ถ้ำน้ำลอด

ถ้ำน้ำลอด

Highlight
  • “ถ้ำน้ำลอด” เป็นถ้ำที่มีธรรมชาติสุดอลังการแห่งหนึ่งของไทย ถ้ำน้ำลอดเป็นถ้ำหลักที่มีน้ำไหลผ่าน และจะมีโถงถ้ำย่อยแตกไปอีก 3 ถ้ำ ได้แก่ ถ้ำตุ๊กตา ถ้ำเสาหิน ถ้ำผีแมน และไฮไลท์จริง ๆจะอยู่ที่ถ้ำผีแมน ซึ่งจะต้องนั่งแพไปเท่านั้น ดังนั้นผมแนะนำว่าให้ไปโถงถ้ำผีแมนก่อนแล้วค่อยย้อนกลับมาเที่ยวถ้ำเสาหินกับถ้ำตุ๊กตา
  • ถ้ำน้ำลอดเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 08:00 -17:00 การเดินเข้าถ้ำจะต้องจ้างไกด์ 150 บาท และค่าแพ 300 บาท รวม 450 บาท แพสามารถนั่งได้ 4 คน ถ้าจะมาเที่ยวให้ครบ 3 โถงถ้ำ ต้องมาช่วงเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม(ฤดูแล้ง)เท่านั้น หากมาช่วงฤดูฝนจะเที่ยวถ้ำเสาหินได้เพียงถ้ำเดียว เพราะระดับน้ำจะสูงเกินไป
  • สำหรับคนที่อยากได้รูปสวย ๆไปอวดเพื่อน แนะนำให้เอากล้อง DSLR หรือ MLR และขาตั้งกล้องเข้าไปด้วย เนื่องจากในถ้ำมีเพียงแสงไฟจากตะเกียงของไกด์เท่านั้น ไม่แนะนำให้เอากล้องโทรศัพท์ถ่าย เพราะถ่ายยากมากและไม่สวยเท่าที่ควร ยกเว้นกล้องหัวเหว่ย p30pro อันนี้ยอม แต่ถ้าให้ดีเอา DSLR MLR ไปเถอะฮ่า ๆ

1. ถ้ำน้ำลอด สถานที่สุด unseen แม่ฮ่องสอน

ถ้าให้ผมพูดถึงสถานที่ในแม่ฮ่องสอนว่าที่ไหน unseen แล้วธรรมชาติโคตร Amazing ผมยกให้ “ถ้ำน้ำลอด” เป็นที่สุดของถ้ำในแม่ฮ่องสอนเลย แล้วก็น่าจะติดอันดับแรก ๆของถ้ำที่มีความสวยงามอลังการของไทยด้วย ยิ่งใครชอบเที่ยวแบบสายลุย ๆ แล้วอยากได้รูปภาพสถานที่แปลก ๆ แน่นอนว่า ”ถ้ำน้ำลอด” เป็นจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง ส่วนทำไมชื่อว่า “ถ้ำน้ำลอด” ก็ตรง ๆเลยครับ เพราะว่าถ้ำแห่งนี้มี ”ลำน้ำลาง” ไหลลอดผ่านเข้าไปในถ้ำแล้วทะลุออกอีกด้านของถ้ำ สุดท้ายแล้วลำน้ำนี้จะไหลไปรวมกับแม่น้ำปายในที่สุด

