วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

Highlight

  • วัดพระธาตุช้างค้ำฯ อยู่ใกล้วัดภูมินทร์ สามารถเดินถึงกันได้ มีลักษณะสถาปัตยกรรมร่วมระหว่างล้านนากับอณาจักรสุโขทัย และยังเป็นวัดเก่าแก่หรือวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่านอีกด้วย ส่วนจุดชมวัดพระธาตุช้างค้ำที่ดีที่สุด จะอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน

 

1.วัดพระธาตุช้างค้ำ ไปช่วงเวลาไหนดี

ช่วงเช้า  เป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ เพราะนอกจากตอนเช้าอากาศจะดีแล้วคนยังน้อยอีกด้วย เรียกได้ว่าเหมาะกับสายถ่ายที่ต้องการแสงสีทองตอนเช้า และสายบุญที่ต้องการมาไหว้พระแบบเงียบสงบ

ช่วงเย็น เป็นช่วงเวลาที่ดีของสายถ่ายภาพที่รอเก็บตอนเย็น พร้อมถ่ายแสงไฟช่วงกลางคืน ส่วนใครเป็นสายกินในช่วงเย็นวันศุกร์-อาทิตย์ ก็จะมีถนนคนเดินให้ซื้อของกิน-ของใช้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอาหารของพื้นเมืองแนะนำว่าต้องลอง มีร้านอร่อย ๆเยอะมาก

ช่วงกลางคืน วัดจะเปิดไฟส่องที่เจดีย์เป็นสีทอง ใครสายถ่ายรูป+กิน ใครที่ไปเดินถนนคนเดินเสร็จแล้ว อย่าพึ่งกลับ แนะนำให้ไปชมความงามของวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารในช่วงยามค่ำคืน รับรองว่าสวยไม่แพ้ตอนกลางวันเลย

ช่วงกลางวัน เหมาะสำหรับสายชิว ๆ สะดวกมาตอนไหนตอนนั้น ความสวยงามก็ไม่แพ้กับช่วงเช้าหรือเย็น แต่ข้อเสียของช่วงนี้คนจะเยอะมากในช่วงวันหยุดยาวหรือเสาร์-อาทิตย์ และร้อนมากในวันที่ท้องแจ่มใส

สำหรับผมแล้วหากมีเวลาเยอะๆแนะนำว่าให้ไปเก็บแสงเย็นหรือเช้าที่พระธาตุเขาน้อยจะดีกว่า ส่วนมุมที่สวยที่สุด จากเท่าที่ผมลองสำรวจแล้วมุมที่สวยจะอยู่บริเวณสนามหญ้าหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติน่าน และตรงแยกด้านหน้าวัดพระธาตุช้างค้ำ(แยกเดียวกับวัดภูวัดภูมินทร์) จุดเด่นของแยกนี้คือบริเวณไหล่ทางจะมีเสาไฟทางที่เป็นรูปเรือยาว ซึ่งถือเป็น Signature ของเมืองน่าน นักถ่ายรูปหลายคนมักจะถ่ายรูปเจดีย์พระธาตุช้างค้ำพร้อมกับเสาไฟทางรูปเรือยาวนี่แหละครับ

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร น่าน ตอนเช้า

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร น่าน ตอนกลางวัน

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร น่าน ตอนกลางคืน

2.วัดพระธาตุช้างค้ำมีอะไรให้ดูบ้าง

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ตั้งอยู่ในเวียงเก่าน่าน อยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน และอยู่เยื้องๆกับวัดภูมินทร์ แต่เดิมชื่อว่า “วัดหลวงกลางเวียง” สร้างขึ้นโดยพญาภูเข่ง เจ้าผู้ครองนครน่าน ในปี พ.ศ.1949 หรือประมาณ 600 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับช่วงปลายสมัยสุโขทัยละกรุงศรีอยุธยาตอนต้น จริง ๆแล้ววัดพระธาตุช้างค้ำถือเป็นวัดที่แสดงถึงความเป็นเมืองคู่มิตระหว่างอณาจักรน่านกับสุโขทัยในอดีตด้วย

 

หอไตรวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร มีลักษณะโครงสร้างคล้ายกับวิหารตามแบบฉบับศิลปะล้านนา ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2453 สมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 (ปลายรัชกาลที่ 5 ) แต่เดิมใช้เป็นสถานที่เก็บพระธรรมและพระไตรปิฎก แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุณี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบปางลีลาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะมาจากสุโขทัย ซึ่งทำมาจากทองคำ 65% สูง 145 เซนติเมตร

 

พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุณี เป็นพระพุทธรูปแบบปางลีลาสมัยสุโขทัย มีข้อความจารึกไว้ที่ฐานว่า “พระเจ้าลาผาสุมเป็นผู้สร้าง” แต่ถูกค้นพบจริง ๆเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2498  โดยนายไกรศรี นิมมานเหมินทร์ และนายอเล็กซานเดอร์ เบราว์ กริสโวสต์ ซึ่งเป็นนักโบราณคดีที่มาศึกษาค้นคว้าศิลปกรรมในจังหวัดน่าน ตอนที่ค้นพบครั้งแรกองค์พระมีลักษณะเป็นปูนพอกเอาไว้ แต่เมื่อตรวจวินิจฉัยทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าไม่ได้เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นเฉยๆ จึงได้ทำการเทาะปูนออกจนเหลือส่วนที่เป็นทองคำที่อยู่ด้านในออกมา แล้วนำมาขัดเงาใหม่จนเป็นพระพุทธรูปทองคำที่สวยงามดังในปัจจุบัน ใครอยากเห็นของจริงก็ไปดูได้ในหอไตรวัดพระธาตุช้างค้ำเลยครับ ตั้งอยู่ด้านในสุดกลางวิหารเลย

เจดีย์พระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นองค์เจดีย์ลักษณะแบบทรงลังกาได้รับอิทธิพลศิลปะมาจากทางล้านนาและสุโขทัย นับเป็นหนึ่งในปูชนียสถานสำคัญของน่าน แม้ว่าตัวองค์เจดีย์จะมีศิลปะแบบล้านนา แต่บริเวณรอบ ๆฐานเจดีย์จะมีปูนปั้นรูปช้างครึ่งตัวทั้งหมด 24 เชือก แบ่งเป็น 4 ด้าน ด้านละ 6 เชือก ซึ่งจริง ๆแล้วคติการสร้างช้างล้อมเจดีย์เป็นรูปแบบศิลปะความเชื่อที่ถูกถ่ายทอดมาจากสุโขทัยนะครับ ส่วนใครสงสัยว่าจริงมั้ย แนะนำให้ไปดูเจดีย์ช้างลอมที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้เลย ฐานล่างเลียนแบบมาเป๊ะ ๆ ส่วนที่มาของชื่อ “วัดพระธาตุช้างค้ำ” ก็มาจากช้างที่ค้ำอยู่ใต้ฐานเจดีย์นี่แหละครับ

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร น่าน ตอนกลางคืน

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร น่าน ตอนกลางคืน

วิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่รูปทรงตามสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีสิงห์อยู่เชิงบันได มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ลวดลายกนกกระยาย้อยเหมือนลวดลายเสาในวัดภูมินทร์ ด้านในมีพระเจ้าหลวง ประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะแบบล้านนาสีทองขนาดใหญ่สูง 6 เมตร และกว้างถึง 4.5 เมตร นับเป็นอีกหนึ่งพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองน่านอีกด้วย