ดอยภูคา
Highlight
- ดอยภูคาไม่ได้มีแค่ลาน 1715 ลานดูดาว ลานดูเดือน เท่านั้นนะครับ ความสวยงามของดอยภูคาจะอยู่ตามตลอดสองข้างทางของถนนที่ขึ้นมายังดอยภูคา(ทล.1256) ซึ่งมีหลายจุดมาก ถ้าจะจอดรถถ่ายรูปก็ต้องระวังด้วย เพราะบางช่วงไหล่ทางแคบมาก
- จุดชมวิว 1715 เป็นจุดชมวิวดูพระอาทิตย์ขึ้นของดอยภูคา(ช่วงปลายฝนต้นหนาวมีโอกาสลุ้นทะเลหมอก) ส่วนจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดินจะต้องไปดูที่ลานดูดาวหรือลานดูเดือนตรงบริเวณหลังบ้านพักของอุทยานฯ
- เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการเที่ยวที่สุด อากาศไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป ป่าไม้ธรรมชาติเขียวสดงดงาม และเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดทะเลหมอกมากที่สุดด้วย ถ้าอยากท้าทายลมหนาวแบบสุด ๆ ให้มาช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม รับรองว่าหนาวจับใจแน่นอน แต่ช่วงนี้ทะเลหมอกจะไม่ค่อยมีนะครับ เพราะว่าลมค่อนข้างแรงทะเลหมอกมักไม่เกิด และในช่วงหน้าร้อนอากาศบนดอยภูคาตอนเช้า ๆยังหนาวเย็นอยู่ ส่วนตอนกลางวันอากาศกำลังสบายๆ ไม่ร้อนไม่หนาว ใครจะมาพักร้อนข่วงนี้ก็มาได้ ถ้าเป็นไปได้ควรมาตั้งแต่เมษายนเป็นต้นไป เนื่องจากหมอกควันเริ่มลดลงแล้ว
- ดอกชมพูภูคาจะบานช่วงเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม ซึ่งจะตรงกับช่วงที่หมอกแดดปกคลุมท้องฟ้าพอดี ทัศนวิสัยช่วงนี้ถือว่าแย่ที่สุด ยิ่งช่วงเดือนมีนาคมบอกเลยว่าหมอกควันเต็มท้องฟ้า ใครที่ตั้งใจจะมาดูดอกชมพูภูคาอาจต้องแลกกับ Landscape ที่ไม่ค่อยสวย และหากจะมาดูจริง ๆแนะนำให้มากุมภาพันธ์ เพราะหมอกควันยังไม่เยอะมาก
- ดอยภูคามีจุดพักแรมหลัก ๆอยู่ 3 จุด จุดแรกคือบริเวณที่ทำการอุทยานฯ ตรงนี้มีลานกางเต็นท์ให้ค่อนข้างกว้างและมีบ้านพักของอุทยานฯ(บ้านพักต้องจองล่วงหน้า) จุดที่สองลานดูดาว ตรงนี้จะมีเพียงลานกางเต็นท์เท่านั้น ตรงนี้เห็นพระอาทิตย์ตกดินได้ และจุดที่สามลาน1715 เป็นลานกางเต็นท์ที่อยู่ใกล้จุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นมากที่สุด ใครอยากท้าทายลมหนาวต้องมากางจุดนี้ แต่ลานกางเต็นท์จุดนี้ค่อนข้างมีพื้นที่จำกัด ในช่วงเทศกาลเต็มเร็วมาก และไม่เห็นพระอาทิตย์ตกดิน
1.ดอยภูคา สถานที่ดึงดูดของนักเดินทางสายภูเขา
“อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดน่านที่ไม่ควรพลาดมาก ๆ หลายคนอาจจะรู้จักดอยภูคาจาก “ต้นชมพูภูคา” ในนามของพรรณไม้ที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์ แต่จริง ๆแล้วดอยภูคาก็เป็นหนึ่งในสถานที่มีทัศนียภาพสวยดุจดั่งนางงามของน่าน ซึ่งความสวยงามของดอยภูคาจะเริ่มต้นตั้งแต่ขับรถขึ้นมา ตลอดระยะสองข้างทางจะมีมุม Landscape สวยๆอลังการหลายจุดมาก ตรงไหนสามารถจอดรถได้แนะนำให้จอดเลยครับ ได้ภาพมุมสวย ๆ กลับบ้านแน่นอน ดอยภูคาไม่ได้มีจุดท่องเที่ยวเด่น ๆเพียงแค่ลานชมวิว 1715 เท่านั้นนะครับ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆอีกหลายแห่งมาก ไม่ว่าจะเป็น ลานดูดาว ลานดูเดือน เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดึกดำบรรพ์หรือดอยภูแว ล้วนแล้วแต่อยู่เขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคาทั้งสิ้น หากใครมาเยือนน่านก็ต้องหาเวลาแวะมาดอยภูคาแล้วละครับ ผมรับรองว่าธรรมชาติที่นี่สุดจริง แต่จะเอาให้สุดต้องมานอนรับลมหนาวสักคืนด้วยครับ ความหนาวที่นี่อยู่ในระดับสิบกะโหลก ใครชอบหนาว ๆก็จัดโลด(หนาวกว่าบนดอยเสมอดาวสองเท่า)
แนวทิวเขาดอยภูคาทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหลวงพระบางฝั่งตะวันตก ซึ่งเกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกตามแนวรอยเลื่อนปัวในอดีต ทำให้ยอดเขาที่นี่มีลักษณะเป็นหินปูนปนทราย ยอดเขาทรงแหลมแบบพีระมิด ด้วยเหตุนี้ทิวเขาดอยภูคาจึงมีความสวยงามแปลกตา และสามารถดึงดูดนักเดินทางที่หลงใหลในภูเขาได้ไม่น้อย(หนึ่งในนั้นก็ผมเอง มาทุกปีจริง ๆ) มีเพื่อนที่เคยไปเวียดนามมันบอกว่าคล้ายกับเวียดนามเหนือ แต่เอาเป็นว่าผมให้เป็นลักษณะเด่นของดอยภูคานั่นแหละดีแล้ว ไม่ต้องเปรียบเทียบที่ไหนกับใครเลย โดยทั่วไปแล้วทิวเขาดอยภูคาจะมีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 – 1,600 เมตร และมียอดดอยภูคาเป็นยอดสูงสุด สูงประมาณ 1,910 เมตร(ไม่ใช่ 1715 นะ อันนั้นเป็นจุดสูงสุดของถนนสาย ทล. 1256) ส่วนรองลงมาคือยอดดอยภูแวสูง 1,837 เมตร(เป็นอีกหนึ่งในสถานที่โคตรน่าจัดมาก)
“อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” ถือว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่สุดของจังหวัดน่าน ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2542 มีพื้นที่ประมาณ 1,704 ตร.กม. ครอบคลุมทั้งหมด 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งช้าง อ.เชียงกลาง อ.ปัว อ.ท่าวังผา อ.สันติสุข อ.แม่จริม อ.บ่อเกลือ หรือคิดเป็นร้อยละ 14.85% ของจังหวัดน่าน หากเทียบแล้วก็มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพฯเล็กน้อย!!(1,569 ตร.ก.