช้างเผือก

Highlight

  • ฤดูล่าทางช้างเผือกของไทยจะเริ่มต้นปลายกุมภาพันธ์-ปลายพฤศจิกายน ดังนั้นช่วงเดือนธันวามคม-กลางกุมภาพันธ์ ไม่ต้องไปหาทางช้างเผือกที่ไหนนะครับ มันไม่มี จะมีแต่หางช้างเท่านั้น ซึ่งทางช้างเผือกจะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้แล้วลับขอบฟ้าในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
  • สำหรับผมแล้วช่วงเวลาที่มือใหม่เหมาะกับมาล่าช้างที่ดีที่สุด คือช่วงเดือนตุลาคม-กลางพฤศจิกายน เพราะเป็นช่วงที่ช้างสามารถถ่ายได้หลังแสงสนธยาตอนเย็นหมดลง ไม่ต้องนอนดึกมาก แถมช่วงนี้ฝนจะตกเพียงช่วงบ่าย-เย็น เท่านั้น โอกาสเจอท้องฟ้าโปร่งช่วงหัวค่ำมีสูง แต่ถ้าต้องการล่าช้างพร้อมแสงเช้าหรือแบบขนานท้องฟ้า ควรไปช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
  • เทคนิคการถ่ายช้างเหมือนกับถ่ายดาวทั่วไป โดยส่วนใหญ่ผมจะตั้งค่าประมาณนี้ Speed Shutter 8-15s , f1.8-4.0 , iso 1600 – 6400 เพิ่มลด iso ตามความมืดสว่างของท้องฟ้า ถ้าท้องฟ้ามลภาวะทางแสงสูงให้ใช้ iso 1600 ก็พอ ส่วนสถานที่เหมาะกับการฝึกล่าช้างมากที่สุด ได้แก่ ดอยเสมอดาว ภูชี้ฟ้า ปางอุ๋ง บ้านสะปัน บ้านนาเลาใหม่ เพราะท้องฟ้าค่อนข้างมืด และมีลานโล่ง ๆ ทำให้สังเกตเห็นดาวได้ง่าย

1. อยากล่าทางช้างเผือก ต้องไปช่วงไหนไม่พลาด

หลายคนที่เริ่มต้นถ่ายดาวเป็นแล้วก็อยากจะหาอะไรถ่ายให้มันดูสวยๆบนท้องฟ้ามากกว่าแค่ดาวระยิบระยับ แน่นอนว่าทางช้างเผือกเป็นหนึ่งในวัตถุบนท้องฟ้าขนาดใหญ่ที่สามารถเห็นได้อย่างง่ายดายในสถานที่มืด ๆ และนับเป็นวัตถุอวกาศที่สามารถถ่ายรูปแล้วไปอวดเพื่อนได้ง่ายมากที่สุด แม้ว่าทางช้างเผือกจะเป็นวัตถุอวกาศที่ถ่ายได้ง่ายที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ออกไปล่าดาวแล้วจะเห็นกันได้ตลอดนะครับ เพราะทางช้างเผือกในเมืองไทยส่วนใหญ่จะขึ้นตลอดทั้งคืนได้แค่ในช่วงหน้าฝนเท่านั้นนะครับ แน่นอนว่าช่วงหน้าฝนส่วนใหญ่ท้องฟ้าจะมีเมฆปกคลุมเกือบตลอดเวลา หรือบางทีท้องฟ้าเปิดก็เจอแสงจันทร์รบกวนอีก ทำให้หลายคนเลือกที่จะไปดูดาวกันช่วงหน้าหนาวแทน แล้วประเด็นคือหน้าหนาวของไทยส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีทางช้างเผือกนะครับ มันจะมีแค่หางช้างบาง ๆเท่านั้น ซึ่งเพื่อนผมมักบ่นให้ฟังว่าไปล่าทางช้างเผือกที่ดอยเสมอดาวช่วงปีใหม่ ไม่เห็นเจอทางช้างเผือกเลย ก็แหม่ต้องบอกตรง ๆ เลยว่าช่วงปีใหม่เป็นช่วงที่ทางช้างเผือกในไทยจางที่สุดในรอบปีเลย ดังนั้นใครที่จะล่าช้างช่วงปีใหม่ ขอบอกเลยนะครับว่า “ไม่มีแน่นอน” แนะนำว่าให้ไปล่าน้องแอนโดรมา เนบิวลา แทนดีกว่า

ทางช้างเผือก ดอยเสมอดาว
ทางช้างเผือก ดอยเสมอดาว จ.น่าน : iso 6400 f3.5 Speed shutter 15 s x 8 ใบ รีวิวดอยเสมอดาวเพิ่มเติม >>> ดอยเสมอดาว
ทางช้างเผือก บ้านนาเลาใหม่
ทางช้างเผือก บ้านนาเลา จ.เชียงใหม่ iso 6400 f3.5 Speed shutter 20 s x 8 ใบ รีวิวบ้านนาเลาเพิ่มเติม >>> บ้านนาเลา เชียงใหม่

โดยทั่วไปแล้วทางช้างเผือกในเมืองไทยจะขึ้นในทิศตะวันออกเฉียงใต้หรือประมาณ 114 -118 องศาเหนือ(AZ=114-118 องศา) และจะตกในทิศตะวันตกเฉียงใต้หรือประมาณ 245 องศาเหนือ(AZ=245 องศา) ซึ่งจะปรากฎมีอยู่ 4 ลักษณะตามนี้

  • แบบขนานกับขอบท้องฟ้า ซึ่งจะปรากฏอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่ทางช้างเผือกเริ่มขึ้น 1 ชั่วโมง
  • แบบโค้งคันธนู ซึ่งจะปรากฏอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และจะค่อนไปทางทิศใต้ หลังจากที่ทางช้างเผือกนานกับท้องฟ้า 2:30 ชั่วโมง
  • แบบตั้งฉาก(ตั้งโด่เด่) ซึ่งจะปรากฏอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือหลังจากที่ทางช้างเผือกโค้งคันธนู 3 ชั่วโมง
  • แบบเฉียงตก ซึ่งจะปราจะปรากฏอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือหลังจากที่ทางช้างเผือกตั้งฉาก 4 – 5 ชั่วโมง
รูปแบบทางช้างเผือก
รูปแบบทางช้างเผือกต่าง ๆ ในไทย

ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาหรือฤดูกาลก็จะปรากฏรูปแบบแตกต่างกันไป อย่างในช่วงฤดูฝนก็จะเห็นได้ทั้ง 4 รูปแบบ ได้ภายในคืนเดียว หรืออย่างช่วงปลายฝนต้นหนาวจะเห็นเพียงแค่ตั้งฉากกับเฉียงตกเท่านั้น ซึ่งผมสรุปแต่ละช่วงเวลาของทางช้างเผือกในเมืองไทยไว้ประมาณนี้ครับ

มีนาคม – พฤษภาคม ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลล่าทางช้าง ซึ่งใครมาล่าช้างช่วงนี้อาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะต้องตื่นเช้ามาก ๆ เนื่องจากน้องช้างจะเริ่มขึ้นประมาณตี 2 – 3 เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้วจะเริ่มขนานกับท้องฟ้าหลังจากขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมง(ตี4-5) และจะสิ้นสุดเป็นรูปแบบโค้งคันธนูก่อนที่แสงสนธยาจะเริ่มสว่างตอนเช้า ดังนั้นใครจะเก็บทางช้างเผือกพร้อมแสงเช้าต้องมาช่วงนี้เท่านั้น โดยเฉพาะช่วงต้น ๆ เดือนมีนาคม และช่วงนี้เป็นช่วงฤดูแล้งของไทยด้วย แทบไม่ต้องกังวลเรื่องของเมฆฝนเลย แต่อาจกังวลเรื่องหมอกควันนิดหน่อย

มิถุนายน – สิงหาคม เป็นช่วงที่ทางช้างเผือกปรากฏได้ตลอดทั้งคืน เรียกได้ว่าเป็นช่วงมาราธอนของการล่าช้างเลยทีเดียว ในช่วงนี้มีช้างทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะขนานกับท้องฟ้า แบบคันธนู แบบตั้งฉาก หรือแบบเฉียงตก ก็สามารถเก็บได้หมดทุกรูปแบบในหนึ่งคืน สำหรับคนนอนไม่ดึกจะได้แบบขนานกับคันธนู แต่ถ้าใครนอนดึก ๆหรือไม่นอน ก็จะได้แบบตั้งฉากกับเฉียงตก ใครไปล่าช้างตอนนี้แนะนำให้นอนกลางวันเก็บแรงไว้ถ่ายช้างตอนกลางคืนจะดีที่สุด แต่ช่วงนี้เสียอย่างเดียวคือเป็นช่วงฤดูฝนของไทย จำเป็นต้องวางแผนติดตามพยากรณ์อากาศให้ดี ในช่วงที่มรสุมเข้าอาจเจอเมฆปิดได้ตลอดทั้งคืน ซึ่งต่อให้ฝนไม่ตกก็มีเมฆชั้นสูงปกคลุมได้อยู่ดี จะล่าช้างช่วงนี้ถ้าไม่ดูพยากรณ์อากาศก็ต้องพึ่งดวงล้วน ๆ

กันยายน – พฤศจิกายน เป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการล่าช้าง อันที่จริงผมชอบช่วงนี้มาก เพราะช่วงนี้สามารถล่าช้างได้ตั้งแต่หลังแสงสนธยาตอนเย็นหมดลง เราไม่ต้องนอนดึกมาก แถมตอนเช้ามีแรงตื่นไปเก็บแสงเช้าพร้อมทะเลหมอกได้อีกด้วย และที่สำคัญคือช่วงนี้เป็นปลายฝนต้นหนาว ฝนจะไม่ค่อยตกตอนกลางคืน จะตกเพียง 1-2 ชั่วโมง ตั้งแต่บ่ายถึงเย็นเท่านั้น และเป็นช่วงสวยพีคของธรรมชาติทางภาคเหนืออีกด้วย เรียกได้ว่าถ้ามาช่วงนี้ได้ทั้งทางช้างเผือกบวกทะเลหมอกกันเลยทีเดียว

ทางช้างเผือก บ้านสะปัน น่าน
ทางช้างเผือก บ้านสะปัน จ.น่าน : iso 6400 f3.5 Speed shutter 15 s x 6 ใบ รีวิวบ้านสะปันเพิ่มเติม >>> บ้านสะปัน
ทางช้างเผือก ปางอุ๋ง แม่ฮ่องสอน
ทางช้างเผือก ปางอุ๋ง จ.แม่ฮ่องสอน iso 6400 f3.5 Speed shutter 15 s x 8 ใบ รีวิวปางอุ๋งเพิ่มเติม >>> ปางอุ๋ง แม่ฮ่องสอน

2. ตารางถ่ายทางช้างเผือก ปี พ.ศ. 2567 / ค.ศ 2024 โหลดเก็บเอาไว้ไม่แป็กแน่นอน

แน่นอนว่าสิ่งสำคัญของการล่าช้างเลย คือการวางแผนว่าแต่ละวันทางช้างเผือกขึ้น-ตกตอนไหน? แล้วขึ้นมุมไหนเวลาอะไร? หรือแม้กระทั่งวันนั้นมีดวงจันทร์มารบกวนมากหรือไม่? เพื่อไม่ให้พลาดและเสียเที่ยวผมได้ทำตารางทางช้างเผือกไว้ตามนี้(แนะนำให้ดาวโหลดเก็บไว้เลย)

ตารางทางช้างเผือก พ.ศ. 2567 หรือ ค.ศ. 2024
ตารางทางช้างเผือก 2567 / 2024

จากตารางจะเห็นได้ว่าเมืองไทยจะเริ่มฤดูกาลล่าช้างตั้งแต่ปลายมกราคม -ไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ส่วนในเดือนธันวาคม-กลางมกราคม ที่คนนิยมไปกางเต็นท์รับลมหนาวจะไม่เห็นใจกลางทางช้างเผือก จะเห็นเพียงหางช้างบาง ๆเท่านั้น ใครไปช่วงนี้ผมแนะนำว่าให้เก็บดาวบนท้องฟ้าหรือวัตถุบนอวกาศที่น่าสนใจกันไปก่อน เช่น พวกแอนโดรเมดรา หรือ เนบิวลานายพราน ช่วงนี้จะเห็นได้ง่าย ส่วนใครงงว่าตารางนี้ดูยังไง? ผมอธิบายเพิ่มเติมตามนี้เลย

