บ่อเกลือ น่าน

บ่อเกลือ น่าน

Highlight

  • เสน่ห์ของการมาบ่อเกลือน่าน จริง ๆแล้วคือการขับรถชมวิวข้างทาง แนะนำว่าให้ไป-กลับแบบไม่ซ้ำทางเดิม หรือให้ขับรถวนรอบเป็นวงกลม เช่น ขามาใช้ ทล.1081 ขากลับให้ไป ทล.1256 ซึ่งจะผ่านอุทยานแห่งชาติดอยภูคา(ผ่านจุดชมวิว1715 ด้วย)
  • บ่อเกลือเหมาะสำหรับมาพักผ่อนสไตล์แบบชิว ๆ ไม่ได้เหมาะกับนักล่าแสงเช้า เฝ้าแสงเย็นสักเท่าไหร่
  • เดือนกรกฎาคม-กันยายน เป็นช่วงที่หยุดทำบ่อเกลือ เนื่องจากช่วงนี้ความเค็มของน้ำในบ่อค่อนข้างเจือจาง ทำให้ตักน้ำเกลือมาแล้วผลิตเกลือได้ไม่คุ้ม และเป็นความเชื่อของชาวบ้านอีกด้วย

1.บ่อเกลือ เส้นทางขับรถจุดชมวิวโค้งพับผ้า และโค้งเลข 3

การท่องเที่ยวใน”บ่อเกลือ”ส่วนใหญ่แล้วเป็นการท่องเที่ยวดูวิถีชีวิตชาวบ้าน หรือใช้ชีวิตสัมผัสธรรมชาติกลางป่าเขา สูดอากาศบริสุทธิ์พร้อมกับดูการทำเกลือสินเธาว์แบบดั้งเดิม ดังนั้นหากใครที่มาบ่อเกลือแล้วคาดหวังว่าจะมี Landscape สวย ๆ ขอบอกเลยว่าไม่มี ฮ่า ๆ แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีวิวสวย ๆนะ มันก็พอมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้ว Landscape จะเป็นมุมหุบเขาแคบ ๆ แล้วมีลำน้ำไหลผ่าน อันที่จริงแล้วเสน่ห์ของการมาบ่อเกลือ คือการขับรถชมวิวถ่ายรูปข้างทางระหว่างมาบ่อเกลือ ไม่ว่าจะมาทางหลวง 1081 หรือ 1256 ตลอดระยะสองข้าง ขอบอกเลยว่าวิวโคตรเด็ด ผมยกให้เป็นหนึ่งในถนน Road trip ที่สวยของเมืองไทยเลย ส่วนทำไมถึงชื่ออำเภอ “บ่อเกลือ”? ก็ตามตรงเลย คือที่นี่มีบ่อเกลือแล้วยังเป็นบ่อเกลือที่อยู่บนภูเขาสูงแห่งเดียวในไทยด้วย(แต่เดิมชื่อเมืองบ่อ) ซึ่งพื้นที่ของอำเภอบ่อเกลือส่วนใหญ่จะเป็นเทือกเขาสูงล้อมรอบมีลำน้ำไหลผ่านที่ราบหุบเขาตลอดทั้งปี ซึ่งมีลำน้ำไหลผ่านหลัก ๆ อยู่ 2 สาย ได้แก่ ลำน้ำว้าที่ไหลผ่านหมู่บ้านสะปัน และลำน้ำมางที่ไหลผ่านหมู่บ้านบ่อหลวง ชุมชนที่นี่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ริมลำน้ำ ผมแนะนำว่าถ้าใครอยากจะมาดูบ่อเกลือก็ให้ไปบ้านบ่อหลวง แต่ถ้าอยากมาใช้ชีวิตชิว ๆแนะนำให้ไปนอนบ้านสะปัน หรือถ้ามีเวลาเยอะ ๆ ก็ไปทั้งสองนั่นแหละจะได้ไม่คาใจ

ถนนหลวงหมายเลข 1081 น่าน-สันติสุข-บ่อเกลือ
โค้งเลข 3 จุดจอดถ่ายรูปที่ไม่ควรพลาด บนถนนหลวงหมายเลข 1081 (น่าน-สันติสุข-บ่อเกลือ)

 

ถนนหลวงหมายเลข 1081 น่าน-สันติสุข-บ่อเกลือ
วิวข้างทางบนถนนหลวงหมายเลข 1081 (น่าน-สันติสุข-บ่อเกลือ)

