การถ่ายภาพเบื้องต้น

การถ่ายภาพเบื้องต้น

Highlight

  • Speed Shutter เร็วภาพจะออกมามืด ในขณะที่ Speed Shutter ช้า ภาพจะออกมาสว่าง การใช้ Speed Shutter ช้า ๆควรมีขาตั้งกล้องเพื่อไม่ให้ภาพเกิดความสั่นไหว
  • ค่า f มาก(รูรับแสงแคบ) ภาพจะออกมามืด ในขณะที่ค่า f น้อย(รูรับแสงกว้าง) ภาพจะออกมาสว่าง การเปิดค่า f มากจนเกินไปจะทำให้แสงเกิดการเลี้ยวเบนของแสง ภาพชัดก็จริงแต่ความคมจะลดลง การถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอคือการเปิดค่า f ต่ำ เพื่อให้ฉากหลังละลาย
  • Hyperfocal Distance คือระยะที่วัตถุใด ๆก็ตามอยู่หลังระยะนี้จะโฟกัสติดหมดทั้งภาพ ต่อให้เปิด f ต่ำแค่ไหนก็ไม่มีคำว่าหน้าชัดหลังเบลอกหรือหน้าเบลอหลังชัด
  • ค่า iso มาก ภาพที่ได้จะสว่าง ในขณะที่ ค่า iso ต่ำ ภาพที่จะมืด อย่างไรก็ตามการเปิดค่า iso สูงทำให้ภาพมีสัญญาณรบกวนหรือ Noise มากตาม แนะนำว่าหากต้องใช้ iso สูง ควรถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW
  • ค่า WB เป็นหนึ่งในฟังก์ชันของกล้องดิจิตอลเพื่อแก้สีของภาพให้สมจริงมากที่สุด

1.  ความเร็วชัตเตอร์(Speed Shutter :ss)

ความเร็วชัดเตอร์(Speed Shutter) คือความเร็วของการเปิด-ปิดชัดเตอร์ แน่นอนว่าอธิบายแค่นี้หลายคนคงยังไม่เข้าใจอยู่ดี เอาเป็นว่าเวลาเราถ่ายรูป ปกติแล้วเราจะได้ยินเสีย แชะ-แชะ สองครั้ง เสียงนี้แหละครับคือเสียงการเปิด-ปิดชัดเตอร์ ซึ่งความเร็วของ Speed Shutter ก็คือระยะเวลาระหว่างเสียงชัดเตอร์ แชะแรก(เปิด) และแชะสอง(ปิด) เช่น ถ้าเราเปิด Speed Shutter 1 วินาที เสียง แชะเปิด แชะปิด จะห่างกัน 1 วินาที นั่นเอง โดยทั่วไปแล้ว Speed Shutter มักจะเขียนเป็นตัวเลขเศษส่วน หรือ 1/x ซึ่งเป็นเศษส่วนวินาที เช่น 1/160 = 0.00625 วินาที ในเลขที่เขียนเป็นอัตราส่วนแบบนี้ยิ่งค่าตัวเลขมากภาพจะยิ่งมืด  ส่วน Speed Shutter ที่มีค่ามากกว่า 1 วินาที มักจะเขียนเป็น 1” 1’ แล้วแต่กล้องนะ เช่น ถ้าเราปรับ Speed Shutter แล้วตัวเลขในกล้องเขียนว่า 8” นั่นหมายความว่า Speed Shutter เรามีค่า 8 วินาที จริง ๆแล้ว Speed Shutter คล้ายกับการที่เรากระพริบตา ก็คือถ้าเราลืมตาแป๊บเดียวแสงจะเข้าไปที่จอรับภาพ(เซนเซอร์)น้อย ถ้าเรากระพริบเร็วเราจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ดี ดังนั้นอย่ากระพริบตาตามเลย ฮ่า ๆ

แล้วคราวนี้ Speed Shutter จะมีผลอะไรบ้าง ง่าย ๆเลย การเปิด Speed Shutter เร็วๆจะทำให้แสงเข้าเซนเซอร์น้อย ภาพที่ได้ออกมาจะมืด ในทางตรงกันข้ามถ้าหากเราเปิด Speed Shutter นาน ๆ แสงก็จะเข้าไปสะสมที่เซนเซอร์มาก ภาพที่ได้ออกมาจะสว่าง ดังนั้นในสถานที่มีสภาพแวดล้อมสว่าง ๆสูง อย่างเช่น การถ่ายภาพกลางแจ้ง หรือถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกดิน ก็ควรใช้ Speed Shutter เร็ว ๆ เพื่อไม่ให้ภาพเกิดความสว่างเกินไป(ภาษาช่างกล้องเรียกหลุด Highlight) และในสถานที่มีสภาพแวดล้อมมืดก็ควรใช้ Speed Shutter ที่ช้า เพื่อให้เซนเซอร์รับแสงได้เยอะ ภาพที่ได้ไม่มืดจนเกินไป(ภาษาช่างกล้องเรียกติด Under) แต่ข้อเสียของการเปิด Speed Shutter นาน ๆ อาจทำให้ภาพเกิดความสั่นไหวได้ โดยเฉพาะตอนถ่ายดาวที่ต้องใช้ Speed Shutter นานถึง 20-30 วินาที แน่นอนว่าต้องใช้ขาตั้งกล้องช่วยนะครับ ขาตั้งกล้องมีไว้เพื่อสถานการณ์แบบนี้แหละ ฮ่า ๆ

ภาพถ่ายทางช้างเผือก บนดอยเสมอดาว
ภาพถ่ายทางช้างเผือก บนดอยเสมอดาว : iso 3200 f3.5 Speed Shutter 25 sec.

