วัดภูมินทร์
Highlight
- สิ่งที่ห้ามพลาดเมื่อมา “วัดภูมินทร์” คือการมาดูจิตรกรรมฝาผนังปู่ม่านย่าม่าน ในพระอุโบสถทรงจตุรมุขที่เป็นทั้งเจดีย์และพระวิหารภายในอาคารเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดน่านไปแล้ว
- “วัดภูมินทร์” ถือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเมืองน่าน ดังนั้นวัดต่าง ๆที่มีชื่อเสียง และแหล่งซื้อขายของฝากจะอยู่รอบ ๆใกล้กับวัดภูมินทร์หมด รวมถึงถนนคนเดินเมืองน่านในวเย็นวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ด้วย
- ถ้าจะมาถ่ายรูปสิงห์หน้า“วัดภูมินทร์” หากมาช่วงฤดูหนาวในตอนกลางวันจะย้อนแสง(ช่วงฤดูฝนจะไม่ย้อน) วัดภูมินทร์จะสวยที่สุดช่วงเช้า/เย็น ถ้าคืนนั้นมีถนนคนเดินวัดภูมินทร์จะเปิดไฟประดับสวยมาก
1.วัดภูมินทร์สัญลักษณ์ของเมืองน่าน
ถ้าหากพูดถึงจังหวัดน่าน สิ่งที่ทุกคนนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆก็คงหนีไม่พ้น “วัดภูมินทร์” ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอันแอบแฝงไปด้วยกลิ่นอายศิลปะล้านนาผสมไทลื้อ ที่ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ความดั้งเดิมของวัดภูมินทร์ก็ไม่เคยเปลี่ยนไป นอกจากจะเป็นวัดที่มีความแปลกและมีความขลังเฉพาะตัวแล้วบริเวณใกล้วัดภูมินทร์ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ๆ แบบเดินไปมาได้สบายๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดพระธาตุช้างค้ำฯ วัดหัวข่วง พิพิธภัณฑ์แห่งชาติน่าน ศูนย์รวมซื้อของฝาก หรือแม้กระทั่งร้านอาหารชื่อดังอย่างร้านเฮือนฮอม ข้าวซอยต้นน้ำ ก็อยู่บริเวณแถบนี้ทั้งนั้น และในช่วงเย็นวันศุกร์-อาทิตย์ ก็จะมีถนนคนเดินให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อของมานั่งกินเล่นบริเวณลานข่วงเมืองหน้าวัดภูมินทร์ด้วย เรียกได้ว่า “วัดภูมินทร์คือจุดศูนย์กลางการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน” เลยทีเดียว แล้ว High light สำคัญที่ไม่ควรพลาดเมื่อเดินทางมาวัดภูมินทร์ก็คือการมาดูจิตรกรรมฝาผนัง “ปู่ม่านย่าม่าน” ซึ่งถือเป็นจิตกรรมฝาผนังชื่อดังของเมืองน่าน
2.วัดภูมินทร์ไปช่วงเวลาไหนดี? สำหรับสายบ้ากล้อง
จริง ๆแล้วถ้าเป็นนักท่องเที่ยวทั่ว ๆไปจะมาวัดภูมินทร์ช่วงไหนก็ได้ตามความสะดวกเลย แต่สำหรับคนที่จะตั้งใจมาถ่ายรูปแล้วอยากได้ภาพแสงสวย ๆนั้น เรื่องของเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญ แล้วช่วงเวลาไหนได้ภาพแนวไหน ผมจะแบ่งตามช่วงด้านล่างนี้เลย
ตอนเช้า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการถ่ายรูปแนว Landscape มากที่สุด นอกจากจะเป็นช่วงเวลาแสงทองแล้วช่วงนี้คนยังไม่พลุกพล่านด้วย แน่นอนว่าถ้าอยากได้ภาพ Landscape กว้าง ๆ แสงสวย ๆ แล้วไม่มีคนมาบดบังก็ต้องมาช่วงเช้านี่แหละครับ แถมในช่วงเวลาเช้า ๆไม่ว่าจะฤดูกาลไหนก็ตามอากาศก็ไม่ร้อนมาก เหมาะกับการมาเดินเล่นชิว ๆเป็นอย่างยิ่ง แต่ผมแนะนำให้ขึ้นไปถ่ายพระอาทิตย์ขึ้นที่วัดพระธาตุเขาน้อยก่อน เสร็จแล้วค่อยลงมาที่วัดภูมินทร์ก็ได้ และไม่ควรลงมาเกิน 08:30 โมงนะครับ เดี๋ยวแสงทองจะหมดซะก่อน
ตอนกลางวัน เป็นช่วงเวลาทีคนส่วนใหญ่จะมามากที่สุด ช่วงเวลานี้ผมว่าเหมาะกับสายเที่ยวชิว ๆ หรือสาย Portrait ส่วนสาย Landscape ถ้ามาถ่ายช่วงนี้จะได้แสงแบบธรรมดาเหมือนคนส่วนใหญ่ทั่ว ๆไป แล้วช่วงเวลานี้บอกเลยว่า “คนโคตรพลุกพล่าน กว่าจะมีจังหวะคนโล่ง ถึงกับเหงื่อยตกเลยทีเดียว” แล้วถ้าวันไหนท้องฟ้าเปิดด้วยละก็ความร้อนระดับสิบกะโหลกเลย ฮ่า ๆ
ตอนเย็น เป็นช่วงเวลาที่แสงสวยคล้ายกับตอนเช้า แต่ว่าในตอนเย็นคนจะพลุกพล่านกว่ามาก และอากาศก็ค่อนข้างร้อนกว่าด้วย ข้อดีของการมาตอนเย็นคือเราสามารถเก็บแสงไฟตอนกลางคืนพร้อมกับเดินซื้อของกินที่ถนนคนเดินได้เลย(ถนนคนเดินจะมีเฉพาะศุกร์ เสาร์ อาทิตย์) ดังนั้นสายกินไม่ควรพลาดช่วงเวลานี้เด็ดขาด และบริเวณลานข่วงเมืองหน้าวัดภูมินทร์จะมีขันโตกจัดเอาไว้ให้สำหรับนักท่องเที่ยวที่ซื้อของกิน ให้ได้มานั่งกินรับบรรยากาศสบาย ๆพร้อมกับชมศิลปะการแสดงของเด็ก ๆในท้องถิ่นด้วย
ส่วนมาช่วงฤดูกาลไหนดี? ถ้าว่ากันตรง ๆแล้วการมาเที่ยววัดมาฤดูไหนธรรมชาติก็คล้ายๆกันไม่ได้แตกต่างกันมาก ขอเพียงแค่ว่ามาในวันที่ท้องฟ้าเปิดก็พอฮ่า ๆ ขอเสริมนิดนึงในช่วงเดือนมีนาคม ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงที่ฝนไม่ค่อยตกก็จริง แต่ว่าช่วงนี้จะมีหมอกควันปกคลุมภาคเหนือ ทำให้ท้องฟ้าเป็นฝ้าขาว ๆ รูปที่ได้อาจจะไม่สวย แต่ถ้าใครวางแผนมาช่วงเดือนมีนาคมแล้วก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะภายในโบสถ์วิหารก็สามารถถ่ายรูปได้ตามปกติเลยครับ สำหรับคนที่จะมาถ่ายรูปมุมสิงห์หน้าวัดภูมินทร์หากเป็นช่วงฤดูหนาวมุมนี้ค่อนข้างจะย้อนแสง เนื่องจากพระอาทิตย์จะทำมุมเฉียงไปทางทิศใต้ ดังนั้นถ้าอยากได้ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าก็ต้องมาช่วงฤดูฝนหรือตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม – 21 กันยายน ของทุกปี เพราะพระอาทิตย์จะตั้งมุมเฉียงไปทางทิศเหนือ ท้องฟ้าฝั่งตรงข้ามก็จะเป็นสีฟ้าตามหลักมุม Polarize ของแสงนั่นเอง
3.วัดภูมินทร์ สถาปัตยกรรมลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร
หลายคนอาจจะบอกว่าเที่ยววัดก็คงเหมือนๆกัน แต่ที่วัดภูมินทร์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะที่นี่จะได้เห็นสถาปัตยกรรมล้านนาแบบประยุกต์ของชาวเมืองน่านในสมัยก่อน ที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากวัดอื่น ๆในไทย โดยเฉพาะพระอุโบสถของวัดภูมินทร์ที่มีลักษณะเป็นทรงจตุรมุข(ทรงจัตุรัส)แล้วตั้งอยู่กลางลำตัวพญานาคแห่งเดียวในประเทศไทย(ไม่นับวัดภูมินทร์ที่จำลองขึ้นมาในเมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ นะครับ) ถ้าหากเรามองในแง่ของประวัติศาสตร์แล้ว การสร้างโบสถ์แบบจตุรมุขแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของอิทธิพลพม่าที่ได้รับมาจากอานันทเจดีย์เมืองพุกาม เพราะแต่เดิมเมืองน่าน(ล้านนา)เคยถูกพม่าปกครองยาวนาน 200 ปี ซึ่งถ้าเราไปเปิดค้นประวัติดู วัดภูมินทร์แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นโดย “เจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์” ในปี พ.ศ.2139 (ราว ๆ 420 ปีมาแล้ว ตรงกับสมัยพระนเรศวร) ในช่วงนั้นล้านนายังถูกปกครองโดยพม่า ทำให้ศิลปะวัฒนธรรมพม่าหลายอย่างถูกถ่ายทอดลงมายังสถาปัตยกรรมของวัดภูมินทร์ค่อนข้างมาก หรือแทบจะทั้งหมดเลยด้วยซ้ำ
แล้วอีกหนึ่งความแปลกของวัดภูมินทร์ คือการเอาโบสถ์ พระวิหาร และเจดีย์รวมอยู่ด้วยกัน ถ้าเข้าไปด้านในลองสังเกตจะเห็นว่าตรงกลางที่พระประธานหันหลังชนจะมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ ซึ่งตรงฐานที่พระประธานนั่งก็คือฐานเจดีย์นั่นเอง จริง ๆแล้วการสร้างเจดีย์ที่มีพระพุทธรูปทั้งสี่ด้านแบบนี้ เป็นคติความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากพม่าทั้งนั้น(ไปดูได้ที่เจดีย์ชเวดากอง ก็มีพระพุทธรูปอยู่ 4 ด้านเหมือนกัน) ซึ่งแต่ละด้านสื่อถึงพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้ากุสันโธ โกนาคท กัสปะ และโคตรมะ ทั้งนี้มีเรื่องเล่ากันว่า “หากใครจะไปกราบขอพรพระจตุรทิศ ให้พยามสังเกตว่าหน้าองค์พระด้านไหนยิ้มแย้มที่สุด ให้ไหว้ขอพรหน้าองค์พระประธานในด้านนั้น ก็จะได้สมปรารถนาตามที่ตั้งใจไว้” แต่เอาจริง ๆผมว่าก็พระท่านก็ยิ้มทุกองค์นะ สงสัยต้องไหว้ทั้งสี่ด้านเลยหรือป่าวไม่แน่ใจฮ่า ๆ
4.จิตรกรรมฝาผนัง”ปูม่านย่าม่าน” สัญลักษณ์แห่งความรัก
เมื่อมาน่านต้องมาวัดภูมินทร์ แล้วมาวัดภูมินทร์ต้องมาดูอะไร? ก็ต้องมาดูจิตรกรรมฝาผนังปู่ม่านย่าม่านไง เรียกได้ว่าเป็น Signature ของเมืองน่านเลย ปัจจุบัน “ภาพปู่ม่านย่าม่าน” ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุดทั้งด้านอารมณ์และองค์ประกอบของภาพ บางคนบอกว่านี่คือ “โมนาลิซ่าเมืองไทย” กันเลยทีเดียว ซึ่งภาพ “ปู่ม่านย่าม่าน “เป็นจิตรกรรมที่มีลักษณะผู้ชายกำลังทำท่าเหมือกระซิบผู้หญิง หรือบางคนก็เรียกว่า “ภาพเขียนฝาผนังกระซิบรักบันลือโลก”นั่นเอง โดยในภาพฝ่ายผู้ชายจะถอดเสื้อสักยันต์ตั้งแต่พุงลงถึงต้นขาเพื่อแสดงถึงว่าในบ้านของผู้ชายมีข้าทาสบริวาณจำนวนเท่าใด ในขณะที่ผู้หญิงจะใส่ชุดพม่าโบราณอย่างเต็มยศ ส่วนคนที่วาดภาพจิตรกรรมนี้เป็นชาวไทลื้อที่มีชื่อว่า ”หนานบัวผัน”
คำว่าปูม่านย่าม่าน ไม่ได้หมายถึงบุคลในภาพอยู่กันจนแก่นะครับ คำว่า “ปู่” หมายถึง ชายที่เข้าสู่วัยรุ่น ส่วนผู้หญิงจะเรียกว่า “ง่า” ในภาษาถิ่น แล้วเพี้ยนเป็น ย่า ส่วนคำว่า “ม่าน” ก็คือ ชาวพม่านั่นเอง และในภายหลัง นาย สมเจตน์ วิมลเกษม ได้มีการแต่งคำบรรยายให้กับภาพดังกล่าวด้วยภาษาถิ่นเหนือมีความว่า
“คำฮักน้องกูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว…จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว…ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมา คะลุม…จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม…ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป…ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้…จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้…ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…”
แปลเป็นภาษาไทยกลางได้ว่า
“ความรักของน้องนั้น…พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว…จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว…ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย…หากเอาไว้ในวังในคุ้มเจ้าเมืองมาเจอก็จะแย่งความรักของพี่ไป…เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่…จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง…ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น”
คุ้นๆมั้ยครับ จริง ๆแล้วก็เป็นประโยคหนึ่งที่อยู่ในเนื้อร้องของเพลงแลรักนิรันด์กาล ของปู่จ๋านลองไมด์ ไงละ สำหรับผมแล้วภาพปู่ม่านย่าม่านถือเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เมืองน่านกลายเป็นตัวแทนเมืองแห่งความรักไปโดยปริยาย ซึ่งภาพปู่ม่านย่าม่านจะอยู่ตรงประตูทิศตะวัดตก ถ้าใครหาไม่เจอก็ลองเดินรอบ ๆในโบสถ์ เดี๋ยวก็เห็น หรือไม่ก็ดูว่าคนมุงถ่ายรูปตรงไหนเยอะ ก็ตรงนั้นแหละครับฮ่า ๆ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อกันอีกว่า “คู่รักคู่ไหนก็ตามที่มาขอพรต่อหน้าปู่ม่านย่าม่านจะทำให้มีความรักที่ยืนยาวและมีความมั่งคั่งมั่นคงในชีวิตคู่รักอีกด้วย “
นอกจากจิตกรรมปู่ม่านย่าม่านแล้ว ภายในโบสถ์ทั้งสี่ด้าน ยังมีจิตกรรมฝาผนังอื่น ๆให้ชื่นชมอีกด้วย จิตรกรรมที่นี่จะมีลักษณะเป็นภาพวาดเสมือนจริง(realistic) ที่แสดงถึงเรื่องราววิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวน่านในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายด้วยผ้าซิ่นลายน้ำไหล การทอผ้าด้วยกี่ทอมือ หรือการทำการค้ากับชาวต่างชาติ และส่วนที่เกี่ยวข้องกับชาดกในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งการวาดภาพแบบนี้ในสมัยก่อนถือว่าเป็นการวาดภาพแบบยุคใหม่ เพราะหากไปดูหลักฐานกันแล้ววัดนี้ได้ถูกบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อปี พ.ศ. 2410 (ตรงกับช่วง ร.4) และจิตรกรรมฝาผนังก็น่าจะถูกวาดในช่วงนี้ สิ่งที่น่าสังเกตจากภาพวาดคือจะเห็นได้ว่าชุมชนเมืองน่านในสมัยก่อน ชาวพม่าหรือชาติพันธ์ต่าง ๆถือเป็นคนธรรมดาทั่วไป ที่ผสมวนเวียนมั่วกันไป เพราะสมัยนั้นยังไม่ได้มีเขตแดนที่ชัดเจน ทำให้คนแต่ละเมืองเดินทางค้าขายไปมากันเป็นเรื่องปกติโดยไม่ต้องผ่าน ตม. ใด ๆทั้งสิ้น (เรามีเขตแดนชัดเจนกันจริง ๆตอน ร.5)
5.ไปวัดภูมินทร์ ไปยังไง
“วัดภูมินทร์” เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของจังหวัดน่าน ซึ่งอยู่บริเวณหมู่บ้านภูมินทร์ หาง่ายมากปักใน GPS เลย หรือถ้าแบบ Manual หน่อยก็ ขับรถมาจากรุงเทพ ตามเส้นถนนหมายเลข 101 พอถึงแยกวัดศรีพันต้น(วัดโบสถ์สีทองๆ) ก็เลี้ยวขวามาเลยขับมาเรื่อย ๆพอถึงแยกจะเห็นวัดภูมินทร์อยู่ด้านขวามือ ซึ่งบริเวณนั้นจะมีวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร พิพิธภัณฑ์แห่งชาติน่าน อยู่ด้วย ผมแนะนำว่าให้จอดรถในพิพิธภัณฑ์ฯ เนื่องจากที่จอดรถค่อนข้างกว้างและเดินออกมาวัดภูมินท์ไม่ไกล