บ้านบ่อหลวง บ่อเกลือ น่าน
ภายในตัวอำเภอบ่อเกลือ

อำเภอบ่อเกลือตั้งอยู่บนภูเขาสูงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดน่าน ในเขตตัวอำเภอบ่อเกลือหรือบ้านหลวงอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 630-750 เมตร ดังนั้นสภาพอากาศที่บ่อเกลือจะเย็นตลอดทั้งปี และในช่วงฤดูฝนมีฝนตกชุก ส่วนฤดูร้อนก็มีแบบสั้นๆ มีน้อยวันมากที่อากาศจะร้อน แต่อย่างไรหน้าร้อนกลางคืนอากาศก็เย็นอยู่ดี ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละเดือนตามตารางด้านล่างเลย

ตารางค่าประมาณอุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละเดือน ตัวเมืองอำเภอบ่อเกลือ น่าน
ตารางค่าประมาณอุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละเดือน ตัวเมืองอำเภอบ่อเกลือ น่าน

2. ไปบ่อเกลือแล้วจะไม่ไปดูการทำเกลือได้อย่างไร

บ้านบ่อเกลือหลวงจะทำการผลิตเกลือในช่วงเดือนตุลาคม-มิถุนายน เท่านั้น ในช่วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน เป็นช่วงที่ฝนตกชุก ทำให้น้ำเกลือมีความเค็มลดลงไม่คุ้มค่ากับการผลิตเกลือ และยังเป็นอนุรักษ์ไม่ให้น้ำเกลือหมดเร็วด้วย แล้วขั้นตอนการทำเกลือมีอะไรบ้างลองมาดูกันเลย

ขั้นแรก เริ่มจากตักน้ำเกลือจากบ่อแล้วนำมาทิ้งไว้ที่บ่อพักก่อนหนึ่งคืน เพื่อให้สิ่งที่ปนเปื้อนมากับน้ำตกตะกอนก่อน แล้วนำมาต้มในโรงต้มปิดทึบเพื่อกั้นลม ทำให้ได้เมล็ดเกลือละเอียดมากยิ่งขึ้น และเป็นการประหยัดฟืนไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับเตาที่ใช้เป็นเตาดินเหนียวสามารถวางกระทะต้มเกลือได้ 2 ใบ โดยมีช่องใส่ฟืนด้านหน้า 1 ช่อง และช่องระบายควันด้านหลัง 2 ช่อง ส่วนกระทะที่ใช้จะเป็นเหล็กใหญ่แบบไม่มีหูจับ ขอบอกก่อนว่าเกลือที่นี่จะต้องผ่านกระบวนการต้มเท่านั้น ไม่สามารถแยกเกลือจากน้ำด้วยการตากแดดได้

วิธีการทำเกลือ บ่อเกลือ น่าน

ขั้นที่สอง การต้มเกลือ 1 กระทะ จะต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ใน 1 กระทะจะได้เกลือประมาณ 14-15 กิโลกรัม อยู่ที่ความเข้มข้นของน้ำเกลือ เนื่องจากการต้มเกลือจะต้องใส่ฟืนไว้ตลอดเวลา ทำให้เตา 1 เตา สามารถใช้ติดต่อกันได้ไม่เกิน 7 วัน เพราะไม่อย่างนั้นแล้วเตาดินเหนียวอาจแตกหักได้

วิธีการทำเกลือ บ่อเกลือ น่าน

โรงทำเกลือ บ่อเกลือ น่าน

ขั้นที่สาม เมื่อน้ำในกระทะระเหยแล้วจะเหลือเกลือที่ตกตะกอนอยู่ ต่อมาจะนำเกลือนั้นตักใส่กะเปาะ(ชะลอม)ให้สะเด็ดน้ำ เกลือที่ได้จากเกลือสินเธาว์จะมีความเค็มกว่าเกลือทะเล แต่มีไอโอดีนที่เป็นสารสำคัญต่อร่างกายน้อยกว่า ดังนั้นเกลือที่วางขายที่นี่จึงใส่ไอโอดีนเสริมลงไปเพื่อให้กินได้ตามปกติ