แล้วเราควรเปิด Speed Shutter เท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม สำหรับการถ่ายวัตถุนิ่งทั่ว ๆไป ไม่ว่าจะเป็น ทะเล ภูเขา คน อะไรก็ตามที่อยู่นิ่ง ๆ หรือเคลื่อนไหวเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ภาพเกิดความสั่นไหวจากความไม่นิ่งของมือผู้ถ่าย และเมื่อซูมเข้าไปดูแล้วภาพสามารถไหวในระดับที่ยอมรับได้ ก็พอมีวิธีคำนวณอยู่ตามสูตรด้านล่างเลย

Speed Shutter = 1/ ระยะหน้าเลนส์(mm) x Crop factor

แต่ว่าการใช้สูตรนี้มันมีข้อจำกัดอยู่นะครับ คือมือเราต้องมือนิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้นะครับ ในแบบที่ขณะกดชัดเตอร์ถึงกับต้องกลั้นหายใจเลย  สำหรับตัวอย่างการใช้สูตร เช่นผมใช้กล้อง Nikon D5300 ซึ่งถ่ายรูประยะเลนส์ 50 mm ดังนั้น Speed Shutter ผมจะต้องเร็วกว่า 1/(50×1.5) = 1/75 หรือ 1/80 วินาที นั่นเอง ซึ่งสำหรับผมแล้วควรเซฟหน่อยก็เปิดไปสัก 1/125 ถึง 1/200 เลย แต่เอาเข้าจริง ๆแล้ว มันเป็นเรื่องที่บอกยากมากว่าควรใช้ Speed shutter เท่าไหร่ เอาเป็นว่าผมพอสรุปได้ประมาณนี้นะครับ

  • จากเท่าที่ผมฟังเทพโปรหลายคนเขาบอกกันว่า ในสถานการณ์ปกติทั่วไปควรใช้ Speed Shutter ให้เร็วกว่า 1/160 ขึ้นไป ซึ่งถือว่าเซฟที่สุดแล้ว เช่น ถ่ายรูปแลนด์สเคป ภาพบุคคล ในช่วงเวลากลางวัน
  • ถ้าต้องการถ่ายภาพเคลื่อนไหวให้ดูหยุดนิ่ง เช่น ถ่ายนกบิน ถ่ายกีฬา ถ่ายเครื่องบินวิ่งบนรันเวย์ ควรเปิด Speed Shutter ให้เร็วกว่า 1/400 จะดีที่สุด ทั้งนี้อยู่ที่ระยะเลนส์ด้วย ยิ่งเลนส์ระยะซูมยิ่งต้องเปิด 1/800 ถึง 1/1600 เลย คำถามคือแสงจะพอไหม ไม่พอหรอกต้องดัน iso เพิ่มรัวๆ เลย
  • ถ้าต้อง การถ่ายภาพดาว หรือภาพถ่ายแนว Low speed shutter เช่น ถ่ายรถวิ่งเป็นเส้น ถ่ายน้ำตกแบบฟุ้งๆ ถ่ายพลุให้เป็นเส้น แบบนี้ต้องเปิด Speed Shutter ให้ช้า อย่างเช่น การถ่ายน้ำตกฟุ้ง ก็ประมาณ 1-2 วินาที ถ้าถ่ายดาวก็ 8-15 วินาที ตามกฎ 400/600 ส่วนถ่ายรถเป็นเส้นกับถ่ายพลุแล้วก็แล้วแต่เราจะกำหนด(ไม่ควรนานเกิน 45 วินาที ไม่งั้นเซนเซอร์จะร้อน ทำให้เกิด Noise สูง) แน่นอนการถ่ายแบบ Low speed shutter จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องนะครับ
ภาพถ่ายนก
ภาพถ่ายนก หลังวัดศรีโคมคำ พะเยา : f8.0 ss 1/1250 iso 100

 

ภาพถ่ายรถวิ่งเป็นเส้น เมืองมิวนิค เยอรมันนี : iso 100 f16.0 speed shutter 6 s

2.รูรับแสง (Aperture Focus :F)

รู้จักกับรูรับแสง

“รูรับแสง” คือรูที่ยอมให้แสงผ่านเข้าไปตกกระทบบนเซนเซอร์ ถ้ารูรับแสงแคบเซนเซอร์ก็จะรับแสงน้อย ภาพที่ได้จะมืด ในขณะที่รูรับแสงกว้างเซนเซอร์ก็จะรับแสงมาก ภาพที่ได้จะสว่าง โดยทั่วไปแล้วค่ารูรับแสงในภาษาของคนเล่นกล้องจะเรียกสั้น ๆว่า “ค่า f” คราวนี้กลับมาว่าเรื่องของค่ารูรับแสง ซึ่งผมขอสรุปสั้น ๆเลยว่า

  • ค่า f มาก แปลว่ารูรับแสงแคบ ภาพจะมืดลง เมื่อค่าอื่น ๆ และสภาพแวดล้อมคงที่
  • ค่า f น้อย แปลว่ารูรับแสงกว้าง ภาพจะสว่างขึ้น เมื่อค่าอื่น ๆ และสภาพแวดล้อมคงที่