ม) นอกจากนี้ร้อยละ 90 เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารชั้น 1A อันเป็นต้นกำเนิดลำน้าว้า ลำน้ำมาง ลำน้ำปัว ลำน้ำน่าน และลำน้ำเล็ก ๆในอีกหลายๆสาขาที่ไหลรวมกันจนเกิดเป็นแม่น้ำน่าน แล้วแม่น้ำน่านก็ไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิงที่ปากน้ำโพธ์จนเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา หลายคนไม่รู้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยาก็คือแม่น้ำน่านนี่เอง(ซึ่งคิดเป็นร้อยละ40 ของแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด) ดังนั้นถ้าจะบอกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่มาจากเทือกเขาดอยภูคาแห่งนี้ก็คงไม่ผิดนัก และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าดอยภูคาจึงมีความสำคัญกับระบบนิเวศของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก ๆ ส่วนเรื่องภูเขาหัวโล้นไม่ต้องดราม่า ปัจจุบันนี้หลาย ๆ ภาคส่วนเขาก็กำลังช่วยกันแก้ไขอยู่ เท่าที่สังเกตครั้งแรกที่ผมมากับครั้งล่าสุดที่ผมไปจำนวนพื้นเขาหัวโล้นก็เริ่มลดลงไปมากแล้วครับ
2.ดอยภูคาไปช่วงไหนดี ธรรมชาติสวยงามที่สุด
เนื่องจาก “อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” มีความสูงของภูมิประเทศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ดังนั้นสภาพอากาศขึ้นอยู่กับระดับความสูง หากจะให้ระบุอากาศเป็นจุด ๆคงจะยากมาก ดังนั้นผมจะอ้างอิงบริเวณที่ทำการอุทยานฯที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,350 เมตร และบริเวณลาน 1715 เพราะว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไปเที่ยวหรือนอนกางเต็นท์กันตรงนี้ ทำให้สัมผัสบรรยากาศจริงตรงนี้มากที่สุด ซึ่งจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละเดือนตามตารางด้านล่างเลย ส่วนลานดูดาวมีความสูงใกล้เคียงกับที่ทำการอุทยานฯสามารถอ้างอิงจาก ตารางสภาพอากาศ หน้าที่ทำการอุทยานฯได้เลย
ด้วยความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยประมาณ 1,300-1,600 เมตร ทำให้บนยอดดอยภูคา มีภูมิอากาศแบบภูเขาสูง(ความผันผวนสูง) คือมีลักษณะอากาศแบบผีเข้าผีออก อารมณ์แบบเดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อน หมอกมา ฝนตก แดดออก ลมแรง เย็น หนาว ซึ่งเปลี่ยนได้ทุก ๆ 10-15 นาที นั่นหมายความว่าถ้าหากอยู่ดี ๆ หมอกมาปกคลุม อีก 10 นาที แดดจะมาแทนที่แล้วทำให้รู้สึกแสบผิวได้ ซึ่งนี่แหละคือเสน่ห์ของอากาศบนภูเขา
