วัดมิ่งเมือง น่าน
Highlight
- วัดมิ่งเมือง จุดเด่นของวัดนี้คือมีโทนสีขาว และเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองน่าน หากใครมีเวลาแนะนำให้แวะไปถ่ายรูปครับ
1. วัดมิ่งเมือง พระวิหารโทนขาวของเมืองน่าน
ความโดดเด่นของ “วัดมิ่งเมือง” ก็คือพระวิหารที่มีลักษณะเป็นลายปูนปั้นผนังด้านนอกโทนสีขาวทั้งหมด(ใครจะบอกว่าคล้ายกับวัดร่องขุ่นก็ได้ ผมไม่เถียงฮ่า ๆ) ภายในพระวิหารมีองค์พระพุทธรูปปูนปั้นสีทองศิลปะแบบเชียงแสน อายุมากกว่า 400 ปี ซึ่งมีนามว่า “หลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง” นอกจากนี้ภายในพระวิหารยังมีจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน และประวัติความเป็นมาตั้งแต่ สมัยเจ้าพญาภูคา ผู้ครองนครน่านองค์แรก จนถึงสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดาเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย เขียนโดยจิตกรสวรรค์พื้นเมืองน่าน นอกจากนี้สถาปัตยกรรมตัวอาคารสีขาวยังถูกออกแบบโดยช่างชาวจังหวัดน่านในยุคปัจจุบันด้วย เรียกได้ว่าเป็นวันที่ Develop by คนน่านแท้ ๆ เลยครับ “วัดมิ่งเมือง” ตั้งอยู่บริเวณถนนสุริยพงศ์เส้นเดียวกับวัดภูมินทร์ ซึ่งห่างจากวัดภูมินทร์ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 250 เมตร เลยศูนย์ขายของฝากเมืองน่านไปประมาณ 100 เมตร สามารถเดินจากวัดภูมินทร์มาได้ไม่ไกลมาก
2.เสามิ่งเมือง เสาหลักเมืองน่าน
“วัดมิ่งเมือง” เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน เสาหลักเมืองจะตั้งอยู่ในศาลาจตุรมุขสีขาว เสาทำจากอิฐปูนสูงประมาณ 1.50 เมตร และฐานสูงประมาณ 1 เมตร ประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลายสีทอง ยอดเสาแกะสลักรูปหน้าพระพรหมที่แสดงถึง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ส่วนใครที่เป็นสายบุญตามความเชื่อแล้ว “ หากมีโอกาสได้มาเมืองน่าน ก็ควรมาไหว้สักการะสักครั้ง และควรไหว้ทั้งหมด 4 ทิศ ” เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต เพราะแต่ละทิศก็มีความหมายแตกต่างกัน เริ่มจากทิศเหนือ(อำนาจ บารมี) ทิศตะวันออก(เสน่ห์เมตตามหานิยม) ทิศใต้(ความมั่งคั่งร่ำรวย) ทิศตะวันตก(ความสงบร่มเย็นเป็นสุข ทั้งนี้เป็นความเชื่อนะครับ สุดท้ายแล้วชีวิตเราจะดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่การกระทำของเราแหละครับ
เมื่อก่อนเมืองน่านไม่ได้มีคติความเชื่อเรื่องเสาหลักเมืองนะครับ แต่เนื่องจาก “เจ้าอัตถวรนปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน” ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(รัชกาลที่ 1) ที่กรุงเทพมหานคร และได้เข้าร่วมพิธีฝังเสาหลักเมืองในกรุงเทพ ต่อมาท่านจึงโปรดให้สร้างเสาหลักเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2331 ที่วัดมิ่งเมือง เดิมเรียกว่า “เสามิ่งเมือง” แต่ในปัจจุบันเพื่อให้ดูเป็นทางการมากขึ้นจึงเรียกกันว่า “เสาหลักเมืองน่าน” แต่ถ้าไปเปิดประวัติศาสตร์กันจริง ๆ ความเชื่อเรื่องเสาหลักเมืองนี่พึ่งมามีตอนสมัย ร.1 นี่แหละครับ
เดิมเป็นเสาหลักเมือง เป็นท่อนซุงทำจากไม้สักทองขนาดใหญ่ 2 คนโอบหรือเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.90 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร เป็นเสาทรงกลม ส่วนหัวเกลาเป็นดอกบัวตูมฝังไว้กับพื้นดินโดยตรง ไม่มีศาลาครอบ ในช่วงปี พ.ศ. 2506 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำในแม่น้ำน่านได้ทะลักเข้าท่วมตัวเมืองน่านอย่างรุนแรง ทำให้กระแสน้ำเซาะโคนเสาหลักเมืองจนโค่นลง เจ้าอาวาสวัดจึงได้ผูกมัดเสาไว้กับหอกลองหลังวัด พอน้ำลดลงเป็นปกติ เจ้าอาวาสและชาวบ้านในชุมชนแถบวัดมิ่งเมืองร่วมกันสร้างเสาหลักเมืองใหม่ ณ ที่เดิมโดยทำเสาก่อด้วยอิฐปูนนั่นเอง
“วัดมิ่งเมือง” ไม่ได้ปรากฏว่าสร้างตอนไหน แต่น่าจะก่อนที่พม่ามาปกครองล้านนา (ก่อนปี พ.ศ. 2100) เพราะตามหลักฐานแผ่นทองพงศาวดาลพม่าจารึกไว้ว่า เดิมชื่อ “วัดตะละแม่ศรี” หลังจากกูกทิ้งล้างไว้ยาวนานมากหลายร้อยปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2400 สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่าน(หรือราว ๆ ปลาย รัชกาลที่ 4) ได้มีการบูรณะวัดและสถาปนาวัดใหม่ โดยตั้งชื่อว่า “วัดมิ่งเมือง” ตามชื่อเรียกเสาหลักเมืองว่า “เสามิ่งเมือง” ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 มีการรื้อถอนและสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบล้านนาร่วมสมัยจนเป็นแบบปัจจุบัน