ปางอุ๋ง
Highlight
- ปางอุ๋ง เป็นอ่างเก็บน้ำท่ามกลางป่าสนเขาเพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย จุดเด่นของที่นี่คือการมาดูไอหมอกลอยบนน้ำตอนเช้าในช่วงหน้าหนาว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มีนาคม และจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดช่วงเดือนมกราคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ เพราะเป็นช่วงที่แม่ฮ่องสอนหนาวมากที่สุด ส่วนมุมถ่ายรูปที่สวยที่สุดจะอยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำจะเดินไปหรือล่องแพไปก็ได้ และไอหมอกบนน้ำที่นี่จะเยอะสุดช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และจะหายไปหลังแสงแดดส่องลงมาประมาณ 30 นาที
- ปางอุ๋ง ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่เก็บดาวได้สวยงามของเมืองไทย ช่วงที่เหมาะกับการมาเก็บดาวมากที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน เพราะเราสามารถถ่ายทางช้างเผือกพร้อมกับอ่างเก็บน้ำได้อย่างสวยงามที่สุด โดยที่ไม่ต้องนอนดึก พอพระอาทิตย์ตกดินไปได้ 40-45 นาที ก็เริ่มถ่ายได้เลย ส่วนจุดถ่ายดาวแนะนำจะอยู่ตรงบริเวณสันเขื่อน เนื่องจากมีสภาพเป็นทุ่งโล่ง ไม่มีต้นไม้มาบดบังท้องฟ้า
- ปางอุ๋งจะมีที่พักให้เลือก 2 แบบ แบบแรกคือนอนเต็นท์ริมอ่างเก็บน้ำ ข้อดีคือตื่นเช้ามาจะพบกับไอหมอกบนน้ำได้เลย แต่ข้อเสียคือห้องน้ำไกลมาก และแบบที่สองคือพักโฮมสเตย์ในหมู่บ้านรวมไทย ข้อดีคือสะดวกสบายเรื่องห้องน้ำและที่นอน แต่ข้อเสียคือต้องเดินจากที่พักมาประมาณ 150-300 เมตร เพื่อมาดูไอหมอกบนน้ำตอนเช้า
1. ปางอุ๋ง อ่างเก็บน้ำที่สวยงามที่สุดของไทย
ผมเชื่อว่าใครหลายคนตั้งเป้าหมายในชีวิตว่า “อย่างน้อยสักครั้งในชีวิตจะต้องมาเก็บไอหมอกบนน้ำสวย ๆที่ปางอุ๋งแห่งนี้ให้ได้” ด้วยความสวยงามของอ่างเก็บน้ำท่ามกลางป่าสนเขาที่มีความแปลกตาไม่เหมือนอื่นใดในไทย ทำให้ปัจจุบัน “ปางอุ๋ง” กลายเป็นสถานที่เป้าหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเมื่อได้มาเยือนแม่ฮ่องสอน แล้วยิ่งใครมาช่วงหน้าหนาวตอนเช้า ๆ ก็จะได้เห็นไอหมอกลอยบนน้ำได้อย่างอลังการ ซึ่งถือว่าเป็น signature ของที่นี่เลยทีเดียว ดังนั้นใครที่กำลังวางแผนหาสถานที่เที่ยว นอนกางเต็นท์ท่ามกลางป่าสนริมอ่างเก็บน้ำรับอากาศเย็น ๆ “ปางอุ๋ง” ก็เป็นหนึ่งในสถานที่ควรไปอย่างยิ่ง ผมรับรองว่าปางอุ๋งสวยงามในแบบที่สวิสไม่มีแน่นอน(เพราะอย่าลืมว่า สวิสฯ ไม่มีต้นสนสามใบนะครับ ฮ่า ๆ)
“ปางอุ๋ง” ตั้งอยู่ในหมู่บ้านรวมไทย อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ใช้เส้นทางเดียวกับบ้านรักไทย แต่ว่าปางอุ๋งจะต้องเลี้ยวซ้ายก่อนตรงหมู่บ้านนาป่าแปก คำว่า “ปางอุ๋ง” มาจากภาษาเหนือแปลว่า “ที่พักกลางป่าใกล้กับลุ่มน้ำแฉะ ๆ” (ปาง = ที่พักกลางป่า , อุ๋ง = ที่ราบลุ่ม) เพราะแต่เดิมตรงบริเวณปางอุ๋งเป็นเพียงแค่ลำน้ำห้วยมะเขือส้ม ต่อมามีการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำ จากลำห้วยเล็ก ๆ ก็กลายเป็นอ่างเก็บน้ำที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านแถบนี้ แล้วถ้าใครสังเกตดี ๆในอ่างเก็บน้ำจะมีหงส์ดำและขาว อย่างละ 2 ตัว ใครชอบถ่ายรูปสัตว์สวยๆ แนะนำให้เอาเลนส์ระยะยาวมาด้วย จะไม่ได้พลาดจังหวะหงส์สวย ๆ ในน้ำ และอีกหนึ่งจุดเด่นของปางอุ๋งคือป่าสนที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ใครสายถ่ายรูป Portrait แล้วอยากมีฉากหลังเป็นต้นสนสูง ๆเรียงราย ที่นี่ก็มีมุมให้ได้ถ่ายรูปกันแบบจัดเต็มเลยครับ
2. ปางอุ๋งไปช่วงไหน ไม่พลาดไอหมอกบนน้ำ
นักท่องเที่ยวหลายคนมาปางอุ๋ง แต่กลับไม่เจอไอหมอกบนน้ำเหมือนในรูปภาพตามรีวิวพันทิปหรือเพจท่องเที่ยวเลย ดังนั้นผมจะมาแฮกเลยว่า “วางแผนเที่ยวอย่างไรให้เจอหมอกสวย ๆแบบในภาพตามเพจเว็บรีวิวท่องเที่ยว” เริ่มจากต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าไอหมอกบนน้ำที่เกิดขึ้นเหนือพื้นน้ำ เป็นหมอกที่มีลักษณะแบบ “หมอกไอน้ำ(stream fog)” ซึ่งเกิดจากอากาศเย็นจัดลอยไปบนผิวน้ำที่อุ่นกว่าอากาศ น้ำที่อุ่นจะมีการระเหยไปกระทบอากาศเย็นจัดเหนือน้ำ เนื่องจากอากาศเย็นจะมีความสามารถอุ้มไอน้ำได้น้อย ทำให้น้ำที่ระเหยควบแน่นกลายเป็นหมอกไอน้ำทันที คล้ายกับการอาบน้ำอุ่นในห้องแอร์แล้วมีควันลอยเต็มห้องน้ำ และแอ่งน้ำไหนที่มีความนิ่ง ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดไอหมอกบนน้ำได้มากขึ้น เพราะว่าน้ำที่นิ่งจะสะสมความร้อนจากดวงอาทิตย์ในตอนกลางวันได้ดีกว่าน้ำที่มีการไหลนั่นเอง ดังนั้นกลางวันท้องฟ้าต้องโปร่งด้วย แดดจะช่วยส่องทำให้แอ่งน้ำอุ่นขึ้นด้วย หากวันไหนกลางวันมีเมฆมาก เช้าวันต่อมาโอกาสเกิดไอหมอกบนน้ำจะน้อยตาม หรือมีไม่เยอะ
จากการสังเกตของผมแล้วหมอกชนิดนี้จะเจอได้ดีในวันที่ลมค่อนข้างสงบ และจะต้องเป็นวันที่อุณหภูมิอากาศลงต่ำมาก ๆ สำหรับทางภาคเหนือของไทยแล้วอุณหภูมิควรต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส และจะเกิดขึ้นเยอะมาก ๆ เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส แล้วไปช่วงไหนถึงจะเจออุณหภูมิต่ำขนาดนี้? ถ้าเอาแบบแน่นอนเลยก็ประมาณช่วงสัปดาห์ปลายเดือนมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์(20 ม.ค. – 15 ก.พ.) เพราะเป็นช่วงที่แม่ฮ่องสอนมีอุณหภูมิพื้นราบต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส ทำให้บ้านรวมไทยยังไงก็ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียสแน่ ๆ เนื่องจากว่าบ้านรวมไทยตั้งอยู่บนภูเขาสูงเฉลี่ย 1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และอยู่สูงกว่าตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 830 เมตร จึงทำให้ที่นี่ตอนเช้ามีอากาศเย็นกว่าตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเฉลี่ยประมาณ 4 – 5 องศาเซลเซียส ตามตารางด้านล่างเลย
จากตารางเห็นได้เลยว่า ถ้ามาเพื่อตั้งใจมาดูไอหมอกเหนือน้ำ ช่วงฤดูฝนไม่ต้องมาเลย ไม่มีแน่นอน และจากตารางจะเห็นได้ว่าเดือนมีนาคมมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำมาก แน่นอนว่ามีไอหมอกบนน้ำแน่ ๆ แต่ว่าผมไม่ค่อยแนะนำให้ไปนะครับ เพราะช่วงนี้มีไอหมอกบนน้ำก็จริง แต่ว่าท้องฟ้าโดยส่วนใหญ่จะปกคลุมไปด้วยหมอกควัน นอกจากจะถ่ายรูปออกมาไม่สวยแล้ว(ท้องฟ้าเป็นฝ้าขาว) ยังอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย ถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยงอย่างยิ่ง
โดยสรุปแล้ว “ปางอุ๋ง” ไปช่วงเดือนไหนสวยที่สุด? ผมขอตอบตรงนี้เลยว่า “ช่วงกลางเดือนมกราคม – กลางเดือน กุมภาพันธ์” เพราะมีโอกาสเจอไอหมอกลอยบนน้ำได้มากที่สุด และท้องฟ้าด้านบนยังไม่มีหมอกควันมารบกวน อยากเจอไอหมอกบนน้ำสวยๆต้องมาช่วงนี้เลย
3. เก็บแสงเช้าพร้อมไอหมอกลอยบนน้ำสวย ๆ
เมื่อมาถึงปางอุ๋งแล้วสิ่งที่ห้ามพลาดเลย คือการมาดูไอหมอกบนน้ำพร้อมกับแสงเช้าที่ย้อมไอหมอกให้กลายเป็นสีทองสวยงามตระการตา ซึ่งไอหมอกบนน้ำที่ปางอุ๋งจะเริ่มเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงกลางดึก(ถ้าวันไหนหนาว ๆสัก 2-3 ทุ่มก็เริ่มมีแล้ว) แต่ปริมาณไอหมอกเยอะมากที่สุดก็ตอนก่อนพระอาทิตย์ขึ้น พอหลังจากที่พระอาทิตย์ขึ้นมาแล้วประมาณ 30 นาที ไอหมอกจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากอากาศที่ผิวน้ำอุ่นขึ้น ดังนั้นใครตั้งใจไปดูไอหมอกเหนือน้ำต้องตื่นเช้าอย่างน้อยก็ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมง และใครเป็นสายถ่ายรูปควรวางแผนหามุมตั้งแต่ตอนเย็นเลยนะครับ เพราะถ้ามัวจะมานั่งหามุมกันตอนเช้าผมว่าอาจจะไม่ทันไอหมอกบนน้ำนะครับ อย่าลืมว่าปางอุ๋งพื้นที่กว้างมาก และไอหมอกบนน้ำจะหายไปหลังพระอาทิตย์ขึ้นไปแล้ว 30 นาที
ขอบอกเลยว่าที่นี่ในตอนเช้ามีมุมให้ถ่ายรูปเยอะมาก ๆ ก็แล้วแต่ว่าใครจะไปมุมไหน ไม่จำเป็นต้องซ้ำกับมุมผมก็ได้ แต่ถ้าถามผมว่าตรงไหนเก็บแสงเช้าได้ดีที่สุด ผมแนะนำให้เดินไปท้ายอ่างเก็บน้ำ อยู่ถัดจากลานกางเต็นท์ไปประมาณ 300 เมตร จุดนี้เราจะเห็นอ่างเก็บน้ำเป็นแนวยาวไปทางด้านทิศตะวันออก หรือใครจะนั่งแพไม้ไผ่ไปท้ายอ่างก็ได้ ซึ่งจะเสียค่าแพลำละ 150 บาท นั่งได้ 2 คน (เฉลี่ยคนละ 75 บาท ถือว่าไม่แพง) การล่องแพจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 25-30 นาที ใครที่จะนั่งแพเก็บแสงเช้าแบบผม แนะนำให้เริ่มนั่งแพตอนพระอาทิตย์ขึ้นพ้นขอบภูเขา(เวลาพระอาทิตย์ขึ้นในแอปโทรศัพท์ + 15 นาที) เพราะเมื่อแพล่องไปถึงท้ายเขื่อนแล้วเราจะเห็นแสงสีทองสาดลงมาแอ่งน้ำได้พอดี โดยที่ไอหมอกบนน้ำยังไม่สลายหายไปหมด
4. มาเก็บดาวที่ปางอุ๋งกันเถอะ
ปางอุ๋ง ตั้งอยู่บนภูเขาสูงใกล้กับชายแดนไทย – พม่า และห่างจากตัวเมืองใหญ่ค่อนข้างมาก แน่นอนว่า “ปางอุ๋ง” เป็นหนึ่งในสถานที่มีมลภาวะทางแสงน้อยมาก จึงเหมาะกับการเก็บดาวเป็นอย่างยิ่ง ผมว่าดาวที่นี่ชัดพอ ๆกับดอยเสมอดาว(ดอยเสมอดาวชัดดว่านิดนึง แต่ที่นี่ Landscape สวยกว่า) ใครสายล่าดาวแบบผมเมื่อมาถึงปางอุ๋งแล้วพอพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าให้รีบแบกขาตั้งกล้องออกมายิงดาวรัว ๆ ตรงบริเวณสันเขื่อนได้เลย เพราะตรงนี้เป็นทุ่งโล่งกว้าง นอกจากมองเห็น Landscape ได้กว้างไกลแล้วยังหนีหลบแสงรบกวนจากเต็นท์ได้ด้วย สำหรับเดือนที่เหมาะกับการมาเก็บดาวมากที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ย. เนื่องจากเป็นช่วงที่ทางช้างเผือกจะปรากฎด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ถ้าเราอยู่บนสันเขื่อน เราจะได้รูปภาพปางอุ๋งที่ท้องฟ้ามีทางช้างเผือกเป็นองค์ประกอบเหมือนกับภาพด้านล่าง และที่สำคัญคือสามารถล่าช้างได้หลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปแล้วประมาณ 40-45 นาที ทำให้ไม่ต้องนอนดึกมาก ส่วนมาช่วงไหนทางช้างเผือกปรากฎมุมไหน และวันไหนแสงจันทร์ไม่รบกวน ผมได้ทำตารางไว้ให้แล้วคลิกลิงค์ได้เลย
5. ปางอุ๋ง ไปพักที่ไหน นอนโฮมสเตย์หรือกางเต็นท์ดี
หลายคนกำลังวางแผนมาปางอุ๋งแต่ไม่รู้ว่าจะไปพักที่ไหนดี? จริง ๆแล้วปางอุ๋งมีที่พักให้เลือกหลายแบบมาก อยู่ที่ว่าเราจะเลือกพักแบบสบาย ๆ หรือเน้นความเป็นธรรมชาติ ซึ่งผมจะแบ่งตามด้านล่างนี้เลย
แบบแรก คือกางเต็นท์ริมอ่างเก็บน้ำปางอุ๋ง เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติ ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ จะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด ใครจะมานอนกางเต็นท์ที่นี่หากนำเต็นท์มาเองจะเสียค่าบริการคนละ 50 บาท แต่ถ้าใครขี้เกียจแบกเต็นท์มาเองทางอุทยานฯก็มีเต็นท์ให้เช่าในราคา 400 บาท/เต็นท์ นอนได้ 2 คน และราคา 450 บาท/เต็นท์ นอนได้ 3 คน ทั้งนี้ไม่รวมค่านำรถเข้าอุทยานฯที่ต้องเสียแยกอีก 30 บาท/คัน ข้อดีของการนอนเต็นท์คือตื่นเช้ามาก็พบเจอกับไอหมอกบนน้ำได้เลย แต่ข้อเสียคือห้องน้ำอยู่ไกลมาก จริง ๆแล้วในปางอุ๋งกำลังมีบ้านพักของอุทยานฯนะครับ แต่ว่ากำลังก่อสร้างคาดว่าน่าจะเสร็จภายในปี 2564 เอาไว้ผมอัพเดทให้ครับ
แบบที่สอง คือพักโฮมสเตย์ในหมู่บ้านรวมไทยที่อยู่ด้านหน้าทางเข้าปางอุ๋ง จริง ๆแล้วในหมู่บ้านรวมไทยมีที่พักเยอะมาก แต่ในครั้งที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปพักบ้านลุงปาละ ซึ่งถือเป็นที่พักเพียงไม่กี่แห่งในหมู่บ้านนี้ที่อยู่ในระดับมาตราฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสะอาดห้องพัก หรือระบบการจองอะไรต่าง ๆที่ง่ายมาก และราคาไม่แพงด้วย ห้องพัก 2 คน ราคาอยู่ที่ 1,000-1,200 บาท/ห้อง/คืน เท่านั้น ทั้งนี้รวมอาหารเช้าแล้วด้วย สำหรับผมแล้วที่นี่ถือว่าคุ้มค่าเลยทีเดียวครับ ใครสนใจจองห้องพักให้คลิกเข้าไปเลือกวันจองได้ที่ ลุงปาละโฮมสเตย์ เลยครับ
ใครมาปางอุ๋งเรื่องของกินก็ไม่น่าเป็นห่วง ในช่วงเย็น ๆใครอยากกินหมูกระทะก็สามารถสั่งร้านค้าของชาวบ้านได้เลย อยู่ใกล้กับจุดลงทะเบียนกางเต็นท์ หรือใครขี้เกียจย่างหมู ก็เดินออกมาหาของกินที่หมู่บ้านรวมไทยได้ มีหลายร้านให้เลือก และขายกันยันดึก ตรงนี้นอกจากมีร้านอาหารแล้วยังมีร้านขายของฝากผักผลไม้สด ๆด้วย ก่อนกลับบ้านก็อย่าลืมแวะดูของนะครับ สุดท้ายผมได้รวบรวมชื่อที่พักและเบอร์โทรในหมู่บ้านรวมไทย เอาไว้กรณีใครอยากพักที่อื่น หรือบ้านลุงปาละเต็มนะครับ ลุงสร้อยเงินโฮมสเตย์ เบอร์โทร 080-122-6795 / กอละโฮมสเตย์ เบอร์โทร 080-670-5415 /ลุงนะโฮมสเตย์ เบอร์โทร 089-759-5589 / นายจิ่งโฮมสเตย์ เบอร์โทร 080-677-9169 , 083-581-4227 / ลุงตาบูนโฮมสเตย์ เบอร์โทร 086-116-3694, 093-990-8955 / นายอุทิศ(ขิ่น)โฮมสเตย์ เบอร์โทร 081-386-4814,082-399-2664 / ลุงยอโฮมสเตย์ เบอร์โทร 087-656-3424, 082-764-2039
การเดินทางไปปางอุ๋ง จะใช้เส้นทางเดียวกับบ้านรักไทย เริ่มจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนมาประมาณ 10 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายไปทางหลวงชนบท มฮ. 4001 ทางเดียวกับที่ไปภูโคลนหรือสะพานซูตองเป้ ขับไปเรื่อย ๆ พอเห็นป้ายเลี้ยวไปบ้านรักไทยหรือพระตำหนักปางตอง ก็ให้เลี้ยวซ้ายตามป้าย พอถึงหมูบ้านนาป่าแปก จะมีป้ายบอกให้เลี้ยวซ้ายไปปางอุ๋ง ปัจจุบันนี้เส้นทางจากบ้านนาป่าแปกไปปางอุ๋งได้ขยายถนนให้กว้างกว่าเดิมนิดนึงและลาดยางใหม่หมดตลอดทั้งสายแล้ว ลดความน่ากลัวจากเมื่อก่อนไปเยอะมาก แต่อย่างไรก็ต้องระวังอยู่ดี เพราะถนนที่ขึ้นมาค่อนข้างชันและโค้งแคบเยอะ ซึ่งจะมีจุดที่ต้องระวังดังนี้
- ช่วงกิโลเมตรที่ 16 จนถึงพระตำหนักปางตอง(ช่วงน้ำตกผาเสื่อ)จะเป็นช่วงที่โค้งแคบและชันหักศอกประมาณ 8% (น้อง ๆอ่างขาง) ช่วงนี้จะต้องใช้ระมัดระวังในการขับรถมากที่สุด ขาขึ้นพยามใช้เกียร์ต่ำคุมรอบเครื่องไม่ให้เกิน 3,000 จะดีที่สุด มันอาจจะขึ้นช้าหน่อยแต่เครื่องไม่มี Heat แน่นอน ส่วนขาลงใช้เกียร์ 1-2 เพื่อช่วยเบรก(Engine Break)เวลาลงเขา พยามแตะเบรกให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ อย่าลากเบรกยาว เพราะเป็นช่วงที่ขึ้นลงเขาชันยาวประมาณ 7 กิโลเมตรได้ ถนนลาดยางตลอดสายไม่มีดินโคลน
- ช่วงบ้านนาป่าแปลกไปปางอุ๋ง ช่วงนี้มีระยะทางประมาณ 4 ก.ม. จะเป็นถนนลาดยางค่อนข้างแคบตลอดทั้งสาย ช่วงแรกผ่านกลางหมู่บ้านไม่มีอะไร แต่หลังจากนั้นจะเป็นช่วงโค้งชัน ในโค้งมุมอับที่มองไม่เห็นรถที่สวนมาแนะนำให้บีบแตไว้ก่อนเลยครับ พอผ่านช่วงกลางไปแล้วก่อนจะถึงจะเป็นทางโค้งนิดๆหน่อยไม่มีขึ้นเนินชัน แต่ต้องระวังเวลาหลบรถที่สวนมา เพราะไหล่ถนนชันมา