ดอยภูคา ช่วงปลายฝนต้นหนาว (ตุลาคม-พฤศจิกายน) เป็นช่วงเวลาที่ธรรมชาติมีความสวยงามมากที่สุด ตอนเช้ามีโอกาสเจอทะเลหมอกที่จุดชมวิว 1715 มากที่สุด สามารถถ่ายแสงเช้าล่าแสงเย็นได้ กลางวันมีเมฆปกคลุมบนยอดภูเขาและอาจจะมีฝนตกปรอย ๆได้บ้าง อากาศกำลังดีไม่หนาวจนเกินไป และที่สำคัญคือป่าไม้และทุ่งข้าวโพดยังเขียวอยู่ ช่วงเวลานี้ถือว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับการมาเยือนดอยภูคาเป็นอย่างยิ่ง แถมตรงกับช่วงฤดูนาข้าวออกรวงประจำปีอีกด้วย พูดง่าย ๆมาช่วงนี้สวยสุดครับ
ดอยภูคา หน้าหนาว (ธันวาคม-กลางกุมภาพันธ์) เป็นช่วงที่สามารถสัมผัสอากาศหนาวได้อย่างเต็มที่ ช่วงนี้มีโอกาสเจออากาศหนาวระดับเลขตัวเดียวได้ไม่ยาก แล้วเป็นหนาวลมด้วย ท้องฟ้าช่วงนี้ส่วนใหญ่แจ่มใส สามารถล่าแสงเช้าเฝ้าแสงเย็น เก็บน้องดาวได้ในแบบที่ไม่ต้องลุ้นท้องฟ้าเปิด/ปิดเลย แต่อาจต้องลุ้นทะเลหมอกนิดหน่อย โดยเฉพาะช่วงจังหวะลมหนาวลงมาแรงบางทีทะเลหมอกก็ไม่มี และช่วงนี้ทุ่งข้าวโพดบนไหล่เขาจากเขียว ๆก็จะเริ่มกลายเป็นทุ่งหญ้าสีทองแทนแล้ว
ดอยภูคา หน้าร้อน (กลางกุมภาพันธ์-พฤษภาคม) เป็นช่วงที่ดอกชมพูภูคากำลังบาน ถ้าไม่คิดจะมาดูดอกไม้หรือหาความสงบ ผมว่าช่วงนี้ไม่ควรมา เพราะเป็นช่วงที่ หมอกแดด หรือหมอกควันปกคลุมท้องฟ้า ทำให้ทัศนวิสัยและความใสของท้องฟ้าลดลงอย่างมาก ไม่เหมาะกับการเก็บแสงใด ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงต้นไม้ค่อนข้างแห้งเป็นสีน้ำตาล และแม้ว่าจะเป็นฤดูร้อน แต่บนดอยภูคาช่วงเช้าอากาศเย็นถึงหนาวเลยนะครับ ใครจะหนีมาพักร้อนก็ได้(ยกเว้นกลางเดือนมีนาคมไม่แนะนำให้มา ไม่รับประกันเรื่องหมอกควันมาก ๆ ค่อยมาช่วงหลังต้นเดือนเมษายน) ถ้าหากใครมาแล้วเจอฝนตกตอนกลางคืน ตอนเช้าก็เตรียมพบทะเลหมอกได้เลย แต่ช่วงนี้โอกาสฝนตกเนี่ยน้อยมาก ๆ(ช่วงเมษายนมีโอกาสฝนตกได้บ้าง)
ดอยภูคา หน้าฝน (มิถุนายน-กันยายน) เป็นช่วงที่ผืนป่าเป็นสีเขียวแล้วมีเมฆหมอกละภูเขา แต่ยังไงก็ตามการมาเที่ยวหน้าฝนก็อาจเจอเมฆปกคลุมได้ตลอดทั้งวันเช่นกัน และแสงเช้าต้องลุ้น ถ้าโชคดีอากาศเปิดช่วงเวลาแสงทองก็จะสวยมาก(แต่มันไม่ค่อยเปิดนะ) ตอนผมไปฟ้าปิดทั้งวัน(กว่าจะเปิดก็สาย ๆแล้ว) แต่สิ่งสำคัญของการมาเที่ยวหน้าฝน คือต้องระวังเรื่องดินถล่มตามไหล่ทาง (เป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง ก.ค.- ส.ค) ส่วนใครจะมาหน้าฝน ผมแนะนำให้มาช่วงเดือนกันยายนจะดีที่สุด เพราะฝนเริ่มลดน้อยลงแล้ว
3.ดอยภูคา มีจุดไหนให้น่าแวะเที่ยวบ้าง
ลาน 1715 จุดชมพระอาทิตย์ขึ้น
ลานชมวิว 1715 เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมแวะถ่ายรูป เพราะบริเวณลานนี้สามารถดูพระอาทิตย์ขึ้นพร้อมกับทะเลหมอกตอนเช้าได้ดีที่สุดของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ยิ่งใครสายถ่ายภาพแนว Landscape ก็ต้องมาจุดนี้นี่แหละครับ ล่าแสงเช้าได้ตั้งแต่แสงสนธยายันพระอาทิตย์ขึ้นเลย ผมแนะนำว่าควรมาก่อนพระอาทิตย์ขึ้นสัก 1 ชั่วโมง เพื่อที่จะเก็บแสงเช้าได้คุ้มค่าที่สุด เพราะไหน ๆ ก็ถ่อมาถึงที่นี่แล้วฮ่า ๆ