ถ้ำน้ำลอด ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน

ถ้ำน้ำลอด ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน

ถ้ำน้ำลอดนับว่าเป็นอีกถ้ำหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งมีความยาวรวมประมาณ 1,666 เมตร ความกว้างสุด 60 เมตร ส่วนสูงจากพื้นถึงเพดานถ้ำบางจุดมากกว่า 20 เมตร และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 655 เมตร(อ้างอิงจากสเกลแผนที่ด้านล่าง) ซึ่งถ้ำแห่งนี้จะมีถ้ำหลักเรียกว่า “ถ้ำน้ำลอด” โดยมีลำน้ำไหลผ่านตลอดระยะทางรวม 600 เมตร และมีโถงถ้ำหรือโพรงถ้ำย่อย ๆ ได้แก่ โถงถ้ำเสาหิน โถงถ้ำตุ๊กตา โถงถ้ำผีแมน การเดินทางไปโถงถ้ำเสาหินกับโถงถ้ำตุ๊กตานั้นสามารถเดินไปตามแนวหินของถ้ำได้หรือจะนั่งแพไปก็ได้ แต่ผมแนะนำว่าเดินไปจะได้เสพบรรยากาศของถ้ำได้ดีกว่า ส่วนโถงถ้ำผีแมนจะต้องล่องแพไปเท่านั้น ระยะทางล่องแพประมาณ 300 เมตร หลายคนมักขี้เกียจไปถ้ำนี้ แต่ผมบอกเลยว่าห้ามขี้เกียจ ไม่งั้นพลาดของเด็ดแน่นอน

ภาพแผนที่ภายในถ้ำน้ำลอด เครดิตรูปจาก : https://www.thailandcaves.org.uk/

2. พาไปสำรวจถ้ำน้ำลอด ด้านในมีอะไรให้ว้าวบ้าง

เริ่มแรก เราจะต้องเดินจากประตูทางเข้า(จุดที่จ้างไกด์)ไปถึงหน้าปากถ้ำ ซึ่งเป็นทางเดินป่าประมาณ 300 เมตร(แนะนำว่าให้เข้าห้องน้ำอะไรให้เรียบร้อยก่อนนะ) พอเดินถึงปากถ้ำจะมีทางเดินเข้าไป เมื่อเดินเข้าไปประมาณ 150 เมตร(ระวังหัวชนหินย้อยด้วย) ก็จะถึงบันไดที่ขึ้นไปถ้ำเสาหิน ภายในถ้ำเสาหินก็จะมีธรรมชาติของหินงอกหินย้อย หินคล้ายๆรูปเค้กตรงริมบันไดทางขึ้น หลังจากนั้นเมื่อเดินขึ้นก็จะเจอกับผนังถ้ำที่มีลักษณะคล้ายข้าวโพดคั่วหรือหินป๊อบคอร์น และมีม่านหินย้อยสะท้อนแสงแวว ๆ หลายคนเรียกว่า “หินกากเพรช” ซึ่งเกิดจากแร่แคลไซด์สะสมจากน้ำใต้ดินมาเป็นเวลาหมื่นปี และที่ห้ามพลาดเลยคือเสาหินที่เกิดจากหินงอกหินย้อยมาบรรจบกันสูงถึง 21.5 เมตร นับว่าเป็นเสาหินที่เกิดจากธรรมชาติที่สูงมาก ผมลองคำนวณเล่น ๆแล้วก็น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านปี ส่วนใครอยากรู้ตัวเลข 1.5 ล้านปีมาจากไหนเพิ่มอ่านต่อหัวข้อที่ 7 เลย

ถ้ำน้ำลอด แม่ฮ่องสอน
ปากทางเข้าถ้ำน้ำลอด

ถ้ำน้ำลอด แม่ฮ่องสอน
ปากทางเข้าทางน้ำลอด มองจากด้านในออกไปข้างนอก

ถ้ำน้ำลอด ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน
หินงอกรูปคล้าย ๆกับขนมเค้ก