ดังนั้น ถ้าต้องการให้กล้องรับแสงได้มากขึ้น(ภาพสว่างมากขึ้น)ควรปรับค่า f ให้มีค่าต่ำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น f3.5 ภาพที่ได้จะสว่างกว่า f22 เมื่อใช้ speed shutter iso และอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน อันที่จริงแล้วรูรับแสงมีลักษณะเดียวกันกับรูม่านตาของมนุษย์ เมื่อเราอยู่ในที่แสงสว่างมากรูม่านตาจะแคบลง และเมื่อเราอยู่ในที่มืดรูม่านตาด็จะขยายขึ้นเพื่อรับแสงให้ได้มากขึ้น เช่นถ้าเรานั่งทำงานอยูดี ๆไฟดับเราจะมองอะไรไม่เห็นเลย สักพักเราจะเริ่มเห็นเพราะว่าม่านตาเราขยายขึ้นนั่นเอง หรือเมื่อขับรถออกจากอุโมงค์เราจะรู้สึกว่าข้างนอกมันสว่างจ้าเหลือเกิน เนื่องจากตามนุษย์จะต้องใช้เวลาในการขยาย(หด)ม่านตา ดังนั้นเวลาเราขับรถลอดอุโมงค์สังเกตได้เลยว่าทำไมเขาต้องติดไฟในอุโมงค์ให้สว่างพอ เพื่อให้รูม่านตาเราปรับแสงได้ทันนั่นเอง

Hyperfocal Distance: HFD / Depth of Field: DOF

ตารางระยะ HFD ระยะนี้คิดจากกล้อง Full Frame ถ้าเป็นกล้องตัวคูณก็ให้คูณ Crop Factor เช่นใส่เลนส์ 18 mm บนกล้อง NikonD5300 ระยะเลนส์จริงก็คือ 18mm x1.6 = 28.8 mm หรือ 28 mm ดังนั้นกรณีที่เปิด f2.8 ระยะ HFD จะประมาณเท่ากับ 9.12 เมตรหรือตีเป็น 10 เมตร ไปเลยก็ได้

Hyperfocal Distance คือระยะทางยาวโฟกัส(ช่วงซูม)ของเลนส์ แต่ละช่วงที่ไม่ว่าเราจะเปิด f เท่าไหร่ก็ตาม ก็จะได้ระยะชัดลึก(DOF)เท่ากันหมดทั้งภาพ หรือชัดทั้งภาพแบบไม่มีหลุดโฟกัส ยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมุติว่าเราใช้เลนส์ระยะ 24 mm แล้วเราเปิด f2.8 ซึ่งมีค่า HFD = 6.69 เมตร นั่นหมายความว่า วัตถุที่อยู่ห่างจากเราเกิน 6.69 เมตร จะโฟกัสติดทั้งหมด หรือชัดหมดทั้งภาพ แต่ถ้ามีวัตถุด้านหน้าอยู่ห่างจากเราไม่เกิน 6.69 เมตร ก็จะเกิดภาพหน้าชัดหลังเบลอ(กรณีโฟกัสวัตถุ) หรือหน้าเบลอหลังชัดกรณีโฟกัสพื้นหลัง (ภาษาบ้าน ๆเรียกว่าหลุดโฟกัส) ส่วนระยะ Depth of Field: DOF ก็คือระยะชัดลึกนั่นเอง ซึ่งผมขอสรุปเกี่ยวกับ DOF ง่าย ๆ ดังนี้เลย

  • DOF น้อย หรือชัดตื้น ก็คือการเปิด f ต่ำ ๆ เพื่อให้หน้าชัดหลังเบลอ หรือหน้าเบลอหลังชัด เช่น การถ่ายรูป Portrait แนวโบเก้ หรือถ่ายภาพเน้นวัตถุ หรือการเปิดรูรับแสงเท่ากันแต่ใช้เลนส์ซูม (Lens telephoto)
  • DOF มาก หรือชัดลึก ก็คือการเปิด f สูง ๆ เพื่อให้ภาพชัดทั้งภาพ เช่น การถ่ายภาพแลนด์สเคปทั่วไป เพื่อให้ได้ภาพชัดทั้งภาพ หรือการเปิดรูรับแสงเท่ากันแต่ใช้เลนส์มุมกว้าง (Lens wide)

ประโยชน์ของตัวเลข HFD สำคัญมาก ๆ เพราะบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องใช้ค่า f สูง ๆ(รูรับแสงแคบ) เพื่อให้ภาพชัดทั้งภาพก็ได้ ซึ่งในกรณีที่วัตถุในภาพอยู่ห่างจากเรามากกว่าระยะ HFD ก็สามารถใช้ f ต่ำ ๆ(รูรับแสงกว้าง)เพื่อให้ชัดทั้งภาพได้เหมือนกัน อย่างเช่น เรามีเลนส์ 24mm โดยปกติแล้วสาย Landscape จะเปิด f8.0 เพื่อให้ชัดทั้งภาพ แต่บางครั้งสภาพแสงมันมืดมากแล้วดันไม่มีขาตั้งกล้อง ทำให้ไม่สามารถเปิด Speed Shutter ได้ช้า เพราะภาพจะสั่นไหว และไม่อยากให้ภาพเกิด Noise เยอะจากการเพิ่ม iso ดังนั้นเราจะต้องเปิด f2.8 เพื่อให้แสงเข้าเซนเซอร์ได้มากขึ้น แต่คราวนี้จากเดิม f8.0 วัตถุจะต้องอยู่ห่างจากเราเกิน 2.4 เมตร ภาพถึงจะชัดทั้งภาพ แต่ถ้าเราเปิด f2.8 วัตถุจะต้องอยู่ห่างจากเราเกิน 6.69 หรือประมาณ 8 ก้าวนั่นเอง หากใครสงสัยว่าตัวเลข 8 ก้าวมาจากไหน? ก็มาจากระยะ HFD ซึ่งผมใช้เลนส์ระยะ 24 mm (Full frame) หรือ 16 mm (ตัวคูณ) แล้วดูตารางด้านบนจะได้ระยะ HFD จะเท่ากับ 6.69 เมตร โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์เราจะก้าวยาว ๆ 1 ก้าวประมาณ 0.90 เมตร  ดังนั้นวัตถุจะต้องห่างจากเรา 6.69/0.90 = 7.4333 ก้าว ถ้าตีเป็นตัวเลขกลม ๆ ก็ 8 ก้าว (เศษต้องปัดขึ้นเท่านั้น ต่อให้เศษน้อยกว่า 0.50 ก็ต้องปัดขึ้นหมด เพราะถ้าปัดลงมาจำนวนก้าวจะลดลงเมื่อ x 0.90 กลับไปจะได้น้อยกว่าระยะ HFD (7.0 x 0.9 = 6.3 < 6.69)

