วัดหัวข่วง

วัดหัวข่วง

Highlight

  • วัดหัวข่วง เป็นวัดที่มีพระประธานเบี่ยงซ้าย ที่ไม่เหมือนกับที่ไหนในไทย ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ท่องเที่ยวหลักในเมืองน่าน อย่างเช่น วัดภูมินทร์และวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เดินไปมาหากันได้ไม่ไกล
  • ในช่วงฤดูหนาวสามารถถ่ายวิหารวัดได้ไม่ย้อนแสงเพราะพระอาทิตย์จะเฉียงไปทางใต้ ซึ่งจะตรงข้ามกับวัดภูมินทร์ที่ช่วงนี้จะถ่ายย้อนแสงในตอนกลางวัน

1.วัดหัวข่วง วัดที่พระประธานไม่ได้อยู่ตรงกลาง สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ

“วัดหัวข่วง” นอกจากเป็นวัดที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองน่านแล้วยังเป็นวัดที่มีความแปลกไม่เหมือนวัดอื่นใดในไทยอีกด้วย แล้วสิ่งที่แปลกของวัดนี้ก็คือพระประธานเบี่ยงซ้ายนั่นเอง ถ้าหากเราเดินเข้าไปในโบสถ์แล้วลองมองไปตรง ๆ จะเห็นได้ชัดเลยว่าพระประธานไม่ตรงกับประตูโบสถ์ ส่วนสาเหตุทำไมพระประธานต้องเบี่ยงซ้าย มันมีเรื่องเล่าอยู่ว่า “เมื่อสมัยก่อนชาวบ้านคุ้มวัดหัวข่วงกับชาวบ้านคุ้มวัดภูมินทร์ทะเลาะกัน ไม่สามารถปรองดองกันได้ จนในที่สุดผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 คุ้ม ได้เห็นว่าพระประธานของวัดหัวข่วงและวัดภูมินทร์นั้นหันหน้าเผชิญกัน เพื่อให้เกิดความสงบสุข วัดหัวข่วงจึงยอมขยับพระประธานให้เบี่ยงมาทางด้านซ้าย หลังจากนั้นชาวบ้านทั้ง 2 คุ้มก็เป็นมิตรกันและสงบสุขเรื่อยมา” (คำว่าคุ้ม แปลว่าหมู่บ้านในสมัยก่อน) เรื่องราวนี้ถูกเล่าต่อกันมามากกว่า 500 กว่าปีแล้ว จนถึงปัจจุบันพระประธานไม่ได้ถูกขยับไปไหนอีกเลย ชาวบ้านแถบนี้จึงถือว่าเป็นพระประธานแห่งสันติภาพและมีความเชื่อว่า “ หากใครที่มาไหว้ก็จะพบกับความสันติสุข ใครที่ทะเลาะกัน คู่รักที่บาดหมางกัน มาไหว้พระที่นี่ก็อาจจะคืนดีกันได้ ”

วัดหัวข่วง น่าน

วัดหัวข่วง น่าน

วัดหัวข่วง น่าน

“วัดหัวข่วง” ตั้งอยู่ในถนนมหาพรม เขตเวียงเก่าน่าน ใกล้กับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน  อยู่ห่างจากวัดภูมินทร์ไปทางทิศเหนือ 150 เมตร และประตูวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 130 เมตร สามารถเดินเที่ยวไปมาได้ในแบบสบายมาก ใครมาเที่ยวเมืองน่านแล้วมีเวลาลองแวะมาดูได้ “วัดหัวข่วง”ไม่ปรากฎว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยใด แต่มีการสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยล้านนาตอนกลางค่อนไปทางปลาย หรือประมาณช่วงปี พ.ศ. 2000 – 2200 (สมัยพระนเรศวรฯ) แต่มีหลักฐานการบูรณะครั้งแรกในปี พ.ศ. 2425 โดย เจ้าอนันตวรฤทธิเดช ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 บูรณะอีกครั้งในสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าครองนครน่านองค์สุดท้าย และในปี พ.ศ. 2533 กรมศิลปากรได้ประกาศให้วัดหัวข่วงเป็นโบราณสถานแห่งชาติ  

 

วัดหัวข่วง น่าน

 

2.ภายในวัดหัวข่วงมีอะไรให้ดูบ้าง

หอธรรมวัดหัวข่วงหรือหอไตร เป็นอาคารที่มีลักษณะทรงสี่เหลี่ยมจตุรมุขใต้ถุนก่อทึบทรงสี่เหลี่ยมยอดเป็นรูปเต้าสลักลายลงรักปิดทองประดับกระจก ใช้เป็นสถานที่เก็บคัมภีร์โบราณและพระไตรปิฏก

เจดีย์วัดหัวข่วง ลักษณะของเจดีย์เป็นทรงเรือนธาตุแบบศิลปะล้านนา หรือคล้ายกับเจดีย์วัดโลกโมลีในจังหวัดเชียงใหม่ แต่มีการดัดแปลงของช่างฝีมือของชาวน่าน จากลักษณะสถาปัตยกรรมพออนุมานได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นในประมาณปี พ.ศ. 2,200

วิหารวัดหัวข่วง เป็นอาคารทรงจั่วมีหน้าบันประดับลวดลายไม้จำหลักรูปพรรณพฤกษา ประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นคล้ายกับใบผักกาด มีการเรียนแบบแบบศิลปะตะวันตก แสดงให้เห็นถึงว่าอดีตนครน่านก็มีการติดกับกลุ่มชาวตะวันตก(ฝรั่งเศษสมัยล่าอณานิคม) ทำให้วิหารที่นี่ค่อนข้างแตกต่างกับที่อื่น ๆ นอกจากนี้ภายในวิหารยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม พระพุทธรูปปางมารวิชัย ลักษณะพุทธศิลป์แบบล้านนา และยังเป็นพระประธานเบี่ยงซ้ายแห่งเดียวในไทย

3.มาช่วงไหนดีถ้าอยากจะได้รูปสวยๆ

“วัดหัวข่วง” หน้าพระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศใต้ ดังนั้นในช่วงเดือน ตุลาตาคม-มีนาคม สามารถมาได้ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น เพราะจะไม่เจอกับสภาพย้อนแสงเลย สามารถถ่ายวิหาร เจดีย์ หอไตร ได้สวยงามฉากหลังเป็นท้องฟ้า แต่หากมาช่วงเดือน เมษายน-กันยายน ตั้งแต่ 10:00 – 15:00 จะเจอกับการย้อนแสงได้ เนื่องจากพระอาทิตย์จะทำมุมเฉียงไปทางทิศเหนือ ส่วนตอนกลางคืนวัดหัวข่วงจะเงียบมาก แนะนำให้ไปถ่ายไฟวัดภูมินทร์หรือวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารจะสวยกว่า

วัดหัวข่วงในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส ในช่วงหน้าหนาว
วัดหัวข่วง น่าน
วัดหัวข่วงในวันที่ท้องฟ้ามีหมอกแดดปกคลุมจาง ๆ ในช่วงต้นเดือนมีนาคม