ถ้ำน้ำลอด หินงอกหินย้อย
หินงอกคล้ายรูปขนมเค้ก ตรงบันไดทางขึ้นไปโถงถ้ำเสาหิน

ถ้ำน้ำลอด เสาหินงอกหินย้อย
เสาหินสูงกว่า 21.5 เมตร ภายในโถงถ้ำเสาหิน

ช่วงที่สอง เมื่อเราเดินลงบันไดจากโถงถ้ำเสาหินแล้ว ต่อไปเราจะไปโถงถ้ำตุ๊กตา ซึ่งจะต้องข้ามลำน้ำลางไปอีกฝั่งด้วยสะพานไม้ แล้วจะต้องเดินขึ้นบันไดที่โคตรชันและสูงมาก เมื่อขึ้นไปถึงแล้วจะเห็นหินงอกหินย้อยที่คล้ายรูปตุ๊กตา จระเข้ หรืออะไรก็ว่าไปตามจินตนาการของแต่ละคน นอกจากนี้ภายในถ้ำยังมีภาพเขียนของมนุษย์โบราณ และมีกระดูกมนุษย์โบราณที่มีอายุตั้งแต่ 2,000 – 13,000 ปีที่แล้ว(ยุคน้ำแข็งตอนปลาย)ให้ได้ชมด้วย เรียกได้ว่าเป็นสถานที่อาศัยของมนุษย์เก่าแก่ของไทยเลย (ขอนอกเรื่องหน่อยหลักฐานก็อยู่โต้ง ๆว่าคนอยู่แถวนี้มานานแล้ว แต่มีลุงคนหนึ่งบอกว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต แหม่ก็ไม่รู้จะพูดอะไรดี ฮ่า ๆ ปล่อยแกไปเถอะ)

ถ้ำน้ำลอด  แม่ฮ่องสอน
สะพานไม้ข้ามลำน้ำลาง ภายในโถงถ้ำน้ำลอด

ถ้ำน้ำลอด โถงถ้ำตุ๊กตา
บันไดขึ้นไปโถงถ้ำตุ๊กตา

ช่วงที่สาม ต่อจากโถงถ้ำตุ๊กตาแล้วเราจะต้องไปโถงถ้ำผีแมน ซึ่งผมเรียกได้ว่าเป็น Highlight ของที่นี่เลย หากใครไม่ไปผมว่าพลาดมาก ๆ แต่การจะไปโถงถ้ำผีแมนจะต้องนั่งแพเท่านั้น ระยะทางล่องแพประมาณ 300 เมตร หลักจากแพเทียบท่าแล้วเราจะต้องเดินขึ้นบันไดไปอีก บันไดสูงชันน้อยกว่าถ้ำตุ๊กตานิดหน่อย แต่ขี้นกเยอะมาก ถึงกับเหม็นนิด ๆ เลย แต่ต้องขึ้นครับเมื่อมาถึงแล้ว พอขึ้นไปเราก็จะเจอกับมุมสุดยอดของถ้ำนี้ ก็คือจะเห็นปากถ้ำทางออกของลำน้ำลาง ซึ่งจะใหญ่กว่าปากถ้ำที่เราเดินเข้ามาช่วงแรก ตรงจุดนี้เราจะเห็นลำน้ำลางที่ไหลออกจากปากถ้ำเข้าสู่ป่าไม้สีเขียว อธิบายไปก็เท่านั้นไปดูรูปกันเลยดีกว่า นอกจากนี้ถ้าเดินเข้าไปด้านในอีกจะเป็นที่เก็บโลงศพไม้ของมนุษย์โบราณอายุมากกว่า 2,000 ปี ซึ่งก็เป็นที่ไปที่มาของชื่อ “ถ้ำผีแมน” นั่นแหละครับ เพราะว่ามีโลงศพมนุษย์โบราณอยู่ในถ้ำนั่นเอง (ช่วงที่ฝนตกไกด์บอกว่าขี้นกจะเหม็นมาก ๆ ใครจะไปก็ดูด้วยว่าวันนั้นฝนตกมั้ย)

ถ้ำน้ำลอด ปางมะผ้า

ถ้ำน้ำลอด ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน

หลายคนไปถ้ำตุ๊กตาแล้วรู้สึกว่าเหนื่อย ไม่ยอมไปถ้ำผีแมน บอกเลยว่าพลาดแล้วครับ เพราะความสวยของถ้ำนี้มันอยู่ที่ถ้ำผีแมน คือถ้าให้ผมพูดตรง ๆเลย ถ้าไม่ไปโถงถ้ำผีแมน แปลว่าไปไม่ถึงถ้ำน้ำลอด ดังนั้นผมแนะนำว่าใครลงมาจากโถงถ้ำเสาหินแล้วเหนื่อย แนะนำให้บอกไกด์ว่า “ข้ามไปโถงถ้ำผีแมนเลยก็ได้” เมื่อไปชมความงามของถ้ำผีแมนแล้วหากยังมีแรงอยู่ค่อยขึ้นไปถ้ำตุ๊กตา สาเหตุที่อยากให้ไปถ้ำผีแมนก่อนก็เพราะถ้ำผีแมนสวยกว่าและไม่ควรไปเสียความเหนื่อยกับถ้ำตุ๊กตาที่ต้องเดินขึ้นสูงมากแถมข้างบนยังมีคาร์บอนสูงที่เกิดจากการละลายของหินปูน ทำให้หายใจไม่สะดวกและเหนื่อยเร็วอีกด้วย เดี๋ยวจะไม่มีแรงไปถ้ำผีแมนซะก่อน