สำหรับกรรมวิธีการทำดอกเกลือหรือเกสรเกลือนั้น จะต้องทำโดยเบาไฟแล้วทิ้งเอาไว้ ซึ่งจะช้อนดอกเกลือก่อนที่ดอกเกลือจะตกผลึกเป็นเกลือขึ้นมาจับตัวกันเป็นแผง ส่วนหลายคนถามว่าดอกเกลือต่างจากเกลืออย่างไร? เท่าที่ถามเพื่อนที่เป็นเชฟแล้วมันบอกว่า “ดอกเกลือรสชาติของดอกเกลือจะเค็มน้อยกว่าเกลือและมีความละมุนกว่า” นอกจากนี้ดอกเกลือยังสามารถนำเอาไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือใช้ในสปา เช่น สบู่ดอกเกลืออีกด้วย ปัจจุบันการต้มเกลือมีการสืบทอดมาเหลือเพียงเท่านี้ เพราะคนส่วนใหญ่หันไปบริโภคเกลือทะเล ที่หาซื้อง่ายกว่ากันหมด อย่างไรแล้วหากเราไปเที่ยวบ่อเกลือ ก็อย่าลืมอุดหนุนเกลือสินเธาว์ภูเขาแห่งเดียวในไทยนะครับ อย่างน้อยเป็นการช่วยนำรายได้เข้าสู่อุตสาหกรรมครัวเรือน ชาวบ้านแถบนี้จะได้มีแรงสืบทอดการต้มเกลือโบราณให้คนรุ่นหลังได้ดูไปอีกนาน ๆ และที่สำคัญคือเกลือที่นี่ราคาไม่แพงเลย

 

3.ไปบ่อเกลือพักที่ไหน แล้วไปเส้นทางไหนดี

บริเวณบ่อเกลือมีรีสอร์ทโฮมสเตย์ให้พักมากมาย ถ้าอยากได้บรรยากาศดี ๆหน่อยให้ไปนอนที่หมู่บ้านสะปันหรือ อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ก็ได้ ส่วนเรื่องของการเดินทางมาบ่อเกลือ เส้นทางที่นิยมมากันมีอยู่ 2 เส้นทาง สำหรับผมแล้วแนะนำให้มาทางทล.1081 ส่วนขากลับให้ใช้ ทล.1256 หรือ ขาไป ทล.1256 กลับ ทล.1081 ก็คือจะไม่กลับทางเดิมจะขับรถในเส้นทางที่เป็นวงกลม เพราะเสน่ห์ของการมาบ่อเกลือ คือวิวข้างทางของถนนลอยฟ้า

เส้นแรก  ทล. 1081 ซึ่งจะมาจากทางเมืองน่านโดยใช้เส้นทาง ทล.1169 แล้วต่อด้วย ทล.1081 ซึ่งจะผ่านอำเภอภูเพียง อำเภอสันติสุข ระยะทางจากเมืองน่านไปบ่อเกลือ ประมาณ 90 กิโลเมตร (ขับรถแบบเนิบ ๆ 2 ช.ม. ถึง) เส้นนี้ปัจจุบันได้รับความนิยมสูงมาก เพราะมีจุดถ่ายรูปถนนสวยถึงสองจุด ได้แก่ โค้งรูปเลข 3 และโค้งพับผ้า ในวันหยุดคนจะเยอะมากต้องทำใจกันหน่อยนะค้าบ (เมื่อ 2-3 ปีก่อนที่ผมมา ต้องแอบจอดรถข้างทางแล้วถ่าย ตอนนี้มีลานให้จอดรถถ่ายรูปอย่างกว้างเลย เรียกได้ว่าโคตรสะดวก)

ทางหลวงหมายเลข 1169 น่าน-สันติสุข
วิวข้างทางเขียว ๆ ช่วงปลายฝนต้นหนาว บนทางหลวงหมายเลข 1169 (น่าน-สันติสุข)
ทางหลวงหมายเลข 1081 น่าน-สันติสุข-บ่อเกลือ
โค้งเลข 3 กับวิวข้างทางเขียว ๆ ช่วงปลายฝนต้นหนาว บนทางหลวงหมายเลข 1081 (น่าน-สันติสุข-บ่อเกลือ)
โค้งพับผ้า น่าน บ่อเกลือ สันติสุข 1081
โค้งพับผ้า มุมมองจากโดรน จะเห็นเลยว่าถนนโค้งพับไปพับมา
โค้งพับผ้า น่าน บ่อเกลือ สันติสุข 1081
โค้งพับผ้ามุมมองคนทั่วไปเห็น
โค้งพับผ้า น่าน บ่อเกลือ สันติสุข 1081
โค้งพับผ้า น่าน มุมมองซูมที่ระยะ 55 mm

