การถ่ายภาพดาว

การถ่ายภาพดาวเบื้องต้น

Highlight

  • การถ่ายภาพดาวจะใช้เทคนิคเปิดหน้ากล้องนาน ๆ(Low speed shutter) จำเป็นต้องมีขาตั้งกล้อง สำหรับกล้องที่ใช้ถ่ายดาวก็เป็นกล้องถ่ายรูปทั่ว ๆไปที่สามารถปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ รูรับแสง ความไวแสง ได้ตามที่เราต้องการ (DSLR MLR โทรศัพท์มือถือบางรุ่น)
  • วิธีการโฟกัสในที่มืด ให้เปิด Auto Focus แล้วเล็งโฟกัสไปที่แสงสว่างระยะไกล ๆ (ไฟทาง ไฟบ้าน ไฟในเต็นท์ ไฟจากเพื่อน) เมื่อโฟกัสเสร็จแล้วให้เปลี่ยนเป็น Manual Focus แล้วหันเลนส์กล้องไปที่ท้องฟ้าเลย ส่วนค่ากล้องที่ผมใช้ถ่ายดาวบ่อย ๆ จะใช้ประมาณ Speed shutter 15-20 วินาที 5 iso 3200-6400 (NikonD610)
  • เรื่องของการถ่ายดาวไม่ให้ยืดเป็นเส้นจะต้องใช้ กฎ 400/600 สรุปง่าย ๆเลย ถ้าเป็นกล้องฟูลเฟรมให้เอา 600/ระยะเลนส์ ส่วนกล้องตัวคูณให้ 400/ระยะเลนส์ ค่าที่ได้คือจำนวนวินาทีที่ไม่ควรเปิด speed shutter เกิน เช่นผมใช้กล้องฟูลเฟรมถ่ายด้วยระยะเลนส์ 24 mm ผมจะเปิด speed shutter ได้ไม่เกิน 600 / 24 = 25 วินาที

1. มีกล้อง DSLR หรือ MRL แล้วอยากถ่ายดาวต้องทำยังไง

ต้องบอกก่อนว่า “ผมเองชื่นชอบดาราศาสตร์มาตั้งแต่สมัยประถมแล้ว ถึงกับซื้อหนังสือนอกมาอ่าน ” ซึ่งผมเองก็อ่านแต่ทฤษฎี แต่ก็ไม่รู้ว่าถ้าอยากเห็นทางช้างเผือกของจริงเนี่ยต้องทำอย่างไร หรือวัตถุบนท้องฟ้าต่าง ๆ เราจะสามารถถ่ายรูปดาวได้ด้วยฝีมือตัวเองได้หรือไม่ ในแบบที่งบประมาณไม่ได้สูงมาก จนกระทั่งผมเรียนอยู่ ม.ปลาย ก็มีวิชาเรียนโลกและดาราศาสตร์ ก็หวังว่าเออน่าจะมีสอนถ่ายดาว แต่ปราฎว่าไม่มีครับ ก็สงสัยว่าการถ่ายดาวบนท้องฟ้ามันยากขนาดนั้นเลยหรือ เมื่อก่อนผมมีแค่กล้อง DSLR Canon รุ่น 450D แล้วลองเอามาถ่ายบนดาวฟ้า โอ้โหวไม่เห็นครับ ก็เลยลองเปิดแฟลช เพราะเขาบอกว่าถ่ายที่มืดต้องใช้แฟลช ก็ไม่เห็นอีก(นี่ถ้าอาจารย์ฟิสิกส์รู้เรื่องนี้ละแทบจะเอาเกรด 4 ของผมคืนแน่นอน) เพราะจริง ๆแล้วหลักการของแฟลชคือการเอาแสงจำลองที่สว่างไปสะท้อนกับวัตถุในช่วงเสี้ยววินาทีกลับมายังเซนเซอร์ แล้วลองคิดดูว่าดาวอยู่ห่างจากโลกเราเป็นระยะปีแสง มันก็คงไม่สะท้อนกลับมาที่เซนเซอร์กล้องภาย 1/60 วินาทีหรอก คิดแล้วก็ขำตัวเอง แล้วผมมารู้วิธีการถ่ายดาวจริง ๆก็ตอนเข้าชุมนุมถ่ายภาพที่มหาลัย ต้องขอบคุณพี่ ๆจากชมรมถ่ายรูปวิศวะลาดกระบัง มา ณ ที่นี้ด้วย โอเคผมพล่ามมานานมาเข้าเนื้อหาสาระกันดีกว่า จริง ๆแล้ววิธีการถ่ายดาวจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Low speed shutter  ” หรือการเปิด  speed shutter  นาน ๆ และแน่นอนว่าขาดขาตั้งกล้องไม่ได้เลย