  • Start = คือเวลาที่สามารถเริ่มสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ เช่นวันที่ 21 มิถุนายน ทางช้างเผือกจะเริ่มสังเกตเห็นได้เวลาประมาณ 19:30 ในทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ (AZ=118 องศา) โดยมีมุมเงย 10 องศา หรือสูงจากขอบฟ้า 1 กำมือ
  • End = คือเวลาที่ไม่สามารถเริ่มสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ เช่นวันที่ 21 มิถุนายน ทางช้างเผือกจะเริ่มไม่เห็นตั้งแต่เวลาประมาณ 04:45 ในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ (AZ=240 องศา) โดยมีมุมเงย 12 องศา หรือสูงจากขอบฟ้า 1 กำมือ กับ 2 นิ้วก้อย (อันที่จริงมันยังไม่ตกนะแต่ว่าท้องฟ้ามันสว่างก่อน)
  • AZ = มุมอาซีมุท คือมุมทิศ โดยอ้างอิงจากทิศเหนือ 0 องศา ทิศตะวันออก 90 องศา ทิศใต้ 180 องศา ทิศตะวันตก 270 องศา (หน่วยเป็นองศาเหนือ เช่น ทิศใต้คือ 180 องศาเหนือ)
  • ALT = มุมอัลติจูด หรือมุมเงย ถ้ามุมเงย 90 องศา ก็คือเหนือหัวศีรษะเรานั่นเอง
  • ALT > 60 องศา = ทางช้างเผือกส่วนใหญ่ทำมุมเกิน 60 องศา ก็คือจะมีลักษณะเป็นแบบคันธนู ตั้งฉาก เฉียงตก ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายเพียงแค่เราหันกล้องไปยังทิศใต้ยังไงก็ถ่ายติดทางช้างเผือกแน่นอน ผมจึงใช้เป็นค่าอ้างอิงสำหรับมือใหม่หัดถ่าย เพราะเป็นค่าที่สามารถเห็นทางช้างเผือกได้เลย โอกาสโดนบังจากสภาพแวดล้อมน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย(ยกเว้นเมฆ) เช่นในวันที่ 21 มิถุนายน ทางช้างเผือกจะทำมุมเกิน 60 องศา ตั้งแต่เวลา 23:40-04:00 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ถ่ายทางช้างเผือกได้ดีที่สุด
  • MILKYWAY DAY = วันที่สามารถล่าทางช้างเผือกได้ดี ไม่มีแสงจันทร์รบกวนเกินครึ่งหนึ่งของเวลาที่ทางช้างเผือกปรากฏ ซึ่งในแต่ละปี วันที่จะไม่เหมือนกัน ซึ่งผมจะอัพเดทให้ทุก ๆกลางเดือนมกราคมของทุกปี ก่อนที่ฤดูทางล่าช้างจะเริ่มขึ้น

ตัวอย่างการใช้ สมมุติผมตั้งใจว่าปีนี้จะไปล่าทางช้างเผือกให้ได้เอาแบบที่ไม่ต้องนอนดึกมาก เพราะอยากมีแรงตื่นมาเก็บทะเลหมอกด้วย แน่นอนว่าแบบนี้ต้องมาช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน เท่านั้น เนื่องจากช่วงนี้ทางช้างเผือกจะสังเกตเห็นได้หลังแสงเย็นหมดลง แถมมีมุมเงยเกิน 60 องศา(การที่มีมุมเงยสูง โอกาสโดน ต้นไม้ สิ่งก่อสร้าง บดบังจะน้อยมาก) แต่คราวนี้ต้องมาดูว่าวันไหนแสงจันทร์รบกวนน้อย แล้วเราสามารถหยุดงานยาวได้ เช่น ปีนี้ไม่มีวันหยุดติดกันยาวทำให้เราสามารถล่าช้างเดือน ต.ค. ได้ยาวเลยๆ ในวันที่ 12-14 ต.ค. จะเป็นหยุดยาวก็จริง แต่ในตารางจะเห็นว่าไม่ใช่ Milky Day แปลว่ามีแสงจันทร์รบกวน ไปเที่ยวได้ แต่ล่าทางช้างเผือกไม่ได้ จึงจำเป็นอาจจะต้องลางานเพิ่มในวันที่ 28 ต.ค. แล้วหยุดไปเที่ยว 26-28 ต.ค. 2567/2024 ซึ่งตามตารางวันที่ 21-31 ต.ค. 2024 จะไม่มีแสงจันทร์รบกวนเลย ดังนั้นวันหยุด 3 วันนี้สามารถล่าทางช้างเผือกได้ดีมาก!!! 

จากตารางด้านบนในปี 2567/2024 เราจะเริ่มล่าทางช้างเผือกได้ในตอนเช้ามืดของวันที่ 9 ก.พ. 2567/2024 เวลาประมาณตี 4 ถึง 6 โมงเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ไปจนถึงวันที่ 22 ก.พ. 2567/2024 หลังจากนั้นจะถูกแสงจันทร์รบกวน แล้ววันที่ 10 มี.ค. 2567/2024 เราถึงจะเริ่มล่าทางช้างเผือกได้อีกครั้ง

ข้อจำกัดของตาราง

  • อย่างไรก็ตามวันที่แสดงจะมีแค่ 1,11,21 ของทุกเดือนเท่านั้น สมมุติว่าไปวันที่ 23 ตุลาคม ให้ใช้เวลาอ้างอิงวันที่ 21 ตุลาคม แต่ถ้าไปวันที่ 26 ตุลาคม ให้ใช้ของวันที่ 1 พฤศจิกายน ไปได้เลย
  • สำหรับวัน Milky Day ผมเลือกจากวันนั้นไม่มีแสงจันทร์รบกวนเกินครึ่งหนึ่งของเวลาทางช้างเผือกปรากฏ เช่นในวันที่ 1 มิถุนายน เราสามารถเห็นทางช้างเผือกได้ตั้งแต่ 20:10 – 05:00 หรือประมาณ 9 ชั่วโมง ในวันนั้นแสงจันทร์จะรบกวนไม่เกิน 4 ช.ม. แต่ยังไงก็ต้องตรวจสอบละเอียดอีกครั้งว่าวันที่เราไปพระจันทร์ขึ้น-ตกกี่โมง เพื่อที่จะได้วางแผนนอนแล้วตื่นขึ้นมาล่าช้างได้ หรือถ้าใคร All time night คืนนั้นไม่นอน ก็อ้างอิงตารางผมได้เลย ยังไงก็ได้ทางช้างเผือกกลับบ้านแน่นอน(ถ้าฝนไม่ตก เมฆไม่ปิด)
  • ตารางทางช้างเผือกข้างนี้ ใช้ได้เฉพาะกับประเทศไทยเท่านั้น โดยอ้างอิงจากรุงเทพมหานคร ดังนั้นถ้าไปอยู่ภาคเหนือเวลาสังเกตเห็นจะใกล้เคียง แต่มุมเงยอาจลดลงประมาณ 4-5 องศาได้ ส่วนถ้าทางภาคอีสานเวลาเห็นจะเร็วกว่าตารางประมาณ 10-15 นาที และในภาคใต้เวลาปรากฏจะใกล้เคียง แต่มุมเงยจะสูงขึ้นประมาณ 5-8 องศา
  • ตารางนี้ผมจะอัพเดททุก ๆวันที่ 15 มกราคมของทุกปี ซึ่งจะเป็นช่วงใกล้ฤดูเริ่มต้นล่าช้างพอดี

3.ทางช้างเผือกถ่ายยังไง ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

อันที่จริงแล้วเทคนิคการถ่ายทางช้างเผือกก็เป็นเทคนิคเดียวกับการถ่ายดาวบนท้องฟ้าทั่วไป เพียงแต่ต้องวางแผนดูการขึ้นตกของทางช้างเผือกให้ดีเท่านั้น ดังนั้นเรื่องเทคนิคผมสรุปสั้น ๆให้ดังนี้

  • การถ่ายทางช้างเผือกก็เหมือนกับถ่ายดาวทั่วไป คือการถ่ายแบบ Low speed shutter หรือลากชัดสปีดชัดเตอร์ยาว ๆ ดังนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือขาตั้งกล้อง ส่วนว่าเปิดนานได้เท่าไหร่เพื่อไม่ให้ดาวยืดเป็นเส้นก็ตามกฎ 400/600 เลยครับ ค่าที่ผมใช้ประจำก็ 8-15 วินาที
  • การเปิดรูรับแสงควรเปิดให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่ 4.0 ลงไปใช้ได้หมด ยิ่ง f น้อยยิ่งดี เพราะเราจะได้ไม่ต้องดัน iso สูงมาก (f4.0 มันก็ไม่ได้แย่นะ ถ่ายได้เหมือนกัน)
  • Iso ขึ้นอยู่กับมลภาวะทางแสง(Light pollution) บนท้องฟ้า ถ้ามลภาวะทางแสงสูงอย่างเช่นชานเมือง iso จะดันได้ไม่เกิน 1600  เพราะถ้าดันมากกว่านี้ท้องฟ้าจะสว่างมากเกินไป แต่ถ้าตามป่าเขาบนดอยดันไป 3200 – 8400 แต่ก็ไม่ควรเกิน 6400 เพราะไม่อย่างนั้น Noise จะมากเกินไป

ดังนั้นค่าที่ผมใช้ประจำจริง ๆ ก็คือ speed shutter 8-15s , f2.8-3.5 , iso 1600-6400 ตั้งตามนี้ก็ได้ ถ้ามืดหรือสว่างไปก็ปรับลดเพิ่ม iso ได้ ส่วนสปีดชัดเตอร์ ผมว่ามันพอดีกับกฎ 400/600 ทั้งกล้องฟูลเฟรมและตัวคูณ ในระยะทางยาวโฟกัส 16-24 mm ทั้งนี้ด้านบนเป็นเทคนิคคร่าว ๆเท่านั้น ถ้าหากอยากรู้รายละเอียดเพิ่มเติมมากกว่านี้ไปอ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ การถ่ายดาวเบื้องต้น ได้เลย

ทางช้างเผือก บ้านผาหมี เชียงราย
ทางช้างเผือก บ้านผาหมี จ.เชียงราย : iso3200 f3.5 Speed shutter 15 s รีวิวบ้านผาหมีเพิ่มเติม >>> บ้านดอยผาหมี เชียงราย

ต่อมาสิ่งสำคัญที่ไม่แพ้กับอุปกรณ์กล้องเลย ก็คือการเลือกสถานที่ไปล่าช้าง แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องไปที่มืด ๆ ตามดอยป่าเขาหรือกลางทะเล  สำหรับผมแล้วสถานที่เหมาะกับฝึกล่าช้างส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคเหนือ และดอยเสมอดาวถือเป็นหนึ่งใน location ที่เหมาะสมที่สุด เพราะท้องฟ้าที่นี่ค่อนข้างมืดมาก และเห็นสภาพท้องฟ้าได้เกือบ 360 องศา รองลงมาก็ภูชี้ฟ้า สำหรับใกล้กรุงเทพมากที่สุดผมแนะนำว่าเขาใหญ่หรือกาญจนบุรีก็ได้ครับ ไม่แนะนำภาคตะวันออกอย่างยิ่ง เพราะที่นี่ Light Pollution สูงพอ ๆกับกรุงเทพ

หากสงสัยหรือสอบถามข้อมูลแอดมินเพิ่มเติมเข้าไปที่ Fan Page : TheSunsight ได้นะค้าบบบ ถ้าแอดว่างจะรีบมาตอบให้เร็วที่สุด

บทความอื่น ๆที่น่าสนใจ