เส้นที่สอง ทล. 1256 ซึ่งจะมาจาก อ.ปัว ผ่าน อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และจุดชมวิว 1715 เริ่มต้นจะต้องมาตามถนนสายทล.101 จากน่านระยะทางประมาณ 62 กิโลเมตร พอถึงอำเภอปัวให้เลี้ยวมาทาง ทล. 1081 ประมาณ 500 เมตร จะถึงแยกโรงเรียนวรนคร ให้เลี้ยวซ้ายอีกรอบไปถนนสาย ทล. 1256 ขึ้นดอยภูคา ขับอีกประมาณ 46 กิโลเมตร ก็จะถึง อ.บ่อเกลือ จากแยกวรนครไปบ่อเกลือจะใช้เวลา 45-50 นาที(แบบไม่จอด) แต่ถ้าจากเมืองน่านจะใช้เวลาราว ๆ 2:15 ช.ม. (เส้นนี้อ้อมกว่านิดหน่อย แต่ขับสบายกว่ามาก ช่วงโค้งขึ้นลงเขาน้อยกว่า)

ทางหลวงหมายเลข 1256 ปัว-ดอยภูคา-บ่อเกลือ
วิวข้างทางเขียว ๆ ช่วงปลายฝนต้นหนาว บนทางหลวงหมายเลข 1256 (ปัว-ดอยภูคา-บ่อเกลือ)

 

ทางหลวงหมายเลข 1256 ปัว-ดอยภูคา-บ่อเกลือ
วิวข้างทางเขียว ๆ ช่วงปลายฝนต้นหนาว บนทางหลวงหมายเลข 1256 (ปัว-ดอยภูคา-บ่อเกลือ)

รายชื่อที่พักบ่อเกลือ

อาโปเดอมาง (โฮมสเตย์ ติดลำน้ำมาง) เบอร์โทร 095-626-4851

บ่อเกลือฟ้าใส รีสอร์ท (โมเดิร์นหน่อย มีแอร์) เบอร์โทร 086-118-4482

บ่อเกลือวิวรีสอร์ท (ที่พักมาตรฐาน ติดลำน้ำมาง เห็นวิวภูเขา) เบอร์โทร 054-778-140

ผมเองยังไม่เคยไปนอนพักที่บ่อเกลือนะครับ ส่วนมากจะไปนอนบ้านสะปัน อุทยานแห่งชาติขุนน่าน และดอยภูคา ดังนั้นรายชื่อที่พัก ที่ผมคัดมาทั้ง 3 ที่ มาจากการไล่ดูคะแนนใน Google map + เข้าไปดูในเพจ หากผมเห็นว่าอันไหนดี คะแนนรีวิวสูง จำนวนคนรีวิวเยอะ ผมก็จะเอาลิงค์และเบอร์โทรมาแปะไว้ให้ สำหรับคนที่ขี้เกียจหาที่จากพักเว็บอื่น ก็ลองเข้าไปดูที่พักตามที่ผมแนะนำได้เลยครับ                                                           

 

4.แล้วบ่อเกลือบนภูเขาเกิดขึ้นได้อย่างไร

หลายคนมาเที่ยวแล้วสงสัยว่าบ่อเกลือบนภูเขาที่น่านเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมสรุปให้สั้นๆ ดังนี้ จากหลักฐานธรณีวิทยาแล้ว เมื่อ 220 ล้านปี (สมัยก่อนไดโนเสาร์จะเกิด) เดิมบริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อนหลังจากนั้น เมื่อแผ่นอนุทวีปฉาน-ไทยชนกับแผ่นอนุทวีปอินโดจีน ทำให้เกิดการยกตัวของเปลือกโลกโก่งโค้งเป็นเทือกเขาหลวงพระบาง ซึ่งระหว่างยกตัวน้ำทะเลได้ระเหยตกตะกอนกลายเป็นชั้นหินเกลือใต้ดิน เมื่อฝนตกลงมา น้ำฝนจะซึมไหลลงตามรอยแตกของชั้นหินเข้าไปผสมกับชั้นหินเกลือตามแนวรอยเลื่อนบ่อเกลือ(ไม่มีพลังแล้วไม่ต้องกลัวแผ่นดินไหวนะครับ) ทำให้มีน้ำเค็มอยู่ใต้ดิน และด้วยที่ตั้งอำเภอบ่อเกลือมีลักษณะภูมิประเทศแบบบภูเขา ทำให้เกิดการยกตัวของเมฆหมอกกลั่นตัวกลายเป็นฝนได้เกือบตลอดทั้งปี แน่นอนว่าบ่อเกลือมีน้ำเกลือได้ตลอดทั้งปี แต่ว่าในช่วงหน้าฝนความเค็มของน้ำจะน้อยกว่าในช่วงหน้าแล้งนะครับ