ส่วนที่มาที่ไปของป้ายความสูง 1715 จริง ๆแล้วไม่ใช่ความสูงที่สุดของยอดดอยภูคานะครับ แต่มันคือป้ายแสดงจุดสูงสุดของถนนหลวงสาย 1256 (ปัว-บ่อเกลือ) ที่ตัดผ่านขึ้นมาบนดอยภูคานั่นเอง ส่วนความสูงจริง ๆ ของยอดดอยภูคาคือ 1,910 เมตร นะครับ ซึ่งถ้าไปยืนอยู่ที่ลานชมวิว 1715 จะเห็นได้เลยว่าที่นี่ไม่ใช่ยอดสูงสุดของดอยภูคาแน่นอน เพราะภูเขาที่อยู่ข้างๆสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ลานดูดาวจุดชมวิวพระอาทิตย์ตก
เป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดินอีกจุดหนึ่งของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,450 เมตร อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 30 (ทล.1256) ใกล้กับแหล่งศึกษาธรรมชาติดึกดำบรรพ์ แล้วตรงนี้มีลานกางเต็นท์พร้อมกับห้องน้ำ และร้านค้าให้บริการอีกด้วย ส่วนใหญ่ผมชอบมาลงเอยกางเต็นท์จุดนี้นะ
บริเวณบ้านพักและที่ทำการอุทยาน(ลานดูเดือน) วิวพระอาทิตย์ตก
ลานดูเดือนหรือบริเวณบ้านพัก และที่ทำการอุทยานฯ ตรงบริเวณนี้สามารถดูพระอาทิตย์ตกดินและเก็บแสงเย็นได้ แล้วระหว่างลานดูดาวกับลานดูเดือนตรงไหรพระอาทิตย์สวยกว่ากัน? เอาเป็นว่ามันก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ แต่ถ้าให้ผมมองก็คงตอบว่าลานดูเดือนบริเวณหลังบ้านพักอุทยานฯสวยกว่า แถมลานดูเดือนเป็นลานกางเต็นท์ที่กว้างใหญ่ที่สุดของอุทยานฯดอยภูคาอีกด้วย และเผื่อใครไม่รู้ จริง ๆแล้วบริเวณนี้มีต้นชมพูภูคาด้วยนะครับ อยู่ตรงบริเวณลานชมวิวหลังบ้านพักภูคา 101 เลย
จุดชมวิวข้างทาง ทางหลวงหมายเลข 1256
ถนนหลวงหมายเลข 1256 (ปัว-บ่อเกลือ) นอกจากจะเป็นหนึ่งในสี่ของถนนลอยฟ้าในจังหวัดน่านแล้วยังติดโผถนนสวยงามของประเทศไทยอีกด้วย อย่างที่ผมบอกความสวยงามของดอยภูคาแท้จริงแล้วอยู่ตามตลอดระยะสองข้างทาง ไม่ได้อยู่ตรงบริเวณที่จัดให้เป็นสถานที่เที่ยว โดยส่วนตัวแล้วผมว่าถนนสายนี้สวยกว่าเส้นแม่มาลัย-แม่ฮ่องสอนนะครับ(ทล.1095) จุดที่ผมแนะนำเลยคือตรงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 27 ซึ่งผมเรียกว่า “จุดชมวิวข้างหน้ามีดินสไลด์” ที่ไปที่มาของชื่อก็เพราะว่าตรงนี้มีป้ายระวังดินไสลด์อยู่นั่นแหละฮ่า ๆ แต่ไม่รู้ว่าตอนนี้เขาเอาออกไปรึยังนะ แต่เท่าที่ผมไปมา 2 ปีติด ป้ายมันก็ยังอยู่เหมือนเดิมเพิ่มเติมคือดินสไลด์มากขึ้น จริง ๆแล้วก็ยังมีจุดสวย ๆอื่น ๆอีกเยอะมาก ตรงไหนพอจอดรถได้ก็จอด แต่ขอเตือนหน่อยนะครับว่า “ถ้าหากจะจอดรถถ่ายรูปข้างทางก็ควรจอดในระยะที่ให้รถคันอื่นสามารถมองเห็นได้ในระยะยาวด้วย ไม่ควรจอดตรงโค้งมุมอับ เพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ ปลอดภัยไว้ก่อนดีที่สุด” ส่วนใครไม่รู้ว่าจะจอดตรงไหนลองดูภาพประกอบของผมไปก่อนละกันนะฮ่า ๆ
สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆที่ยังไม่ได้ไป
“อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” ด้วยขนาดพื้นที่มันใหญ่มาก ผมเองก็ยังเที่ยวไม่หมดหรอก แต่เท่าที่ค้นหาในเว็บไซด์หรือตามเว็บบอร์ดต่าง ๆแล้ว ยังมีอีกหลายที่ที่ยังน่าไปค้นหา ไม่ว่าจะเป็น ดอยภูแว ดอยผาผึ้ง ถ้ำผาผึ้ง ถ้ำผาฆ้อง ถ้ำผาแดง บ้านมณีพฤกษ์ น้ำตกต้นตอง น้ำตกศิลาเพรช น้ำตกภูฟ้า วังศิลาแลง บางสถานที่เป็นเส้นทางเดินป่า อย่างเช่นดอยภูแวหรือดอยผาผึ้งก็สวยไม่แพ้กัน ซึ่งตอนนี้ดอยภูแวก็เป็นหนึ่งในสถานที่นัก tracking เริ่มนิยมไปเดินกันมากแล้ว แต่เอาเป็นว่าผมไปที่ไหนเพิ่มเติมก็จะเอาเขียนให้ได้อ่านกันนะครับ
4.ดอกชมพูภูคาบานช่วงไหน ไปแล้วไม่แป็ก
“ต้นชมพูภูคา” เรียกได้ว่าเป็นพระเอกที่ทำให้คนรู้จักที่นี่เลยก็ว่าได้ แต่น้อยคนนักที่จะได้เห็นดอกชมพูภูคาจริง ๆ เนื่องจากช่วงที่ชมพูภูคาออกดอก จะตรงกับช่วงฤดูแล้งพอดี(ก.พ.-มี.ค.) แน่นอนว่าช่วงนี้ไม่ว่าจะที่ไหนในภาคเหนือธรรมชาติจะมีความสวยงามลดลงทุกที่ ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงมาน่านช่วงนี้ แต่ถ้าใครตั้งใจจะมาดูดอกชมพูภูคาจริง ๆ ผมแนะนำให้มาช่วงเดือนกุมภาฯ เพราะช่วงนี้หมอกแดดยังปกคลุมไม่เยอะมาก และไหน ๆก็มาแล้วแนะนำให้ไปวังศิลาแลงด้วยเลย เพราะก็เป็นหนึ่งในสถานที่เหมาะกับการเที่ยวช่วงฤดูแล้ง สำหรับจุดที่คนนิยมไปดูต้นชมพูภูคามากที่สุด จะอยู่บริเวณริมถนนหลวงหมายเลข 1256 ช่วงกิโลเมตรที่ 31-32 หรือที่เดียวกับศาลเจ้าพ่อภูคานั่นแหละครับ(ถ้ามาจากปัวจะเลยลานดูดาวไปประมาณ 1 กิโลเมตร)
“ต้นชมพูภูคา” สมัยก่อนเคยเป็นพันธุ์ไม้ที่มีการค้นพบตามหุบเขาในมณฑลยูนานทางตอนใต้ของประเทศจีน และทางตอนเหนือของเวียดนาม เมื่อเวลาผ่านไปจนนานมากก็ไม่มีรายงานการค้นพบ จนกระทั่งได้มีการเริ่มสำรวจป่าไม้เพื่อตัดถนนผ่านดอยภูคา(ทล.1256) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ดร. ธวัชชัย สันติสุข ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ได้ค้นพบต้นชมพูภูคาบริเวณป่าดิบเขาของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ที่ระดับความสูง 1,200-1,700 เมตร และตามข้อสมมุติฐานเดิม “ดอยภูคา” น่าจะเป็นแหล่งกำเนิดสุดท้ายของต้นชมพูภูคาเพียงแห่งเดียวของโลก แต่ในภายหลังมีการค้นพบที่อุทยานแห่งชาติขุนน่านอีกหนึ่งแห่ง(ซึ่งอยู่ติดกับดอยภูคานั่นแหละ) และมีการปลูกเพิ่มตรงบริเวณบ้านพักที่ทำการอุทยานฯด้วย
5.ไปดอยภูคา พักแรมกางเต็นท์กันตรงจุดไหนดี
“อุทยานแห่งชาติดอยภูคา” มีบ้านพักของอุทยานฯ สามารถจองผ่านเว็บไซด์ของกรมอุทยานแห่งชาติได้เลย ราคาไม่แพง แต่ช่วงเทศกาลเต็มเร็วมากต้องรีบจองหน่อยนะครับ ถ้าช้าอดแน่นอน ส่วนสำหรับคนที่ต้องการเอาบรรยากาศจริง ๆ ก็ต้องกางเต็นท์เท่านั้น ซึ่งดอยภูคาจะมีจุดกางเต็นท์ที่นิยมกันจริง ๆประมาณ 3 จุดตามด้านล่างเลย
จุดแรก บริเวณลานดูเดือน ซึ่งจะอยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานฯและบ้านพักของอุทยานฯ เป็นลานกางเต็นท์กว้างที่สุด และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากที่สุด แต่วิวไม่ค่อยสวยและห่างไกลจากลานชมวิว 1715 ดังนั้นถ้าจะไปดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้าที่จุดชมวิว 1715 จะไกลหน่อย ทำให้ต้องตื่นเช้ากว่าคนอื่น ๆ
จุดที่สอง บริเวณลานดูดาว อยู่ใกล้กับป่าดึกดำบรรพ์ หลักกิโลเมตรที่ 30 จุดนี้ลานกางเต็นท์กว้างพอสมควร ห้องน้ำครบสะอาด ตรงนี้สามารถดูพระอาทิตย์ตกได้ และไม่ไกลจากจุดชมวิว 1715 มากนัก (ผมเองชอบมาลงเอยกางเต็นท์ที่จุดนี้ประจำ)
จุดที่สาม บริเวณจุดชมวิว 1715 ลานกางเต็นท์จุดนี้จะมีพื้นที่น้อยที่สุดในบรรดา 3 ที่กล่าวมา แต่จะใกล้กับสถานที่ดูพระอาทิตย์ตอนเช้ามากที่สุด ห้องน้ำค่อนข้างน้อย และคนค่อนข้างวุ่นวาย เพราะอยู่ใกล้จุดชมวิวหลัก จุดนี้ไม่สามารถเห็นพระอาทิตย์ตกดินได้ แต่ถ่ายดาวได้นะครับ ขอทิ้งท้ายว่าใครจะมากางเต็นท์จุดนี้แนะนำให้หาอะไรมายึดเต็นท์ให้ดี ๆด้วย เพราะช่วงกลางคืนบนนี้ลมแรงมาก ยิ่งวันไหนลมหนาวแรงๆนี่เต็นท์แทบปลิวเลย
แล้วถามว่าที่ไหนดีกว่ากัน? ก็คงแล้วแต่ความสะดวกแต่ละคน บางคนชอบหนาว ๆก็ 1715 ใครอยากสบายๆ ก็หน้าที่ทำการอุทยานฯ เอาแบบกลางๆ ก็ลานดูดาว สุดท้ายแล้วต้องดูด้วยว่าตรงไหนเต็ม ฮ่า ๆ พอดีผมมีโอกาสได้มาดอยภูคาช่วงเทศกาลปีใหม่ ต้องบอกเลยว่าเรื่องของลานกางเต็นท์ไม่ว่าจะจุดไหนก็เต็มหมด ต้องพยายามรอหาคนออกแล้วแทรกเข้าไปทันที ยิ่งบริเวณลาน 1715 นี่ต้องรวดเร็วมาก แนะนำให้มารอเสียบประมาณ 10:00 -12:00 เพราะเป็นช่วงที่เต็นท์เดิมจะออกมากที่สุด ส่วนเรื่องของห้องน้ำอันนี้ต้องแย่งกันหน่อยนะครับ คือน้ำจะไหลเบามากในช่วงเทศกาล(เบาถึงไม่ไหล) ในช่วงเทศกาลหากไม่อยากวุ่นวาย ผมแนะนำให้ไปนอนอุทยานแห่งชาติขุนน่าน แล้วค่อยขับรถขึ้นมาจุดชมวิว 1715 ก็ได้ มันก็ไม่ได้ไกลกันมาก แต่ปริมาณคนลดลงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว