บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน

บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน

Highlight
  • ทีเด็ดของบ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน คือการมาดูแสงอาทิตย์พร้อมหมอกไอน้ำเป็นสีทองในตอนเช้าของฤดูหนาว ซึ่งหมอกไอน้ำจะเยอะสุดในช่วงเช้าของฤดูหนาว โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม พุ่งพรวดๆแน่นอน
  • ปัจจุบันอุทยานฯได้ทำบ่อน้ำอุ่นสำหรับแช่ตัวหรือเท้า มีทั้งแบบส่วนตัวและแบบรวม และอีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดคือการต้มไข่ออนเซ็นให้สุกภายในเวลา 17 นาที
  • บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 75 กิโลเมตร สามารถจองที่พักกับทางอุทยานฯ หรือหากเต็มก็สามารถจองที่พักเอกชนได้ ค่อนข้างไกลจากตัวอุทยานฯ แต่ใกล้กับวัดพระพุทธบาทสุทธาวาส ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่เที่ยวน่าสนใจของอำเภอแจ้ห่ม

1.บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในลำปาง

“บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน” หลายคนอาจคิดว่าคงเป็นบ่อน้ำร้อนเฉย ๆ ไม่น่าจะมีอะไรน่าตื่นตาตื่นใจ แต่เอาเข้าจริง ๆผมยกให้ “แจ้ซ้อน” เป็นบ่อน้ำร้อนที่มีสภาพภูมิทัศน์สวยงามที่สุดของไทยเลย แล้วความพีคของที่นี่ คือการมาดูหมอกไอน้ำพุ่งลอยออกมาพร้อมถูกย้อมด้วยแสงแดดสีทองสุดตระการตา ดังนั้นใครที่ตั้งใจมาเที่ยวลำปางแบบไม่ได้มาเพราะทางผ่านหรือมางานแต่งเพื่อนอะไรก็ตาม แนะนำว่าให้เอาบ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อนตั้งเป็นเป้าหมายแรกที่ควรลิสต์ไว้ในรายการเที่ยวได้เลย ยิ่งใครมาถูกเวลาแล้วรับรองว่าได้ความประทับใจกลับไปแน่นอน

บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง

บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง

“บ่อน้ำพุ้ร้อนแจ้ซ้อน” ตั้งอยู่ในที่ราบหุบเขาทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดลำปาง(เทือกเขาขุนตานตอนบน) มีทั้งบ่อน้ำร้อนธรรมดา(Hot pool) และบ่อน้ำร้อนไหลซึม (seep) มีอุณหภูมิประมาณ 68-82 องศาเซลเซียส พื้นที่บ่อน้ำร้อนรวมประมาณ 1,200 ตารางเมตร ซึ่งน้ำจากบ่อต่าง ๆจะไหลมารวมกันลงสู่ลำน้ำแม่มอนใกล้ ๆ ด้วยอัตราการไหลประมาณ 35 ลิตรต่อนาที หรือสามารถเติมได้ 35 ขวดโค้กใหญ่ ๆ ได้ภายใน 1 นาที ปัจจุบันทางอุทยานฯ ได้ปรับปรุงทิวทัศน์บริเวณโดยรอบบ่อน้ำพุร้อนให้มีความสวยงาม และทำทางเดินให้นักท่องเที่ยวใกล้ชิดกับบ่อน้ำร้อนได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย ขอเพียงแค่อย่าเดินออกนอกเส้นทางละกัน ใครสายถ่ายรูปก็ระมัดระวังในการหามุมถ่ายรูปด้วย เพราะหากตกลงบ่อน้ำร้อนละก็พองแน่นอน

บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง

บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง

 

2. แจ้ซ้อนไปช่วงไหน? ได้หมอกไอน้ำพุ่งพรวด ๆ

หลายคนเคยไปแล้วบอกว่า “ทำไมไม่เห็นมีหมอกไอน้ำออกมาเยอะ ๆเหมือนในรูปตามเว็บรีวิวท่องเที่ยวเลย” ดังนั้นผมจะมาแฮกไขความลับว่า “ไปอย่างไรให้เจอหมอกไอน้ำหรือควันขาวพุ่งพรวด ๆ” อย่างแรกเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่าหมอกไอน้ำพุ่งเยอะๆ เนี่ย หลักการเกิดมันเป็นแบบเดียวกับการเกิดไอหมอกบนน้ำ(stream fog) ก็คืออากาศเย็นจัดปะทะกับผิวน้ำที่อุ่น ก็จะทำให้เกิดไอหมอกบนผิวน้ำ แต่คราวนี้บ่อน้ำร้อนจะต่างกันนิดหน่อยตรงที่บ่อน้ำร้อนมีอุณหภูมิสูงมากอยู่แล้ว ดังนั้นอากาศไม่จำเป็นต้องเย็นจัด ขอเพียงให้อากาศอุณหภูมิไม่เกิน 27 องศาเซลเซียส ก็สามารถเกิดไอหมอกบนน้ำได้ แล้วยิ่งในช่วงตอนเช้าของฤดูหนาว อุทยานฯแจ้ซ้อนอุณหภูมิสามารถลงได้ต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำที่ร้อนมาก ๆไอน้ำระเหยกลั่นตัวกลายเป็นหมอกอย่างเฉียบพลัน จึงเกิดเป็นหมอกไอน้ำลอยขึ้นสูงในตอนเช้า ยิ่งอุณภูมิอากาศต่ำมากเท่าไหร่ หมอกไอน้ำยิ่งพุ่งลอยสูงมากเท่านั้น(ตอนผมไป 14-15 องศาเซลเซียส) ดังนั้นถ้าจะมาให้เจอหมอกพรุ่งพรวด ๆก็ต้องมาช่วงเช้า ๆของเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่จังหวัดลำปางมีอุณภูมิต่ำสุดตอนเช้าเฉลี่ยต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส ซึ่งก็ต่ำพอที่จะทำให้เกิดไอหมอกบนน้ำได้เยอะ ๆ(ถ้าให้ดีควรต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส) แล้วต้องมาเช้า ๆ เท่านั้นนะครับ เพราะว่าหลังจากที่พระอาทิตย์ขึ้นได้ประมาณ 1:15 ชั่วโมง. ไอน้ำก็จะลดลงจนหายไปในที่สุด และจะกลับมาอีกทีตอนช่วงเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดินประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ว่าตอนเย็นไอหมอกจะลอยไม่สูงเท่าตอนเช้านะครับ

ดังนั้นหลายคนที่ถามผมมาว่า “อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน” ไปช่วงไหนสวยที่สุด? คำตอบก็คือ ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพราะเป็นช่วงที่เมืองลำปางหนาวสุด โอกาสเจอไอน้ำพุงพรวด ๆสูงกว่าช่วงอื่น ๆมาก และที่สำคัญต้องไปช่วงเช้านะครับ

ไอหมอก บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง

บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง หน้าหนาว

แล้วมาฤดูฝนจะเจอหมอกไอน้ำพุ่งพรวด ๆ หรือไม่ คงตอบเลยว่าไม่เจอ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีไอหมอกเลยนะครับ มันก็พอมีบ้างปริมาณพอ ๆกับช่วงเย็นของฤดูหนาว อย่างที่ผมบอกไอหมอกจะเกิดได้เมื่ออุณหภูมิเริ่มต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส แต่ในช่วงฤดูฝนบริเวณแจ้ซ้อนตอนเช้าอุณภูมิเฉลี่ยประมาณ 22-23 องศาเซลเซียส ซึ่งก็พอมีหมอกไอน้ำได้อยู่เหมือนกัน แต่ลอยพุ่งไม่เยอะแบบหน้าหนาวแน่นอน

 

3. เก็บแสงเช้าล่าแสงเย็น ณ แจ้ซ้อน

หลายคนคงรู้แล้ว่า Hight light ของการมาบ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน คือการมาดูแสงพระอาทิตย์ขึ้นผ่านม่านหมอกไอน้ำที่ลอยมาจากบ่อน้ำร้อนในช่วงเวลาเช้า ๆ แสงอาทิตย์ที่สาดส่องมาจะย้อมหมอกให้กลายเป็นสีทอง พร้อมกับอากาศเย็น ๆที่มีไอน้ำอุ่นปะทะเป็นระลอก ดังนั้นหากมีโอกาสได้มาแล้วควรมาตอนเช้านี่แหละครับ  ขอบอกเลยว่า “ จะไปช่วงเวลาไหนก็ได้ แต่ห้ามพลาดช่วงเวลาเช้าเด็ดขาด “  แนะนำว่าควรมาก่อนพระอาทิตย์ขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะตอนช่วงเวลาแสงสนธยาก็มีความสวยงามไม่แพ้กับช่วงแสงทองเลย หากใครพลาดช่วงเวลาเช้าไปแล้ว แนะนำว่าให้มาอีกทีตอนเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดินประมาณ 1 ชั่วโมงไปเลย เนื่องจากในช่วงกลางวันที่นี่แทบจะไม่เห็นหมอกไอน้ำลอยออกมาเลย จะเห็นเพียงโขดหินเปล่า ๆ บริเวณบ่อน้ำร้อนเท่านั้น พูดง่าย ๆผมว่าช่วงกลางวันไม่ค่อยมีอะไร ถ้าเป็นไปได้ช่วงกลางวันไปเที่ยวที่อื่นดีกว่าครับ

บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง มกราคม

บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง มกราคม

บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง มกราคม

หมอกไอน้ำช่วงเย็น ๆพอมี แต่ไม่เยอะเท่าตอนเช้า

หมอกไอน้ำช่วงเย็น ๆพอมี แต่ไม่เยอะเท่าตอนเช้า

หมอกไอน้ำช่วงเย็น ๆพอมี แต่ไม่เยอะเท่าตอนเช้า

4. มารู้จักแบคทีเรียสีขาวในบ่อน้ำร้อนกันเถอะ

หลายคนเดินไปตามทางบ่อน้ำร้อนอาจจะสงสัยว่า “สีขาว ๆ ริ้วๆ ที่อยู่ในบ่อน้ำร้อน นี่มันอิหยัง?” จริง ๆแล้วสีขาว ๆ ยาว ๆ พลิ้วไปตามสายน้ำก็คือแบคทีเรีย Chloroflexus aurantiacus (ส่วนชื่อมันอ่านว่าอย่างไรนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน ตอนครูสอนในห้องเรียนหลับ) เอาเป็นว่ามันคือแบคทีเรียสีขาว เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถือกำเนิดเป็นกลุ่มแรก ๆของโลก ชอบอยู่ในที่อุณหภูมิสูง สามารถเจริญเติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิประมาณ 52-60 องศาเซลเซียส สังเคราะห์แสงได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจน มักเกิดร่วมอยู่กับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน(ชื่อสาหร่ายแต่อยู่ อณาจักรมอเนอรา ซึ่งเป็นแบคทีเรียไม่ใช่พืชนะ ฮ่า ๆ) เป็นแบคทีเรียกลุ่มอาเคียที่ทนต่อสภาะแวดล้อมแบบสุดโต่งได้ เพราะแต่ก่อนโลกของเรามีอุณหภูมิสูง ออกซิเจนไม่มี นั่นเอง สำหรับใครที่ต้องการรู้มากกว่านี้แนะนำให้ไปเปิดหนังสือชีววิทยา ม.ปลาย อยู่เรื่องอณาจักมอเนอราได้เลย เพราะผมมีความรู้เท่านี้จริง ๆ ฮ่า ๆ

 

5. ต้มไข่ออนเซนกันได้ที่บ่อน้ำร้อน

อีกหนึ่งกิจกรรมที่ผมเห็นนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ทำกัน ก็คือการเอาไข่ไก่มาต้มในบ่อน้ำร้อน ความพิเศษของการนำไข่มาต้มที่นี่ คือหากเราต้มไข่เป็นเวลา 17 นาที ในบ่อน้ำร้อน ไข่แดงจะแข็งส่วนไข่ขาวจะเป็นวุ้นเหลว หรือมักเรียกกันว่า “ไข่ออนเซ็นหรือไข่น้ำแร่” หลายคนสงสัยว่าเป็นแบบนั้นได้อย่างไร แล้วทำกินเองที่บ้านได้ไหม? โดยปกติแล้วไข่แดงจะสุกที่อุณหภูมิ 60-65 องศาเซลเซียส ในขณะที่ไข่ขาวจะสุกที่อุณหภูมิ 75-80 องศาเซลเซียส นั่นหายความว่าไข่แดงจะสุกง่ายกว่าไข่ขาวนั่นเอง และด้วยบ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนมีอุณหภูมิคงที่ประมาณ 80 องศาเซลเซียส เมื่อเรานำไข่ลงไปต้มประมาณ 17 นาที ก็จะทำให้ไข่แดงสุกก่อนไข่ขาวแน่นอน แต่ถ้าเกินเวลามากกว่านั้นไข่ขาวก็จะสุกตาม

ต้มไข่บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง

เมื่อเรารู้หลักการแล้ว เราก็สามารถทำไข่ออนเซนได้ที่บ้านนะครับ ความยากคือคุมยังไงให้อุณหภูมิคงที่ ดังนั้นวิธีการที่ง่ายสุดก็คือต้มไข่ในหม้อหุงข้าวครับ เพราะว่าหม้อหุงข้าวจะมีอุณหภูมิคงที่ประมาณ 70 องศาเซลเซียส เมื่อเทน้ำลงไปในหม้อหุงข้าว พอน้ำเริ่มอุ่นมีควันนิดแล้วก็ค่อยเอาไข่ลงไปหม้อ ทิ้งไว้ประมาณ 25 นาที (ต้องใช้เวลานานกว่าแจ้ซ้อนเพราะอุณหภูมิต่ำกว่า) ก็จะได้ไข่ออนเซนในฉบับบ้าน ๆเลยครับ และอย่าลืมว่าไข่นั้นต้องเป็นอุณหภูมิห้องนะครับ ถ้าพึ่งเอาไข่ออกมาจากตู้เย็นต้องทำให้เป็นอุณหภูมิห้องด้วย

ต้มไข่บ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อน ลำปาง

 

6. มหัศจรรย์ธรณีวิทยาบ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน

“น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน” ไหลขึ้นมาสู่ผิวดินตามรอยเลื่อนและรอยแตกของหิน ซึ่งเป็นสาขาย่อยของรอยเลื่อนแม่ทาพาดอยู่ในแนวเหนือใต้ และแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ อัตราการไหลของน้ำร้อนวัดได้ประมาณ 35 ลิตรต่อวินาที และอุณหภูมิน้ำร้อนขณะอยู่ใต้ดินประมาณ 149 องศาเซลเซียส ส่วนน้ำที่อยู่บนผิวดินจะอยู่ที่ประมาณ 68-82 องศาเซลเซียส อุณหภูมิค่อนข้างจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

แผนที่แสดงรอยเลื่อนทางภาคเหนือของไทย ที่ยังมีการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนอยู่ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนตั้งอยู่บนรอยเลื่อนสาขาแม่ทา เครดิต : กรมทรัพยากรธรณีวิทยา

“น้ำพุร้อนแจ้ซ้อน” เกิดจากแหล่งความร้อนใต้โลกของที่มาจากหินหนืดอยู่ระดับตื้นกว่าปกติ เนื่องจากบริเวณนี้ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลกที่ยังมีพลังในการเคลื่อนตัวอยู่(สาขาย่อยรอยเลื่อนแม่ทา) เมื่อฝนตกน้ำฝนจะซึมลงไปตามช่องว่างระหว่างตามรอยแตกแยกของชั้นหิน น้ำที่ไหลลงไปก็จะถูกกักเก็บในชั้นหินอุ้มน้ำด้านล่างที่มีความร้อนสูง จากการเปลี่ยนถ่ายความร้อนระหว่างหินหนืดใต้ดิน ทำให้น้ำที่กักอยู่ในชั้นหินร้อนขึ้นจนเดือดแล้วเกิดแรงดันลอยขึ้นมาตามรอยแตกแยกของหินหรือลอยขึ้นมาบนผิวดินนั่นเอง ส่วนเรื่องกลิ่นเหมือนไข่เน่าบริเวณบ่อน้ำพุร้อน แท้จริงแล้วมันก็คือก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์(H2S) หรือแก๊สไข่เน่านั่นเอง มักพบในบ่อน้ำร้อนหรือปากปล่องภูเขาไฟเป็นปกติอยู่แล้ว  และคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกลิ่นกำมะถัน แต่ในความจริงแล้วกำมะถันไม่มีกลิ่นนะครับ

 

7. ที่แจ้ซ้อนมีอะไรอีกบ้าง แล้วไปพักที่ไหน เดินทางไปยังไง

“อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน” ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองปาน จ.ลำปาง ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามถนนหมายเลข 1157 ประมาณ 75 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเมืองลำปางมาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที หรือใช้อีกเส้นทางถนนหลวงหมายเลข 1035 ซึ่งจะอ้อมแต่ผ่านแหล่งท่องเที่ยวของลำปางมากกว่า อย่างเช่นวัดหลวงปู่ผาแดง ส่วนพักที่ไหนดี? ในบริเวณอุทยานแจ้ซ้อนก็มีบ้านพักรับรองสามารถจองได้ในเว็บไซด์ของกรมอุทยานแห่งชาติ ราคาถือว่าไม่แพง มี 2 แบบ ห้องละ 900 บาท/คืน พักได้ 3 คน ห้องละ 1,200 บาท ต่อ/คืน 4 คน และบ้านพักที่อยู่บริเวณลานกางเต็นท์จะไกลจากจุดท่องเที่ยวนิดนึงประมาณ 500 เมตร แต่ราคาจะถูกมาหน่อย ห้องละ 1,000 บาท พักได้ 6 คน / ห้องละ 500 บาท พักได้ 4 คน / ห้องละ 4,000 บาท พักได้ 40 คน แต่ข้อเสียคือไม่มีแอร์ ต้องรอจนกว่าจะ 4 ทุ่มอากาศถึงจะเย็น ในช่วงหน้าร้อนอาจจะทรมานนิดนึง  สำหรับใครที่ไม่ได้มาเที่ยวแจ้ซ้อนอย่างเดียวก็สามารถไปพักรีสอร์ทเอกชนในตัวอำเภอแจ้ห่มได้นะครับ ซึ่งใกล้กับวัดพระพุทธบาทสุทธาวาส ผมแนะนำบ้านลีลาวดีรีสอร์ท ราคาไม่แพง 500 บาท/คืน พร้อมเครื่องปรับอากาศเย็น ๆ

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ลำปาง

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ลำปาง

สำหรับใครที่เดินเที่ยวแล้วรู้สึกเมื่อยตัวเมื่อเท้าจังเลย อยากแช่น้ำอุ่นคลายกล้ามเนื้อบ้าง ล่าสุดทางอุทยานฯก็จัดพื้นที่สำหรับแช่ตัวหรือแช่เท้าไว้ให้แล้ว  เป็นบ่อน้ำร้อนที่ปรับเป็นน้ำอุ่นแล้ว อุณหภูมิประมาณ 39-42 องศาเซลเซียส  มีทั้งแบบรวมและส่วนตัวเลือกได้ตามสบายเลย  นอกจากนี้ยังมีบริการนวดตัวคลายกล้ามเนื้อด้วย อยู่ตรงศาลาใกล้ ๆ กับที่แช่น้ำอุ่น

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ลำปาง

ลำน้ำแม่มอน อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ลำปาง