  • Speed shutter คือ ความเร็วชัดเตอร์ที่มันดัง แชะ ๆ อะครับ อย่างเปิด ss 1 วินาที ก็คือ เสียง แชะ แชะ เว้นช่วง 1 วินาที ตัวเลขมากยิ่งรับแสงมากภาพจะสว่าง
  • F คือ รูรับแสง ตัวเลขน้อยรูรับแสงกว้าง สรุปคือตัวเลขยิ่งน้อยรูปภาพจะสว่างขึ้น
  • ISO คือ ความไวแสง ค่ามากรับแสงได้มาก ภาพสว่างขึ้น แต่ Noise ก็มากตาม เอาไว้เพิ่มหลังสุด

โดยทั่วไปแล้วการถ่ายดาวควรใช้เลนส์ที่มีระยะกว้างที่สุดเท่าที่เรามีหรือตามงบประมาณในกระเป๋า ซึ่งผมเองก็ใช้เลนส์คิท 24-85mm ธรรมดา ๆ ของค่าย NIKON นี่แหละครับ แต่ของผมเป็นระยะ Full Frame ซึ่งจะเทียบเท่ากับตัวคูณประมาณ 16-55mm สำหรับใครขี้เกียจอ่านต่อ ผมจะให้ค่ามาตราฐานการ Set ค่ากล้องดังนี้ครับ ใช้ได้เกือบทุกที่

  • Speed Shutter 15-20s f1.8-3.5 iso 1600-6400 เพิ่มลดตามความสว่างของท้องฟ้าเลย ส่วนใครมีเลนส์ที่เปิด 8 ก็ให้เปิดที่ 1.8 ใครมี f3.5 ก็เปิด 3.5 แล้วดัน iso ชดเชยเอา (ใครมี f1.8 เปิด iso 800-1600 ก็พอครับ)
ภาพถ่ายดาว บ้านปางมะโอ
ภาพถ่ายดาว บ้านปางมะโอ จ.พะเยา : iso 1600 f1.8 Speed shutter 20 s

2. โฟกัสยังไง ตั้งค่าได้ แต่โกัสไม่ได้สักที

ผมเองก็เคยเป็นปัญหา แต่รุ่นพี่ที่ชมรมสอนผมไว้ว่าให้เปิด Auto Focus แล้วเล็งไปยังจุดแสงไฟไกล ๆ ดวงเล็ก ๆ พอมันโฟกัสเสร็จก็ปรับเป็น Manual Focus เเล้วเงยกล้องขึ้นไปบนท้องฟ้าโลดด!! แต่ๆมีครั้งหนึ่งผมถามพี่ว่า พี่ครับ ถ้าเราไปอยู่ในป่าไม่มีแสงไฟอ้างอิงจากบ้านใครเลยทำไง คำตอบก็คือให้เพื่อนที่ไปด้วยถือไฟฉายแล้วเดินไปไกล ๆ ประมาณ 10 ก้าวยาว ๆ แล้วเล็งไปที่ไฟฉายเพื่อนเลย หรือถ้าไม่มีเพื่อนก็เอาไฟฉายไปตั้งไกล ๆ แล้วเล็ง ส่วนวิธีสุดท้ายคือหมุนโฟกัสไปที่ระยะอนันต์เลย แต่วิธีนี้ไม่ค่อยชัวร์เท่าไหร่ เพราะเลนส์บางตัวมันชัดก่อนระยะอนันต์นิดหน่อย

แล้วทำไมต้องเดินห่างไป 10 ก้าวด้วย? จริง ๆแล้วมันมาจากระยะ Hyperfocal Distance ซึ่งถ้าสมมุติผมใช้เลนส์ระยะ 24 mm (Full frame) หรือ 16 mm (ตัวคูณ) ถ้าเปิด f กว้างสุด 2.8 ระยะ Hyperfocal Distance จะเท่ากับ 6.69 เมตร โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์เราจะก้าวยาว ๆ ก้าวละประมาณ 0.90 เมตร ดังนั้น  7.4333 ก้าว ถ้าตีเป็นตัวเลขกลม ๆ ก็ 8 ก้าว (ปัดขึ้น เพราะถ้าปัดลงระยะจะไม่ถึง) แต่คราวนี้ผมไม่รู้ว่าแต่ละคนใช้ระยะเลนส์ขนาดเท่าไหร่ ก็เลยให้ไปประมาณ 10 ก้าว ง่ายดี ส่วนสูตรคำนวณด้านล่างเอาไว้เผื่อใครใช้เลนส์ซูมถ่ายวัตถุบนท้องฟ้า(เนบิวลา แอนโดรเมดา)

จำนวนก้าว =  Hyperfocal Distance / 0.90   เศษปัดขึ้นทั้งหมด

ขอสมมุติอีกหนึ่งตัวอย่าง ถ้าผมต้องการเนบิวลาร์นายพราน(Nebular Orion)ด้วยเลนส์ระยะ 85 mm f5.6 ผมจะต้องโฟกัสไฟฉายจากเพื่อนที่อยู่ห่างกับผมประมาณ 42/0.90 =  47 ก้าว หรือเกือบหนึ่งระยะเสาไฟเลยทีเดียว

ภาพถ่ายเนบิวลานายพราน ดอยเสมอดาว น่าน
ภาพถ่ายเนบิวลานายพราน ดอยเสมอดาว จ.น่าน : iso 25600 f4.5 Speed shutter 8 s @85mm รีวิวดอยเสมอดาวเพิ่มเติม >>> ดอยเสมอดาว

3. ดัน Iso สูง ๆแก้การเกิด Noise ได้ยังไงดี

การดัน iso มันคือการขยายช่วงความถี่รับแสง เดิมเซนเซอร์จะรับช่วงแสงที่ตาเราเห็น แต่ทีนี้วัตถุมันมืดเราเลยเปิด iso เพื่อขยายช่วงความถี่(Bandwidth) ทำให้สัญญาณรบกวนต่าง ๆในสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งรังสีจากอวกาศก็สามารถเข้ามารบกวนเซนเซอร์ ทำให้ภาพเกิดเป็นจุด ๆหรือสีเพี้ยนไป

  • แสง(Light) เป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีความยาวคลื่นตั้งแต่ 400600 nm ซึ่งเป็นช่วงความถี่ที่เรามองเห็น การขยายสัญญาณ ทำให้คลื่นอื่น ๆ ที่เรามองไม่เห็นมารบกวนจึงเกิดจุด ๆขาว ๆ สี ๆในภาพ ที่ดูแล้วไม่พึงประสงค์เท่าไหร่

วิธีแก้เบื้องต้น อาจใช้ฟังก์ชันลด Noise ของโปรแกรม Light room ก็พอเอาอยู่นะ แต่ถ้าปรับมากภาพจะกลายเป็นวุ้น แต่คราวนี้ผมจะพามารู้จักการถ่าย Dark Frame ซึ่งการถ่าย Dark Frame ผมขออธิบายง่าย ๆ สมมุติว่าเราถ่ายดาวด้วยการตั้งค่าหนึ่ง(iso,ss,f) ให้เราถ่ายรูปอีกใบแบบปิดหน้ากล้องที่มีค่าต่าง ๆเท่ารูปเดิม ดังนั้น เราจะได้รูปที่มีดาวและรูปหน้าจอดำแบบมี Noise มาอย่างละ 1 รูป ต่อมาให้เราเอาทั้ง 2 รูปไป merge กันในโปรแกรม Photoshop แล้วเราจะได้รูปที่มี Noise ลดลง เพราะว่าเราเอารูปที่เป็น Noise พื้นหลังดำ ไปหักล้างกับ Noise ในรูปภาพปกติ นั่นเอง