3. ถ่ายรูปในถ้ำน้ำลอด ถ่ายยังไงดี มันมืดมาก

ถ้ำน้ำลอดยังเป็นถ้ำที่ยังคงเป็นธรรมชาติและยังสมบูรณ์อยู่มาก แทบไม่มีสิ่งก่อสร้างจากมนุษย์เลย ไม่ว่าจะเป็นสายไฟหรือทางเดินที่ทำให้สภาพภูมิทัศน์เสียหาย ซึ่งแสงสว่างภายในถ้ำจะมาจากตะเกียงไฟเท่านั้น แน่นอนว่าการถ่ายรูปในถ้ำที่มีแสงสว่างจำกัดเป็นอะไรที่ยากมาก เมื่อใครหลายคนไปเที่ยวถ้ำคงมีคำถามว่า “ทำไมรูปที่ถ่ายมันไม่สวยเหมือนเว็บรีวิวท่องเที่ยวเลย?” แน่นอนครับว่าการถ่ายภาพในถ้ำที่แสงสว่างมาจากตะเกียงไฟเท่านั้นเป็นเรื่องที่ยาก หรือแม้กระทั่งถ้ำผีแมนเวลาถ่ายภาพตรงจุด highlight ที่มีความแตกต่างของแสงระหว่างปากถ้ำที่สว่างกับในบริเวณถ้ำที่มืด ทำให้การวัดแสงจะยากมาก ๆ ผมบอกเลยว่าการถ่ายรูปในถ้ำเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับนักถ่ายรูปสาย Landscape แม้กระทั่งผมเอง แต่ผมก็มีทริคเล็ก ๆที่กลั่นมาจากประสบกาณ์สำหรับการถ่ายรูปในถ้ำตามนี้เลย

  • เมื่อเข้าไปในถ้ำแล้วให้เอามือถือเก็บลงในกระเป๋าไปเลย เพราะแทบจะถ่ายอะไรไม่ได้ ต่อให้เป็นโทรศัพท์รุ่นดี ๆกล้องเทพๆก็ตาม(ยกเว้นหัวเหว่ย P30PRO อันนี้ยอม) กล้องที่ใช้ควรเป็นกล้อง DSLR หรือ MLR ยิ่งถ้าเป็นกล้องเซนเซอร์ Full Frame จะได้เปรียบเรื่อง Dynamic Range เป็นอย่างมาก สามารถเก็บส่วนมืดสว่างได้ดีกว่ากล้องตัวคูณ (สาวก Nikon ก็ต้องเป็น Nikon D8xx – D6xx จะได้เปรียบมาก)
  • เตรียมขาตั้งกล้องไปด้วย อันนี้โคตรจำเป็นเลย เพราะภายในถ้ำมืดมาก จะมีเพียงแค่แสงไฟจากตะเกียงเท่านั้น หากใครไม่มีขาตั้งกล้องจะต้องเปิด iso สูงสุดเท่าที่กล้องเรามีหรือ 6400 ขึ้นไป แน่นอนว่า Noise บานแน่ ๆ ดังนั้นเอาขาตั้งกล้องไปเถอะ ขนาดใช้ขาตั้งกล้องผมเปิด iso 400 ยังต้องใช้ Speed Shutter มากกว่า 20 วินาทีเลย ดังนั้นถ้าไม่อยาก Noise เยอะก็ควรพกขาตั้งไปเถอะ แม้จะเป็นหัวเหว่ย P30Pro ก็ต้องมีขาตั้งนะครับ
  • ต่อมาการตั้งค่า โดยทั่วไปแล้วผมจะใช้ค่า iso 400 – 800 เปิด 6-8.0 Speed Shutter 20-30 วินาที แล้วถ่าย Dark frame ซ้อนอีกหนึ่งใบ เพื่อขจัด Noise ให้ได้มากที่สุด รูปหนึ่งผมใช้เวลารวมๆ 1 นาทีได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเวลาเราควรกะมุมก่อนกดถ่ายชัดเตอร์
  • อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนลืมถาม แต่ผมรู้ว่าสถานการณ์จริงจะต้องถาม ก็คือโฟกัสยังไงเพราะมันมืดไปหมด? ผมแนะนำเลยว่าวิธีโฟกัสแบบง่าย ๆเลยให้ไกด์ยืนถือตะเกียงไประยะไกล ๆหรือตามระยะ Hyperfocal Distance แล้วเปิดโหมด Auto Focus เมื่อโฟกัสเสร็จก็ปิด Auto Focus เปิดเป็น Manual Focus แล้วยิงชัดเตอร์โลด
  • ถ่ายปากถ้ำผีแมนอย่างไร อันนี้โคตรยาก แนะนำให้ถ่ายภาพแบบ HDR แล้วนำมารวมใน PS เลย แต่ถ้าใครขี้เกียจหรือทำ HDR ไม่เป็น แนะนำว่าให้วัดแสงเฉพาะจุดวัดแสงที่ปากถ้ำถ่ายเสร็จแล้วค่อยมาดึงส่วนมืดที่หลังในโปรแกรม LR/PS อาจจะมี Noise นิด ๆหน่อย ไม่ควรวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าส่วนปากถ้ำหลุด highlight แน่นอน เมื่อภาพหลุด Highlight เราจะไม่สามารถเก็บรายละเอียดป่าไม้เขียว ๆ บริเวณนอกถ้ำได้เลย
ถ้ำน้ำลอด ถ้ำเสาหิน
หินงอกหินย้อยภายในโถงถ้ำเสาหิน

4. ถ้ำน้ำลอด ไปช่วงไหนเหมาะสุด

สำหรับถ้ำน้ำลอดแล้ว ตามฉบับตำราของสายเที่ยวถ้ำแล้วก็ต้องมาช่วงฤดูน้ำแล้ง ซึ่งก็จะตรงกับเดือน พฤศจิกายน – พฤษภาคม ช่วงนี้จะเที่ยวได้ครบทั้ง 3 โถงถ้ำ หากใครมาช่วงฤดูฝนหรือเดือนมิถุนายน-ตุลาคม จะเที่ยวได้แค่ถ้ำเสาหินเท่านั้นซึ่งผมมองว่าถ้ามาโถงถ้ำเดียวไม่คุ้ม

 

5.การเดินทางมาถ้ำน้ำลอดมายากไหม

การมาเที่ยวถ้ำน้ำลอดสำหรับผมแล้ว ควรมีเวลาเกิน 1-2 ชั่วโมง เที่ยวแบบเร็วสุดๆ ก็ประมาณ 40 นาที แต่แนะนำว่าไม่ควรรีบ เพราะจะได้ซึมซับกับความงามธรรมชาติของหินงองหินย้อยภายในถ้ำ ซึ่งถ้ำน้ำลอดนั้น จำเป็นต้องจ้างไกด์พร้อมตะเกียง ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 150 บาท/ไกด์ 1 คน และค่าแพไม้ไผ่อีกแพละ 300 บาท รวมๆแล้ว 450 บาท ซึ่งแพสามารถรับน้ำหนักได้ 4 คน ถ้าจัดกลุ่มได้ 4 คน จะตกคนละ 112.50 บาท หรือต่อให้มาคนเดียวผมว่าความสวยงามธรรมชาติข้างในถ้ำคุ้มค่ากับเงิน 450 บาท ที่เสียไปแน่นอน (ผมถือว่าพอดีไม่ถูกไม่แพงจนเกินไป)

ทางไปถ้ำน้ำลอด ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน

“ถ้ำน้ำลอด” ตั้งอยู่ในเขตสถานศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเข้าชมได้ตั้งแต่ 08:00 – 17:00 ทุกวัน โดยทางเข้าอยู่หลักกิโลเมตรที่ 138-139 บนทางหลวงหมายเลข 1095 (บ้านแม่มาลัย-ปาย-แม่ฮ่องสอน) ซึ่งจะมีป้ายเขียนทางเข้าถ้ำน้ำลอดอยู่ ถนนที่เข้าไปอาจจะแคบนิดนึงไม่ต้องตกใจ จากปากทางถนนหลัก(1095)ก็จะถึงลานจอดรถมีระยาทางประมาณ 9 กิโลเมตร ถนนลาดยางตลอดทั้งเส้นและไม่มีโค้งหักศอกหรือทางชันเลย เพียงแต่ต้องระมัดระวังตรงที่ว่าถนนมันแคบพอเวลามีรถสวนจะต้องชะลอหลบกัน แนะนำว่าให้ขับช้า ๆสัก 20-30 ก.ม/ช.ม. ปลอดภัยแน่นอน ลานจอดรถที่นี่กว้างมากจอดได้ไม่ต่ำกว่า 50-80 คัน ส่วนเรื่องการกินไม่ต้องห่วงตามสถานที่ท่องเที่ยวฉบับไทย ๆ แล้ว ร้านอาหาร ห้องน้ำ มีบริการให้ครบหมด

6. กำเนิดถ้ำ วิชาการหน่อย ๆ แต่ถ้ารู้แล้วจะเที่ยวสนุกขึ้น

โดยทั่วไปแล้วถ้ำมักจะเกิดในลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์(Karst) หรือภูมิประเทศแบบเขาหินปูนนั่นเอง ถ้าสังเกตจะเห็นได้เลยว่าบริเวณอำเภอปางมะผ้าหรือภูเขาตอนกลางของแม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่แล้วเป็นพื้นที่ภูเขาหินปูน ด้วยภูเขาหินปูนเวลาเจอกับน้ำฝนที่เป็นกรดอ่อนจะทำปฏิกิริยากับหินปูนทำให้หินปูนละลายเกิดเป็นรอยแตกแยกในภูเขาหินปูน จากรอยแตกแยกเล็ก ๆก็เริ่มกลายเป็นรูขนาดใหญ่ขึ้น น้ำฝนที่เป็นกรดอ่อนก็ไหลแทรกเข้าไปในรอยแตกทำปฏิกิริยาละลายหินปูนไปเรื่อย ๆจากรูขนาดใหญ่ก็กลายเป็นโพรงน้ำไหล เมื่อน้ำไหลกัดเซาะไปเรื่อยเป็นเวลาหลายล้านปีจากโพรงน้ำก็กลายเป็นโถงถ้ำขนาดใหญ่เท่าที่เราเห็นในปัจจุบันนั่นเอง และในระหว่างกระบวนการเกิดถ้ำก็มีการพัดตะกอนหินปูนทำให้เกิดหินงอกหินย้อยภายในถ้ำด้วย นอกจากถ้ำน้ำลอดแล้วในเขตอำเภอปางมะผ้า ก็ยังมีถ้ำแม่ละนาที่ยาวเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และยังมีถ้ำเล็ก ๆ น้อย ๆอีกมากว่า 70 ถ้ำ รวมถึงถ้ำหลุมยุบที่ใหญ่ประเทศที่สุดอย่างถ้ำน้ำบ่อผี(ใครสาย Adventure แนะนำเลย)

หินงอก คือตะกอนหินปูนสะสมเป็นแท่งสูงจากพื้นถ้ำไปหาเพดานถ้ำ เกิดจากหยดน้ำที่เป็นสารละลายแคลเซียมไฮโดรคาร์บอเนตที่ไหลออกมาจากหินย้อย เมื่อหยดลงถึงพื้นถ้ำสารละลายจะสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำระเหยออกไป คาร์บอเนตที่เหลืออยู่ก็จะตกตะกอนสะสมตัวจนเป็นเสาสูงขึ้นมาจากพื้นถ้ำ
หินย้อย คือตะกอนหินปูนสะสมเป็นแท่งย้อยจากเพดานถ้ำไปหาพื้นถ้ำ เกิดจากหยดน้ำที่เป็นสารละลายแคลเซียมไฮโดรคาร์บอเนตไหลออกมาจากรอยแตกของชั้นบนเพดานถ้ำ แล้วเกิดการสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำระเหยออกไป คาร์บอเนตที่เหลืออยู่ก็จะตกตะกอนสะสมตัวจนพอกยาวลงมาจากเพดานถ้ำ

คราวนี้เรามาดูอธิบายเพิ่มเติมทางเคมีบ้าง บางกระบวนการมันสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ อย่างสระน้ำมรกต ก็เป็นสระน้ำที่มีหินปูนละลายอยู่ ไม่ได้เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด เผื่อใครอยากระลึกถึงเคมี ม.ปลาย ก็ตามมาได้เลย

โดยปกติแล้วในอากาศจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่(CO2) ซึ่งเมื่อผสมกับน้ำฝน(H2O) ทำให้ฝนมีสภาพเป็นสารละลายกรดคาร์บอนิก(H2CO3) ซึ่งเป็นกรดอ่อน

CO2(g) + H2O(l) -> H2CO3(aq)

เมื่อฝนที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนไหลลงไปยังภูเขาหินปูน ซึ่งมีองค์ประกอบทางเคมีคือแคลเซียมคาร์บอเนต(CaCO3)  น้ำฝนจะทำปฏิกิริยากับหินปูนจะได้สารละลายแคลเซียมไฮโดรคาร์บอเนตCa(HCO3)2

H2CO3(aq) + CaCO3(s) -> Ca(HCO3)2(aq)

สารละลายแคลเซียมไฮโดรคาร์บอเนตจะไหลไปตามรอยแตกเพดานถ้ำกับน้ำ หากสารละลายดังกล่าวได้มีการระเหยออกจากน้ำจะกลายเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตที่สะสมอยู่ตามผนังถ้ำหรือหินงอกหินย้อยนั่นเอง

Ca(HCO3)2(aq) -> CaCO3(s)[หินงอกหินย้อย] + CO2(g)[ก๊าซคาร์บอนที่ระเหย] + H2O(l)[น้ำ]

หินงอกหินย้อยโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลางอกประมาณ  0.007 มิลลิเมตรต่อปี หรือประมาณ 140 ปีต่อ 1มิลลิเมตร นั่นหมายความว่าหินงอกหินย้อยที่มีความยาว 1 เมตร ใช้เวลาสะสมตัวถึง  140,000 ปีเลยที่เดียว

จากข้อมูลข้างต้น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) จากการระเหยของสารละลายแคลเซียมไฮโดรคาร์บอเนต ทำให้ถ้ำตุ๊กตา มีอากาศภายในที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูงมาก เราจึงรู้สึกอึดอัดหายใจได้ยาก ส่วนตัวเลขที่มาของอายุเสาหิน 21.5 เมตร ในถ้ำเสาหินนั้นมาจากที่ผมคำนวณโดยตั้งสมมุติฐานว่า หินงอกและหินย้อยมาบรรจบครึ่งทางกันนั่นหมายความว่า หินงอกและหินย้อยจะเกิดข้างละ 10.75 เมตร แล้วมาบรรจบกัน เนื่องจากหินงอกหินย้อย 1 เมตร ใช้เวลางอกประมาณ 140,000 ปี ดังนั้น 10.75 เมตรจะใช้เวลา 1,505,000 ปี แต่ความเป็นจริงมันอายุมากกว่านั้นเพราะต้องเส้นรอบวงด้วย ผมลองกะแล้วจริง ๆ อายุของมันน่าจะไม่ต่ำกว่า 100 ล้านปีเลยทีเดียว เอาไว้นักธรณีจริง ๆเขามาคำนวณดีกว่า ฮ่า ๆ

ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน

ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน