วัดพระธาตุลำปางหลวง

วัดพระธาตุลำปางหลวง

Highlight

  • วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปาง เป็นที่ประดิษฐานกู่พระเจ้าล้านทองและพระแก้วดอนเต้า และเมื่อมาวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้ว สิ่งที่ห้ามพลาดเลยคือต้องมาดูเงาพระธาตุกลับหัวที่บนมณฑป

1. วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดประจำจังหวัดลำปาง

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวลำปาง จุดเด่นของที่นี่คือมีองค์พระธาตุเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในลำปาง ลักษณะของเจดีย์เป็นทรงกลมระฆังคว่ำ สถาปัตยกรรมแบบล้านนาผสมพุกาม ฐานสีหลี่ยมย่อมุมบัวมาลัยสามชั้น หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองฉลุลาย(ทองจังโก)คล้ายกับเจดีย์พุกามในพม่า ซึ่งภายในบรรจุพระบรมสาริกธาตุของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ภายในวัดยังมีวิหารหลวงขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นวิหารทรงโล้งแบบล้านนายุคแรก(หลังคาจั่วซ้อนกันเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า) อันเป็นที่ประดิษฐานของกู่พระเจ้าล้านทอง(คำว่ากู่ ก็คือ มณฑป ในภาคกลางนั่นเอง) และพระแก้วดอนเต้าหรือพระแก้วมรกตรูปปางสมาธิแกะสลักด้วยหยกสีเขียวตามแบบศิลปะล้านนา ซึ่งได้มาจากวัดแก้วดอนเต้าสุชารามนั่นเอง และในวันลอยกระทงหรือปี๋ใหม่เมือง(ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 )ของชาวล้านนาจะมีการจัดงานนมัสการพระแก้วดอนเต้าทุกปี

องค์เจดีย์ วัดพระธาตุลำปางหลวง
องค์พระเจดีย์ พระธาตุลำปางหลวง
ภายในอุโบสถ วัดพระธาตุลำปางหลวง
ภายในอุโบสถ พระธาตุลำปางหลวง
ภายในอุโบสถ วัดพระธาตุลำปางหลวง
ภายในอุโบสถ วัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง ลำปาง
องค์พระธาตุเจดีย์ลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ถ่ายจากบริเวณข้างโบสถ์

แล้วอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของที่นี่ก็คือ ”บันไดทางขึ้น” ที่มีลักษณะเป็นรูปมกรคายพญานาคทั้งสองข้างบันได ตรงเชิงบันไดมีสิงห์ปูนปั้น ส่วนด้านบนของบันไดจะเป็นซุ้มประตูโขงที่ยอดแหลมเป็นชั้นก่อด้วยอิฐปูน ซึ่งประตูโขงแห่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในตราสัญลักษณ์จังหวัดลำปางด้วย หลายคนเข้าใจผิดว่า “พระธาตุลำปางหลวง” อยู่ในเมืองลำปาง แต่จริง ๆแล้วตั้งอยู่อำเภอเกาะคา นะครับ ซึ่งหากจากอำเภอเมืองไปทางใต้ประมาณ 18 กิโลเมตร ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเมือง แต่ก็เป็นหนึ่งในวัดที่ใครมาเยือนเมืองลำปางแล้วก็ต้องมาชมความใหญ่โตขององค์พระธาตุเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในลำปาง ที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของนครลำปางในอดีตอีกด้วย

วัดพระธาตุลำปางหลวง ลำปาง รถม้า
รถม้า บริเวณหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวง ลำปาง

 

2. เงาพระธาตุกลับหัว เกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อเดินทางมาถึงวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้ว สิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักและเดินทางมาที่นี่ก็คือปรากฏการณ์เงาพระธาตุกลับหัว ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่ง unseen Thailand ของมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์ ใครที่จะมาดูพระธาตุกลับหัวต้องขึ้นไปที่มณฑปพระพุทธบาท แต่ว่ามณฑปนี้จะขึ้นเฉพาะผู้ชายเท่านั้นนะครับ สำหรับผู้หญิงจะต้องไปดูที่วิหาร ถามว่าต่างกันหรือไม่? ก็ต่างกันตรงที่ความคมชัดของพระธาตุกลับหัว บนมณฑปภาพองพระธาตุฯจะชัดมากกว่าในวิหารหลวงเท่านั้นเอง แต่ว่าแก่นแท้ของศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ศาสนิกชนงมงาย ดังนั้นเราจะมาท่องเที่ยววัดพระธาตุลำปางหลวงในรูปแบบของมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์กันดีกว่าครับ

อันที่จริงแล้วปรากฏการพระธาตุกลับหัว สามารถอธิบายได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์มานานแล้ว ย้อนกลับไปสมัยประถมทุกคนน่าจะได้เคยทดลองกล้องรู้เข็ม ถ้าเผื่อใครจำไม่ได้ ผมจะอธิบายหลักการสั้น ๆ ง่าย ๆ เลย ก็คือแสงสว่างจากวัตถุ(พระธาตุเจดีย์)ผ่านเข้ารูเล็ก ๆ(รูประตูมณฑป) การที่แสงผ่านช่องรูเล็ก ๆ แสงจะเกิดการหักเห(รังสีแสงจะกลับหัวกลับหาง) พอแสงที่หักเหนี้ไปกระทบฉากหลังสีขาว ภาพที่ได้ตรงฉากหลังจะเป็นภาพหัวกลับที่มีความสว่างน้อยและเล็กกว่าวัตถุจริง ส่วนสาเหตุที่มีความสว่างน้อยก็เพราะว่าแสงที่พุ่งผ่านรูไม่ได้ผ่านรูทั้งหมด มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ผ่านไปได้ ทำให้สูญเสียพลังงานหรือความสว่างไป ดังนั้นจึงต้องใช้ฉากสีขาวรับเพื่อช่วยสะท้อนแสงออกมานั่นเอง

เงาพระธาตุกลับหัว พระธาตุลำปางหลวง
เงาพระธาตุกลับหัว พระธาตุลำปางหลวง

แล้วถ้ารูประตูมณฑปใหญ่ขึ้นจะเกิดอะไรขึ้น แน่นอนว่าภาพสว่างมากขึ้น แต่จะไม่คมชัดนั่นเอง คุ้นๆมั้ย มันก็หลักการเดียวกับการปรับค่ารูรับแสง(ค่า f) บนกล้อง DSLR MLR นั่นแหละครับ ถ้าเราปรับ f กว้าง ภาพจะเบลอแต่รับแสงได้เยอะ ถ้าเราปรับ f แคบ ภาพที่ได้จะชัดทั้งภาพ แต่แสงสว่างจะลดลง เราจะต้องชดเชยด้วยการเปิด iso หรือ Speed shutter นานขึ้นนั่นเอง ความรู้เพิ่มเติมอีกนิด กล้องรูเข็ม มนุษย์ได้ค้นพบเมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว โดยชาวอาหรับที่เกิดจากการสังเกตเห็นอูฐเดินหัวกลับบนผนังกระโจมด้านที่อยู่ตรงข้าม

 

สถานที่เที่ยวอื่น ๆ ในภาคเหนือที่น่าสนใจ