จำนวนก้าว =  Hyperfocal Distance / 0.90  โดยที่เศษปัดขึ้นทั้งหมด

ขอสมมุติอีกหนึ่งตัวอย่าง ถ้าหากผมต้องการถ่ายดาราจักรอันโดรเมดาด้วยเลนส์ระยะ 85 mm f5.6 แล้วผมต้องการโฟกัสจากไฟฉายเพื่อน ดังนั้นเพื่อนผมจะต้องถือไฟฉายห่างจากผมประมาณ 42/0.90 =  47 ก้าว หรือเกือบหนึ่งระยะเสาไฟเลยทีเดียว จริง ๆแล้วเรื่องของระยะ HFD ยังมีประโยชน์ในอีกหลายสถานการณ์ ซึ่งผมสรุปให้ตามด้านล่างนี้

  • การถ่ายภาพบนเครื่องบินตอนกลางคืน ซึ่งเราไม่สามารถตั้งขาตั้งกล้องได้ ดังนั้นจำเป็นต้องใช้ความเร็วชัดเตอร์เร็วเพื่อไม่ให้ภาพสั่นไหว ซึ่งเราจะเปิดค่า f ต่ำสุดเพื่อให้แสงเข้าเซนเซอร์ได้มาก โดยไม่ต้องกังวลเลยว่าภาพนั้นจะชัดทั้งภาพหรือไม่ เนื่องจากวิวด้านล่างอยู่ห่างจากเราเกิน 1,000 เมตร ไม่ว่าจะใช้เลนส์ซูมหรือกว้างแค่ไหนก็ชัดหมดแน่นอน หรือการถ่ายภาพผ่านกระจกที่มีรอยขูดบนเครื่องบิน ก็ให้เปิด f กว้าง ๆ แล้วโฟกัสด้านหลังกระจกเครื่องบิน เราจะได้ภาพด้านหลังชัดทั้งภาพ โดยที่จะเห็นรอยบนกระจกเพียงนิดเดียวหรือไม่เห็นเลย
  • การรูปวิวบนรถยนต์ที่กำลังเคลื่อนที่ เนื่องจากวิวรอบ ๆ จะเคลื่อนที่ตามด้วย ถ้ามัวกังวลชัดลึกชัดตื้นคงไม่ได้รูปแน่ ๆ แนะนำให้เปิด f กว้าง ๆ ไปเลย เพราะอย่างไรวัตถุหรือวิวก็อยู่ห่างจากเราเกิน 7 เมตรอยู่แล้ว เราจะได้เปิด speed shutter เร็วกว่า 1/400 วินาทีไปเลย ภาพจะได้ไม่สั่นไหว
ภาพถ่ายผ่านกระจกเครื่องบิน ด้านล่างคือเทือกเขาอนาโตเลีย ประเทศตุรกี

 

ภาพถ่ายผ่านกระจกเครื่องบิน ตอนกลางคืน ก่อนเครื่องบิน Landing ลงดอนเมือง : iso 6400 f3.5 Speed shutter 1/25 s

ปรากฎการณ์เลี้ยวเบน(Diffraction) เมื่อเปิดรูรับแสงแคบ(ค่าFมาก)

เราคงเคยเรียนฟิสิกส์กันมาบ้างแล้วว่าแสงเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถ้าหากจำกันได้แสงจะมีคุณสมบัติ 4 อย่างได้แก่ การสะท้อน การหักเห การแทรกสอด และการเลี้ยวเบน คราวนี้กลับมาที่ว่าการเลี้ยวเบนมันเกิดขึ้นได้อย่างไรเมื่อเราเปิดรูรับแสงแคบ โดยทั่วไปแล้วเมื่อคลื่นแสงผ่านรูแคบ(หรือสลิต)จะเกิดการเลี้ยวเบนเสมอ ซึ่งผมขอสรุปแบบสั้น ๆดังนี้

  • ถ้าขนาดรูรับแสงกว้างกว่าความยาวคลื่น จะเกิดการเลี้ยวเบนน้อย
  • ถ้าขนาดรูรับแสงแคบกว่าความยาวคลื่น จะเกิดการเลี้ยวเบนมาก

ดังนั้นหากเราเปิด f แคบจนเกินไป ก็จะทำให้คลื่นแสงเกิดการเลี้ยวเบนได้มาก จนสามารถเกิดการแทรกสอดได้ ทำให้แสงที่ถูกบีบด้วยรูรับแสงที่แคบเกิดการกระจายไปกระทบกับ pixel อื่น ๆในเซนเซอร์ ผลก็คือความคมชัดของภาพอาจลดลงไปมาก ในขณะเดียวกันหากเปิด f กว้าง แสงจะพุ่งตรงไปยัง pixel ของเซนเซอร์ได้ตรง ๆ พอดี ไม่ฟุ้งกระจายไปยัง pixel อื่น ๆ ทำให้ภาพมีความคมชัด

ภาพถ่ายทุ่งนาอำเภอเชียงกลาง น่าน : iso 100 f8.0 Speedshutter 1/125 s

ถ้าถามว่า “เราควรเปิดค่า f เท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ Diffraction” ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้กล้องอะไร แต่เท่าที่ผมลองใส่ค่าในแบบจำลองแล้ว ผลที่ได้คือถ้าหากเป็นกล้อง Full Frame จะเริ่มเกิด Diffraction เมื่อเปิดค่า f มากกว่า 11.0 ในขณะที่กล้องตัวคูณไม่ว่าจะ Cannon Nikon Fuji Sony หรืออะไรก็ตามจะเริ่มเกิด Diffraction เมื่อเปิด f มากกว่า 8.0 หากใครอยากรู้ว่ากล้องเราจะเกิด Diffraction ที่ f เท่าไหร่ สามารถเข้าไปใส่ค่าได้ในลิ้งค์นี้ (ถ้าใช้ Nikon ให้เลือก Digital SLR with CF of 1.6x หรือ Canon ก็ 1.5x ส่วนใครใช้ Full Frame ก็เลือก 35mm)

แล้วเราควรเปิดรูรับแสงที่เท่าไหร่ดีถึงจะเหมาะสม

  • ถ้าถ่ายแลนด์สเคปทั่ว ๆไป ตอนกลางวัน f5.6-f8.0 จะเหมาะสมที่สุดที่ เพราะจะทำให้ภาพคมชัดทั้งภาพ และไม่เกิดปรากฎการณ์ Diffraction เมื่อเปิด f แคบจนเกินไป
  • ถ้าถ่ายในที่มืด ถ่ายดาว ถ่ายวิวจากบนรถยนตร์ที่กำลังวิ่ง หรือถ่ายผ่านกระจกบนเครื่องบิน ให้เปิด f กว้าง ๆ ส่วนกว้างเท่าไหร่ก็เท่านั้น ก็จัดต่ำสุดเท่าที่เลนส์เรามีเลย f0.95-f4 (โดยปกติผมใช้ f2.8-f3.5)
  • การถ่ายไฟทางให้เป็นแฉกสวยๆ อันนี้จำเป็นต้อง f แคบ จากประสบการณ์แล้วไฟดวงเล็ก ๆจะเริ่มเป็นแฉกที่ f14 แต่ถ้าไฟดวงใหญ่จะเป็นแฉกได้ก็ประมาณ f16 ดังนั้นผมแนะนำเลยว่าควรเปิดประมาณที่ f16-f18 และไม่ควรเกินไป f22 เพราะภาพที่ได้ไฟเป็นแฉกก็จริง แต่ความคมของภาพจะลดลงมาก(เลนส์แพง ๆระดับเทพ f11 ก็เป็นแฉกแล้วครับ)
  • ภาพถ่ายแนว long exposure ภาพพลุ ภาพน้ำตกนวลๆ ภาพรถวิ่งเป็นเส้น แบบนี้อาจต้องเปิด f แคบ บีบให้แสงเข้าน้อย ๆ เพื่อจะได้เปิดสปีดชัดเตอร์ได้ยาวนานขึ้น ยิ่งถ่ายน้ำตกนวลในตอนกลางวันแล้วไม่มีฟิลเตอร์ ND แนะนำให้เปิด f แคบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนภาพไม่คมช่างมัน
น้ำตกปุญญบาล ระนอง : iso 50 f22.0 Speed shutter 1.3 sec

3.ความไวแสง (International Organization for Standardization : ISO)

ค่าความไวแสงหรือช่างภาพส่วนใหญ่มักจะเรียกกันว่า “ค่า ISO” ซึ่งจริง ๆ แล้วค่า iso ก็คือคำสั่งดันกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นบนเซนเซอร์ เพื่อให้เซนเซอร์ขยายช่วงรับสัญญาณ(Bandwidth)กว้างขึ้น ทำให้คลื่นแสงเข้ามาในเซนเซอร์มากขึ้น ภาพจึงสว่างขึ้นแต่อย่าลืมว่าแสงเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การขยายสัญญาณเพิ่มขึ้นก็เป็นการยอมให้คลื่นความถี่อื่น ๆที่ไม่ใช่แสงเข้ามาในเซนเซอร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนจากตัวเซนเซอร์เอง หรือคลื่นต่าง ๆตั้งแต่สัญญาณวิทยุยันรังสีอวกาศ ก็สามารถทำให้เกิดสัญญาณรบกวนในภาพได้ทั้งนั้น ซึ่งเราเรียกสัญญาณรบกวนนี้กันว่า “Noise” นั่นเอง  ดังนั้น การเพิ่ม ISO ทำให้ภาพสว่างขึ้นก็จริง แต่ก็ต้องแลกมาด้วย Noise ที่มากโข  โดยทั่วไปแล้ว Noise จะมีอยู่ 2 ประเภทได้แก่

  • Chromatic Noise มีลักษณะเป็นจุดเม็ดสี แดง เขียว น้ำเงิน เล็ก ๆ กระจายอยู่ในภาพ จะเกิดเมื่อเราใช้ iso สูง หรือเปิดสปีดชัดเตอร์นาน ๆ ทำให้เซนเซอร์ร้อนขึ้น จนเกิดสัญญาณรบกวนจากคลื่นความร้อนของเซนเซอร์ ส่งผลให้ Pixel แสดงสีผิดพลาด แต่อย่างไรก็ตาม Noise ประเภทนี้ไม่ได้ทำให้รูปภาพเสียหายมากนัก และสามารถขจัดได้ง่าย อาจจะปรับแค่ไว้ White Balance หรือใช้ฟังก์ชันลด Noise ในโปรแกรม LR PS ได้เลย
  • Luminance Noise มีลักษณะเป็นจุดสีขาวซ่า ๆกระจายเต็มภาพ ซึ่งเกิดจากสัญญาณรบกวน ทำให้แสดงแสงผิดพลาดแบบสุ่มเมื่อใช้ iso สูง ซึ่ง Noise ประเภทนี้บอกเลยว่าขจัดยากมาก เพราะถ้าปรับลด Luminance Noise ในโปรแกรมมากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดภาพเป็นวุ้นได้(ความคมชัดลดลงเป็นอย่างมาก) โดยทั่วไปแล้วการขจัด Noise ในโปรแกรมแต่งภาพ เราจะลด Chromatic Noise ก่อนแล้วค่อยปรับแก้ลด Luminance Noise

จริง ๆแล้ว Noise จะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่คนจะยอมรับได้มากแค่ไหน สำหรับผมแล้วกล้อง Nikon D610 ที่ผมใช้อยู่ ระดับ Noise ที่พอรับได้คือ iso ไม่เกิน 6400 แต่ถ้าเป็นกล้องตัวเดิม Nikon D5300 รับ iso ได้ไม่เกิน 3200 แต่ถ้านำภาพมาแชร์ลงในอินทเทอร์เนต ไม่ว่าจะเป็น Facebook twitter IG ด้วยที่ขนาด 2048×1152 ผมก็ยอมรับ iso ได้มากถึง 12,800 เลย ส่วนวิธีการถ่ายเมื่อจำเป็นต้องเปิด iso สูงแล้วให้ Noise น้อยมากที่สุด ก็พอมีเทคนิคประมาณนี้

  • การถ่ายภาพที่ความไวแสงสูง(ISO สูง) ควรถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW เนื่องจาก Noise จะน้อยกว่าการถ่ายภาพด้วย JPEG เพราะว่าไฟล์ JPEG ข้อมูลภาพบีบอัด ถูกลดทอนคุณภาพไปเยอะมาก นอกจากนี้การถ่ายด้วยไฟล์ RAW ยังสามารถทำการลด Noise ด้วยโปรแกรมได้ดีกว่าอีกด้วย
  • การขุดภาพในส่วนเงามืด(Shadow) ให้สว่างขึ้นด้วยโปรแกรมแต่งภาพ จะทำให้ส่วนเงามืดเกิด Noise ได้มากกว่าการเปิด iso สูง เพื่อเก็บเงามืดนั้น หากต้องการเก็บส่วนมืดแนะนำให้เปิด iso มากกว่าการถ่ายติด under แล้วเอาไปดึงแสงทีหลัง

การลด Noise เบื้องต้นด้วยการถ่าย Dark Frame

วิธีแก้เบื้องต้น อาจใช้เพียงแค่โปรแกรม Light room ลด Noise ก็พอเอาอยู่ แต่คราวนี้ผมจะมารู้จักการถ่าย Dark Frame ซึ่งการถ่าย Dark Frame ก็คือสมมุติว่าเราถ่ายดาวด้วยการตั้งค่าหนึ่ง ให้เราถ่ายรูปอีกใบแบบปิดหน้ากล้องที่มีการตั้งค่าเท่ากับรูปเดิม ดังนั้นเราจะได้รูปที่มีดาวและรูปหน้าจอดำแบบมี Noise มาอย่างละ 1 รูป ให้เราเอาทั้ง 2 รูปไป merge กันในโปรแกรม Photoshop แล้วเราจะได้รูปที่มี Noise ลดลง เพราะว่าเราเอารูปที่เป็น Noise พื้นหลังดำ ไปหักล้างกับ Noise ในรูปภาพปกติ

กล้องบางรุ่นอย่าง Nikon D610 จะมีให้เปิดโหมดลด Noise ในที่ความไวแสงสูง เมื่อเราเปิดถ่ายดาว 20 วินาที เราจะต้องรออีก 20 วินาที เพื่อถ่าย Dark Frame รวมเป็น 1 ภาพใช้เวลา 40 วินาที แต่อย่างไรก็ตามการลด Noise ด้วยการถ่าย Dark Frame แบบนี้จะเป็นการลด Noise ประเภท Chromatic Noise (Noise แบบเม็ดสี)ได้ดี ส่วน Luminance Noise ก็อาจลดได้นิดหน่อย ซึ่งที่จริงแล้วจะมีวิธีการถ่ายอีกเยอะมากที่จะลด Noise ไม่ว่าจะเป็นการถ่าย Flat Frame , Bias Frame เอาไว้เดี๋ยวไว้ลงลึกๆให้ทีหลังครับ

แล้วเราควรเปิด ISO เท่าไหร่จึงจะเหมาะสม

  • การถ่ายภาพแลนด์สเคปทั่ว ๆไปจะเปิด iso ประมาณ 50-200 ทั้งนี้แล้วแต่สภาพแสง กรณีช่วงพระอาทิตย์ตกดิน /พึ่งขึ้น แล้วไม่มีขาตั้งกล้อง ก็สามารถดันไป 200 – 400 ได้เลย
  • การถ่ายดาวจะใช้ iso ประมาณ 1600 – 6400 ขึ้นอยู่กับมลภาวะทางแสงของท้องฟ้า ถ้าชานเมืองอาจจะเปิด iso ได้ไม่เกิน 1600 เพราะไม่อย่างนั้นท้องฟ้าจะสว่างมากเกินไป แต่ถ้าตามดอยป่าเขามืด ๆ ก็เปิดไปเลย 3200 – 6400
  • การถ่ายภาพสัตว์ป่า อาจจะใช้ iso สูงได้ เพราะต้องใช้ช่วงซูม อย่างเช่น ถ่ายกวางป่า ใช้ช่วงซูม 300 mm ดังนั้นต้องใช้ ss มากกว่า 1/320 แล้วถ้าอยู่ในพื้นที่ต้นไม้คุมเยอะ ๆ อาจต้องดัน iso มากกว่า 800-1600
  • Iso 64/50 อันนี้แล้วแต่รุ่นบางรุ่นต่ำสุด 100 โหมดนี้เอาไว้ถ่ายภาพ long exposure เพื่อเปิดสปีดชัดเตอร์ให้ได้นานขึ้น เช่น การถ่ายภาพน้ำตกนวล หรือภาพรถวิ่งเป็นเส้น
ภาพถ่ายทุ่งบัวตอง ดอยแม่อูคอ : iso800 f18.0 Speed Shutter 1/60 s

4.ความสัมพันธ์ของค่า SS F ISO และ Light Stop

ทุกคนน่าจะรู้แล้วว่า “ความเร็วชัดเตอร์ รูรับแสง และความไวแสง” เป็นค่าที่กำหนดปริมาณแสงเข้าไปยังเซนเซอร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยตรง โดยทั่วไปแล้วเราจะปรับค่าความเร็วชัดเตอร์ก่อน ต่อมาค่อยปรับรูรับแสง และสิ่งสุดท้ายที่จะปรับก็คือ ISO เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิด Noise บนภาพได้ดีที่สุด ซึ่งการปรับค่าต่าง ๆจะมีขั้นของแสง(Light Stop) หรือเรามักเรียกกันว่า “สตอป” นั่นเอง นั่นหมายความว่า ถ้าเราลดลง Speed Shutter 1 สตอป เราจะต้องลดค่ารูรับ(เปิดกว้าง) จากเดิม 1 สตอป หรือเพิ่ม iso 1 สตอปแทนก็ได้ เพื่อให้ภาพได้แสงเท่ากับภาพเดิม

ขอยกตัวอย่าง Case study การนับสตอปตามด้านล่างนี้

  • ถ้าผมถ่ายกระจุกดาวลูกไก่ โดยใช้ Speed Shutter 15 วินาที เปิดรูรับแสงต่ำสุด 8 และเปิด iso 3200 ปรากฎว่าดาวเป็นเส้น ผมจึงลด Speed Shutter ลงมา 8 วินาที(ลดลง 1 สตอป) แล้วถ้าผมต้องการให้แสงสว่างเท่าเดิม ผมจะต้องทำอย่างไร ถ้าหากลองดูแล้วผมไม่มีทางจะลด f ได้ เพราะเลนส์ของผมรูรับแสงกว้างสุดได้แค่ f2.8 ดังนั้นมีทางเดียวจึงต้องดัน iso เพิ่มไป 1 stop ซึ่งก็คือ 6400 นั่นเอ
  • ถ้าผมถ่ายภาพแลนด์พระอาทิตย์ตกดินตอนเย็น ด้วยระยะทางยาวโฟกัส 24 mm ผมใช้ Speed Shutter  1/15 , f8.0 , iso 200 ปรากฎว่าภาพผมไหว ผมจึงใช้เพิ่มความเร็ว Speed Shutter 1/60 (เพิ่ม 2 สตอป) เพื่อให้ภาพเกิดการสั่นไหวน้อยลง แต่ผมไม่ต้องการเพิ่ม iso แล้ว เพราะถ้า iso เกิน 200 ภาพที่ได้อาจจะมี noise สิ่งเดียวที่ผมจะปรับได้คือรูรับแสงเท่านั้น ดังนั้นผมจะต้องลดรูรับแสงเหลือ 0 (ลดลง 2 สตอป) ผมจึงจะได้ภาพที่แสงสว่างเท่ากับภาพแรก แต่ถ้าปรากฎว่ามีวัตถุอยู่ด้านหน้าห่างจากเรา 4 เมตร ทำให้วัตถุนั้นเบลอ ถ้าเราจะเอาให้ชัดทั้งภาพ เราจะต้องใช้ f5.6 เพราะว่าระยะ HFD = 3.36 เมตร เท่ากับเราลด f ไป 1 สตอป แบบนี้เราต้องจำเป็นต้องดัน iso ช่วยเพิ่มอีก 1 stop จาก 200 เป็น 400 ครับ

ทั้งหมดนี้เป็นเลื่อนสตอปทีละ 1 ขั้น เท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วกล้องรุ่นใหม่ ๆ สามารเพิ่มลดจำนวนสตอปเป็น ½ หรือ1/3 สตอปได้นะครับ เช่นปรับจาก f5.6 -> f6.3 -> f7.1 ->f8.0 แบบนี้เป็นการเพิ่ม f ทีละ 1/3 สตอป

ภาพถ่ายไฟแฉก วัดจองคำ-กลาง แม่ฮ่องสอน : iso 100 f22.0 Speed shutter 20 sec

5.สมดุลแสงขาว (White Balance :WB)

สมดุลแสงขาว(White Balance) เป็นหนึ่งในฟังก์ชันของกล้องถ่ายรูดิจิตอล ที่เอาไว้ใช้ปรับแก้สีรูปภาพให้ตรงกับความจริง โดยใช้หลักการอุณหภูมิสีมาหักล้างกัน มีหน่วยวัดเป็นองศาเคลวิน(Degree Kelvin) อธิบายให้เห็นภาพ สมมุติว่าเราเอาไฟสีน้ำเงินส่องกระดาษสีขาว พอถ่ายรูปออกมาจากกระดาษสีขาวจะกลายเป็นสีอมน้ำเงิน8,000K) วิธีแก้ก็คือใส่สีแสงตรงข้ามกับสีน้ำเงิน ซึ่งก็คือสีส้ม(3,000K) กระดาษก็กลับมาขาวดังเดิม

เพื่ออธิบายที่ไปที่มาของอุณหภูมิสี(Color Temperature) ผมขอพูดถึงเรื่องของหลักการแผ่รังสีของวัตถุดำ(Black Body)ก่อน เอาแบบที่เข้าใจง่าย ๆนะครับ การแผ่รังสีของวัตถุดำ คือการที่เราเอาแท่งเหล็กสีดำมาให้ความร้อน เมื่ออุณหภูมิเหล็กแท่งสีดำ(วัตถุดำ)ร้อนมากกว่า 2,000 K (หรือประมาณ 2,000 – 273 =1,727 องศาเซลเซียส) เหล็กจะปล่อยคลื่นแสงออกมาเป็นสีแดง เมื่อเหล็กเริ่มร้อนขึ้นเรื่อย ๆ เพิ่มเป็น 8,000 K แท่งเหล็กสีดำก็เปล่งสีออกมาเป็นน้ำเงิน ส่วนใครมีคำถามว่าแล้วถ้ามันร้อนน้อยกว่า 2,000K ทำไมไม่เห็นมีสี จริง ๆแล้วมันมีสีนะครับ เพียงแต่ตามนุษย์เรามองไม่เห็น เพราะมันคือคลื่นความถี่ที่ต่ำกว่าแสงสีแดง(พวกคลื่นวิทยุ, คลื่นอินฟราเรด) ดังนั้นแสงที่เปล่งออกมาจากวัตถุดำจะมีสีเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิความร้อนที่ได้รับ จากความสัมพันธ์เราสามารถกำหนดให้โทนสีของแสงให้อยู่ในรูปที่เป็นหน่วยองศาเคลวิน นั่นเอง

การควบคุม White balance จะช่วยทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนอุณหภูมิสีของภาพถ่ายได้ ซึ่งสามารถตั้งค่าได้จากหลังกล้องหรือในโปรแกรมแต่งภาพก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น Light room  Photoshop หรืออะไรก็ตาม ก็สามารถทำได้หมด โดยส่วนตัวแล้วผมจะถ่ายภาพเป็น RAW แล้วใช้ Auto White balance ไปเลย เพื่อจะได้ไม่เสียเวลานั่งปรับตอนจังหวะแสงมาแบบเด็ด ๆ เช่น แสงอาทิตย์ผ่านช่องรูเมฆ ซึ่งการเปิด Auto White balance กล้องมันจะคำนวณค่าสมดุลแสงให้เอง แต่บางครั้งมันก็คำนวณผิดอยู่บ่อย ๆ ซึ่งไม่เป็นไรค่อยเอาไปปรับแก้ในโปรแกรมเองได้ แต่ผมขอย้ำนะครับว่าการใช้ Auto White balance ควรจะต้องถ่ายเป็นไฟล์ RAW นะครับ เวลาปรับแก้มันจะได้ดึงง่ายขึ้น ส่วนสำหรับใครที่ปรับหลังกล้องผมก็จะอธิบายความหมายต่าง ๆของแต่ละค่าในกล้องที่มีให้นะครับ

  • Tungsten แก้ภาพที่ออกสีส้มเกินไปในภาพโดยใส่สีน้ำเงินหรือสีฟ้าเข้าไปหักล้าง
  • Fluorescent  แก้ภาพที่ออกสีเหลืองในภาพโดยใส่สีน้ำเงินอมม่วงลงไปหักล้างในภาพ
  • Flash แก้ภาพที่ออกสีเหลืองนิด ๆในภาพโดยใส่สีน้ำเงินอ่อนลงไปหักล้างในภาพ
  • Cloudy แก้ภาพที่ออกสีฟ้านิด ๆในภาพโดยใส่สีเหลืองอ่อนอมม่วงลงไปหักล้างในภาพ
  • Daylight แก้ภาพสีออกฟ้าๆในภาพโดยใส่สีเหลืองลงไปหักล้างในภาพ
  • Shade แก้ภาพที่ออกสีน้ำเงินในภาพโดยใส่สีส้มลงไปหักล้างในภาพ

บทความอื่น ๆที่น่าสนใจ

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(Narit)

พี่นัน Atomiczen