กล้องบางรุ่นอย่าง Nikon D610 ก็จะมีให้เปิดโหมดลด Noise ในที่ความไวแสงสูง เมื่อเราเปิดถ่ายดาว 20 วินาที เราจะต้องรออีก 20 วินาที เพื่อถ่าย Dark Frame โดยรวมแล้วภาพดาว 1 ภาพจะใช้เวลา 40 วินาที อย่างไรก็ตามการลด Noise ด้วยการถ่าย Dark Frame แบบนี้จะเป็นการลด Noise แบบ Chromatic Noise (Noise แบบเม็ดสี)ได้ดี สำหรับ Luminance Noise ก็อาจจะลดได้นิดหน่อย ซึ่งที่จริงแล้วจะมีวิธีการถ่ายอีกเยอะมากที่จะลด Noise ไม่ว่าจะเป็น Flat Frame , Bias Frame เอาไว้เดี๋ยวไว้ลงลึกๆให้ทีหลังครับ ตอนนี้เอาแค่เบื้องต้นเท่านี้ก่อนละกัน

ภาพถ่ายดาว บ้านสะปัน น่าน
ภาพถ่ายดาว บ้านสะปัน จ.น่าน : iso 3200 f3.5 Speed shutter 25 s รีวิวบ้านสะปันเพิ่มเติม >>> บ้านสะปัน น่าน

4. เปิด Speed shutter อย่างไรไม่ให้ดาวยืดเป็นเส้น ด้วยกฎ 400/600

เนื่องจากว่าโลกของเราเป็นทรงกลมมีทั้งหมด 360 องศา และหมุนรอบตัวเอง 24 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าท้องฟ้าจะเปลี่ยนแปลง 15 องศาต่อ 1 ชม. หรือ 0.25 องศาต่อนาที ดังนั้นถ้าเราเปิด Speed shutter นาน ๆ ดาวจะยืดเป็นเส้น แล้วมีวิธีแก้อย่างไร? หลายคนอาจจะเคยได้ยินกฎ 400/600 กันมาบ้างแล้ว แล้วมันใช้อย่างไรละ? ผมขอสรุปแบบง่าย ๆ เลยนะครับ

  • สำหรับกล้อง Full Frame (NikonD600-D850,Cannon D5-D6 Mark II – III , Sony A7-A9 Mark II – III) ให้ใช้ 600 / ระยะเลนส์ เช่น ผมใช้ระยะเลนส์ 24 mm จะเปิดสปีดชัตเตอร์ ได้ไม่เกิน 600/24 = 25 วินาที ถ้ามากกว่านี้ดาวจะเริ่มค่อย ๆ ยืดเป็นเส้น
  • สำหรับกล้อง ตัวคูณ (NikonD3000-D7200,Cannon 500D-700D, Sony A6000 – A6500) ให้ใช้ 400 / ระยะเลนส์ เช่น ผมใช้ระยะเลนส์ 18 mm จะเปิดสปีดชัดเตอร์ ได้ไม่เกิน 400/18 = 22 วินาที ถ้ามากกว่านี้ดาวจะเริ่มค่อย ๆ ยืดเป็นเส้น แต่ระยะช่วงห่าง stop ของกล้องส่วนใหญ่จะเป็น 20 วินาที แล้วไป 25 วินาที ดังนั้นให้ใช้ 20 วินาที นะครับ เพราะถ้าใช้ 25 วินาทีมันจะเกินจากที่เราคำนวณ(25>22>20)

แต่จากประสบการณ์ผมแล้ว ถ้าหากเราใช้กฎ 400/600 แล้วลองซูมภาพเข้าไปใกล้ ๆ 100% จะเห็นเลยว่าดาวจะเคลื่อนที่อยู่นิดๆ ซึ่งแปลว่า กฎ 400/600 มันอาจจะใช้ไม่ได้ มันเป็นแค่ระยะประมาณเท่านั้น หากใครซีเรียสว่าต้องพิมพ์ภาพขนาดใหญ่ หรือถ่ายวัตถุอวกาศ (Deep sky object) แล้วต้องการดาวยืดน้อยที่สุด ผมก็มีวิธีคำนวณง่ายๆ ดังนี้

t = (ขนาดของ 1 พิกเซลล์ x 13,750) / ความยาวโฟกัสของเลนส์

ขนาดของ 1 พิกเซลล์ = ตัวเลขด้านยาวของเซนเซอร์ x ตัวเลขด้านยาวของขนาดพิกเซลล์

สมมุติว่ากล้อง Nikon D610 ขนาดเซนเซอร์ 35.9 x 24mm และมีขนาดพิกเซลล์ 6016 x 4016 pix แล้วผมใช้เลนส์ระยะความยาวโฟกัส 24 mm ดังนั้น ขนาดของ 1 พิกเซลล์ = 35.9/6016 = 0.00596742 mm แปลว่าแสงดาวจะตกในพื้นที่ 1 พิกเซลล์ ใช้เวลา = ( 0.00596742 x 13750 ) / 24 = 3.41 วินาที คราวนี้ถ้าผมยอมให้ดาวยืดออกมานิดหน่อยไม่เกิน 6 พิกเซลล์ ผมก็จะต้องเปิด speed shutter ไม่เกิน = 3.41 x 6 = 20.46 วินาที หรือ 2o วินาที ถ้าผมกำหนดให้ x เป็นตัวเลขกฎ นั่นหมายความว่า x/24=20 ->  x=480 ดังนั้นกล้อง Nikon610 ของผมจะต้องใช้กฎ 480 ไม่ใช่ 600 หรืออย่างในกล้อง 700D(กล้องตัวคูณ) ซึ่งปกติจะใช้กฎ 400 แต่จริง ๆแล้วต้องใช้กฎ 230 นะครับ เรียกได้ว่าค่า speed shutter ผันแปรต่างจากกฎ 400/600 ที่ใช้กันถึง 5-10 วินาทีกันเลยทีเดียว

ภาพถ่ายดาว ปางอุ๋ง แม่ฮ่องสอน
ภาพถ่ายดาว ขณะที่สถานีอวกาศนานาชาติวิ่งผ่านเหนือท้องฟ้าช่วงหัวค่ำ ปางอุ๋ง จ.แม่ฮ่องสอน : iso 3200 f3.5 Speed shutter 30 s x 3 ใบ รีวิวปางอุ๋งเพิ่มเติม >>> ปางอุ๋ง แม่ฮ่องสอน

5. พิกัดท้องฟ้าแบบเร่งรัด

ในหัวข้อก่อน ๆผมพูดถึงเทคนิคการถ่ายดาวด้วยกล้องดิจิตอลไปกันแล้ว แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือเรื่องของพิกัดท้องฟ้า จริง ๆแล้วเรื่องนี้ควรสอนนวิชาดาราศาสตร์มาก ๆ แต่กลับไม่มี ทั้ง ๆที่มันมีโอกาสได้ใช้จริงมากที่สุด และไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย “พิกัดท้องฟ้า” เป็นการระบุตำแหน่งดาวที่เราต้องการจะถ่ายว่าอยู่ส่วนไหนของท้องฟ้าจากแผนที่ดูดาวหรือแบบจำลองท้องฟ้า พิกัดท้องฟ้าจะมีอยู่ 2 ค่าเท่านั้น

มุมอาซีมุท (Azimuth: AZ) หรือมุมทิศในแนวระนาบขอบฟ้า ซึ่งจะมีทั้งหมด 360 องศา โดยที่ทิศเหนือจะมีค่าเท่ากับ 0 หรือ 360 องศา ทิศตะวันออก 90 องศา ทิศใต้ 180 องศา ทิศตะวันตก 270 องศา (มุมอาซิมุทไม่เกี่ยวกับมะเขือเทศเขตร้อนอะไรนะ ใครไม่เก็ทมุขไปเสริชหาในอากู๋เลย 5555)

มุมอัลติจูด (Altitude: ALT) หรือมุมแนวตั้งจากขอบฟ้า ภาษาชาวบ้านเรียก “มุมเงย” ซึ่งจะมีทั้งหมด 90 องศา โดยที่ขอบฟ้ามีมุมเงยเท่ากับ 0 องศา และเหนือหัวศีรษะเรามีค่ามุมเงยเท่ากับ 90 องศา

ขอยกตัวอย่างการใช้ สมมุติผมเปิดแผนที่ดาวเพื่อหาตำแหน่งแอนโดรเมดา เวลา 20:00 ของวันที่ 24 พฤศจิกายน พบว่ามี  AZ=40 องศา ALT=55 องศา แน่นอนว่าในทางปฏิบัติการจะหามุมทิศจริงยากมากถ้าไม่มีเครื่องมือวัด  เอาแค่จะหาทิศเหนือยังยากเลย แล้วถ้าใครบอกว่าให้ดูดาวเหนือบอกเลยว่าอีกเป็นชาติก็หาไม่เจอ เพราะดาวเหนือในไทยทำมุมต่ำมาก อย่างดอยเสมอดาวตั้งอยู่ละติจูด 18 องศาเหนือ ซึ่งดาวเหนือจะทำมุมเงยจากขอบฟ้าเพียงแค่ 18 องศา เท่านั้น โอกาสโดนต้นไม้บังสูงมาก ยิ่งไปอยู่ภาคใต้แทบจะมองไม่เห็นดาวเหนือเลย ดังนั้นวิธีการหามุมอาซีมุทแบบง่าย ๆ ก็เปิดแอปเข็มทิศในไอโฟนเลยครับ ง่ายที่สุดแล้ว 5555 มีบอกองศาละเอียดยิบ หรือถ้าหากใครไม่มีมือถือ(อารมณ์เข้าป่าแล้วแบตหมด) ในช่วงฤดูหนาว(ตุลาคม-เมษายน)ให้ดูจากลุ่มดาวนายพรานได้เลยครับ เพราะแขนของดาวนายพรานจะชี้ไปทิศเหนือเสมอ หรือจำรูปข้างล่างไปเลยก็ได้ครับ ส่วนทำไมต้องจำดาวนายพรานด้วย? ก็เพราะเป็นกลุ่มดาวที่สังเกตเป็นรูปเป็นร่างตามสามัญสำนึกคนทั่วไปได้มากที่สุดนั่นเอง

แต่ปัญหาที่ยากจริง ๆ กลับไม่ใช่มุมอาซีมุทแต่เป็น”มุมเงย” ครับ เพราะเราแทบไม่มีอุปกรณ์วัดเลย(มันมีแต่ราคาแพงมาก ๆ) ดังนั้นเพื่อความประหยัดเงินในกระเป๋า วิธีง่ายที่สุดให้กำมือแล้วยื่นแขนออกไปในระดับสายตา ให้ส่วนล่างกำมือ(นิ้วก้อย)อยู่ตรงขอบฟ้า ส่วนบนของกำมือ(นิ้วชี้)จะมีค่ามุมเงย ประมาณ 10 องศา ดังนั้นถ้าจะหามุมเงย 55 องศา 1 กำมือขยับขึ้น 5 ครั้ง แล้วขยับครึ่งหนึ่ง 1 ครั้ง หรืออาจจะใช้นิวมือก็ได้ ถ้าเราเอานิ้วชี้ไปที่ท้องฟ้า โดยส่วนล่างนิ้วชี้อยู่ที่ขอบฟ้าส่วนบนของนิ้วชี้จะมีค่ามุมเงย = 1 องศา ทั้งหมดที่ผมเขียนมาเป็นเทคนิคการวัดดาวแบบ Manual ที่ผมใช้มาตลอด แต่ถ้าใครมีวิธีที่ดีและแม่นยำกว่านี้ก็เอาตามที่ถนัดเลย หรือใครเงินเหลือ ก็ไปซื้อหัวขาตั้งกล้องแบบตามดาวได้ บอกเลยว่ารูปที่ได้จะพีคมาก ๆ แต่ว่าหัวนึงราคาประมาณ 30,000-50,000 บาท

ภาพถ่ายกลุ่มดาวนายพราน บ้านนาเลาใหม่ เชียงใหม่
ภาพถ่ายกลุ่มดาวนายพราน บ้านนาเลาใหม่ จ.เชียงใหม่ : iso 6400 f3.5 Speed shutter 25 s รีวิวบ้านนาเลาเพิ่มเติม >>> บ้านนาเลา เชียงใหม่

6.มลภาวะทางแสง(Light Pollution) อุปสรรคที่แท้จริงของนักล่าดาว

นอกจากเมฆหมอกบนท้องฟ้าแล้ว มลภาวะทางแสง ก็ถือเป็นอุปสรรคต่อการถ่ายดาวมาก ๆ อย่างใครอยู่ในเมืองหลวงไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑล หรือแม้กระทั่งเขตอุสาหกรรมภาคตะวันออก จะได้รับผลกระทบกับมลภาวะทางแสงทั้งนั้น ยิ่งใกล้เขตเมืองมากเท่าไหร่ Light pollution ก็มากตาม บางที่ถึงขนาดไม่สามารถมองเห็นดาวนายพรานได้เลย ดังนั้นหากใครต้องการล่าดาวจริง ๆ แนะนำให้ไปสถานที่ให้ห่างไกลจากตัวเมืองให้มากที่สุด อย่างน้อยก็ 30-60 กิโลเมตร

จากในภาพประเทศไทยโดยส่วนใหญ่แล้วมีปัญหามลภาวะทางแสงทั้งนั้น ก็ไม่แปลกที่คนไทยส่วนมากห่างไกลดาราศาสตร์แล้วมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ในปัจจุบันประเทศไทยเหลือพื้นที่ปลอดมลภาวะทางแสงไม่มาก ส่วนมากจะอยู่ทางแถบตะวันตกและตอนเหนือของประเทศไทย เช่น ดอยเสมอดาว บ้างปางมะโอ ภูชี้ฟ้า  บ้านนาเลา ยอดดอยอินทนนท์(ยอดดอยเท่านั้นนะ) บ้านสะปัน และแถบผืนป่าตะวันตกของไทย สำหรับพื้นที่มีมลภาวะทางแสงต่ำแล้วใกล้เมืองหลวงมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นเขาใหญ่หรือแถบกาญจนบุรีนั่นเอง

ภาพถ่ายดาวตก เขาตะคียนโง้ะ เพรชบูรณ์
ภาพถ่ายดาวตก เขาตะคียนโง้ะ จ.เพรชบูรณ์ : iso 3200 f3.5 Speed shutter 15 s

นอกจากนี้มลภาวะทางแสงไม่ใช่เพียงแค่แสงเยอะเท่านั้นนะครับ ฝุ่นละอองในอากาศก็มีผลต่อการกระเจิงของแสงเช่นกัน ยิ่งปริมาณฝุ่นละอองมากก็ทำให้แสงไฟจากเมืองกระเจิงเข้าสู่บรรยากาศได้มาก ดังนั้นจะสังเกตได้เลยว่าวันไหนที่มีหมอกหรือฝุ่นควันปกคลุมเมืองวันนั้นแทบจะเห็นดาวน้อยมากหรือไม่เห็นเลย ดังนั้นผมสรุปให้เลยว่า ท้องฟ้าจะเห็นดาวได้ดีต้องห่างไกลจากเมือง และฝุ่นละอองในอากาศต้องน้อย แน่นอนว่าบนภูเขาทางภาคเหนือจึงมีหลายที่สามารถเห็นดาวได้โคตรชัด เพราะบนภูเขานอกจากอยู่เหนือแสงไฟเมือง แล้วยังอยู่เหนือหมอกหรือชั้นฝุ่นละอองอีกด้วย ส่วนสถานที่แนะนำดูดาวเบื้องต้นเลย ก็คงหนีไม่พ้น “ดอยเสมอดาว” ดาวที่นี่ชัดจริง ๆ ไม่อิงนิยาย ใครจะหัดล่าดาวต้องมาที่นี่โลด

ภาพถ่ายดาว ดอยอ่างขาง เชียงใหม่
ภาพถ่ายดาว ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ : iso 1600 f3.5 Speed shutter 15 s รีวิวดอยอ่างขางเพิ่มเติม >>> ดอยอ่างขาง เชียงใหม่

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(NARIT)

Nikon Thailand