ภาพรอยเลื่อนบริเวณตอนเหนือจังหวัดน่าน เครดิต : กรมทรัพยากรธรณีวิทยาไทย

อนุทวีป = แผ่นเปลือกโลกขนาดย่อย

อนุทวีปฉาน-ไทย =  แผ่นเปลือกโลกบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้

อนุทวีปอินโด-จีน = ประเทศลาว ภาคอีสาน กัมพูชา จันทบุรี ตราด นราธิวาส ฝั่งตะวันออกมาเลเซีย

ลำน้ำมาง บ่อเกลือ
ลำน้ำมาง ไหลผ่านบ้านบ่อหลวง

 

5. เรื่องเล่าจากชาวบ้านบ่อหลวง

การค้นพบบ่อเกลือที่บ้านบ่อหลวง มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าไม้ ไม่มีคนอาศัยอยู่ แต่มีหนองน้ำที่พวกสัตว์ต่าง ๆ ชอบมากินน้ำในหนองน้ำแห่งนี้เป็นประจำ เมื่อนายพรานล่าสัตว์เห็นพฤติกรรมของสัตว์ที่มากินน้ำ ก็เลยลองชิมน้ำ แล้วรู้ว่าเค็ม ก็เลยเอาเรื่องนี้ไปบอกเจ้าหลวงภูคา ต้องบอกก่อนนะครับว่าเกลือในสมัยก่อนถือเป็นสิ่งที่มีค่ามากพอ ๆกับทองคำ ดังนั้นการค้นพบเกลือในอดีตถือเป็นเรื่องที่ใหญ่โตมาก

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 1 หลักฐานโบราณคดีเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องถ้วย หลักศิลาจารึก พระพุทธรูป ทำให้มีการคาดการณ์ว่าบ้านบ่อหลวงเคยมีความเจริญรุ่งเรือง ช่วงราว ๆ พ.ศ. 2100-2200
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 2 มีข้อสันนิษฐานว่าชุมชนนี้เกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2400 และกลุ่มชุมชนเหล่านี้ ที่เป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านบ่อหลวง น่าจะเป็นผู้อพยพชาวไทลื้อที่มาจากเมืองบ่อแฮ่ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสิบปันนาในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2200-2300 ซึ่งตรงกับช่วงที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า จึงไม่แน่ใจว่าระหว่างที่พม่าปกครองมีการทำเกลือหรือไม่ แต่จากพงศาวดารเมืองน่าน ระบุว่า “พระเจ้าสุริยพงษผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63” กล่าวถึงว่า แหล่งผลิตเกลือที่บ่อเกลือเป็นสาเหตุทำให้พระเจ้าติโลกราชแห่งเจ้านครเชียงใหม่ ยกทัพเข้ามาตียึดเมืองน่านเมื่อ พ.ศ. 1993 เพราะเกลือในสมัยก่อนมีค่ามาก เป็นปัจจัยสำคัญในการนำไปใช้ปรุงอาหาร ถนอมอาหาร รวมไปถึงการนำไปผสมยารักษาโรค อย่างที่ผมบอกว่าในสมัยก่อนเกลือมีค่ามากพอกับทองคำ ทำให้รัฐใดที่มีเกลือมากก็แสดงถึงอำนาจต่อรองของรัฐนั่น ๆด้วย เรื่องนี้มันข้อคิดอยู่ว่าอดีตเกลือมีค่ามาก แต่ในปัจจุบันเกลือมีค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับทองคำ และถ้ามองอนาคตไปอีกทองคำอาจจะไม่ใช้สินทรัพย์ที่มีราคาสูงอีกต่อไปก็ได้เช่นเดียวกับเกลือ แล้วอะไรจะมาแทนผมไม่ทราบ อาจจะเป็น Crypto Currentcy ก็ได้ ใครจะไปรู้

ในปัจจุบันบ่อเกลือที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์มีจำนวน 5 บ่อ บ้านบ่อหลวง 2 บ่อ บ้านบ่อหยวก 2 บ่อ บ้านนากิ๋น 1 บ่อ แต่โดยทั่วไปแล้วนักท่องเที่ยวจะนิยมมาที่ บ้านบ่อหลวง เนื่องจากมีการทำเกลือมากที่สุด “บ่อเกลือ” นักท่องเที่ยวสามารถดูได้เฉพาะจุดที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่ควรเข้าไปยุ่งตรงปากบ่อ เนื่องจากจะเป็นอันตราย และชาวบ้านยังเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วย

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรมทรัพยากรธรณีวิทยา หมวดเรื่อง รอยเลื่อน่าน – อุตรดิตถ์