ถ้ำหลวงเชียงดาว
Highlight
- ถ้ำหลวงเชียงดาวเป็นถ้ำที่มีความสวยงามและยาวลำดับต้นๆของไทย ซึ่งมีถ้ำพระนอนสามารถเข้าได้โดยไม่ต้องมีไกด์และมีแสงไฟฟ้าตลอดเส้นทาง ส่วนถ้ำแก้วกับถ้ำม้าจะต้องมีไกด์นำทางและใช้ตะเกียงส่องทางเท่านั้น
- ถ้ำหลวงเชียงดาวควรมาช่วงฤดูแล้ง หรือเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม เพราะเป็นช่วงที่ถ้ำพระนอนน้ำไม่ท่วม
1. ถ้ำหลวงเชียงดาว สัมผัสอลังการหินงอกหินย้อยได้ง่าย ๆ
“ถ้ำหลวงเชียงดาว” ถือเป็นหนึ่งในถ้ำที่ไม่ควรพลาดมาก ๆของไทย เพราะเราสามารถใกล้ชิดกับหินงอกหินย้อยที่สวยงามได้ง่าย โดยที่เราไม่ต้องปีนป่ายหรือเดินให้เหนื่อยเลย เนื่องจากภายในถ้ำหลวงเชียงดาวมีทางเดินที่สะดวกสบายมากและติดตั้งแสงไฟให้ตลอดทางเดิน ส่วนใครสายลุย ๆที่นี่ก็มีไกด์คอยรับรองพานักท่องเที่ยวไปเดินชมถ้ำแก้วและถ้ำม้า ซึ่งจะต้องมีมุดถ้ำกันนิดหน่อยและอาศัยไฟจากตะเกียงเท่านั้น นอกจากนี้ด้านหน้าถ้ำยังมีสระมรกตสีเขียวอมฟ้าอยู่ด้วย แต่ว่าต้องมาช่วงฤดูแล้งนะครับ เพราะถ้ามาช่วงฤดูน้ำหลากก็จะเจอกับน้ำสีโคลนแทน แนะนำว่าใครไปเที่ยวบ้านนาเลาแล้วพอมีเวลาเหลือลองแวะเที่ยวถ้ำหลวงเชียงดาวดูครับ
“ถ้ำหลวงเชียงดาว” มีลักษณะเป็นถ้ำทางน้ำไหล ตามซอกต่าง ๆมีโพรงหรือรูน้ำ(sink hole)อยู่มากมาย ด้วยระยะทางที่ยาวและออกซิเจนค่อนข้างจำกัด ทำให้ปัจจุบันมีการสำรวจถ้ำไปแล้วเพียงแค่ 5,100 เมตร และยังไม่ได้มีการสำรวจต่ออีกที่คาดว่าน่าจะยาวมากกว่า 8,000 เมตร แต่อย่างไรก็ตามส่วนที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปจริง ๆจะมีระยะทางเพียงแค่ 1,829 เมตร เท่านั้น ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 เส้นทางเดินดังนี้
– ถ้ำพระนอน ระยะทางยาว 360 เมตร (มีแสงไฟฟ้านำทางให้ ไม่ต้องมีไกด์นำ)
– ถ้ำแก้ว ระยะทางยาว 734 เมตร (ต้องใช้ตะเกียง และมีไกด์นำ)
– ถ้ำม้า ระยะทางยาว 735 เมตร (ต้องใช้ตะเกียง และมีไกด์นำ)
2.ถ้ำหลวงเชียงดาว ไปฤดูไหนน้ำไม่ท่วม
สำหรับผมแล้วไม่ว่าจะเที่ยวถ้ำที่ไหนก็ตาม ควรไปช่วงฤดูน้ำแล้งจะดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ำหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นหนึ่งในถ้ำที่เป็นทางน้ำไหลรองรับน้ำฝนจากบนยอดดอยหลวงเชียงดาวผ่านรูและโพรงต่าง ๆ หากมาช่วงฤดูฝนก็คงไม่สนุกกแน่ เพราะอาจเจอน้ำไหลท่วมจนไม่สามารถเดินเข้าไปสุดทางของถ้ำพระนอนได้
เดือนมิถุนายน – ตุลาคม เป็นช่วงหน้าฝนของทางภาคเหนือ ภายในถ้ำจะเกิดน้ำท่วมได้ ผมเองเคยมาช่วงต้นเดือนตุลาคม ถ้ำพระนอนสามารถเข้าได้แค่ครึ่งเดียวเท่านั้น เนื่องจากว่าน้ำท่วมและค่อนข้างไหลเชี่ยวบางจุด
พฤศจิกายน – พฤษภาคม เป็นช่วงหน้าแล้ง ช่วงนี้น้ำไม่ท่วมถ้ำแน่นอน สามารถเดินชมหินงอกหินย้อยได้เต็มที่ สำหรับอุณหภูมิภายในถ้ำหลวงเชียงดาวค่อนข้างคงที่ ในช่วงฤดูร้อนประมาณ 25 องศาเซลเซียส ในขณะที่ฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 23 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์สูงเกิน 95% ตลอดเวลา สำหรับใครที่จะถ่ายรูปภายในถ้ำ ผมแนะนำให้เอากล้องออกมาจากกระเป๋าตั้งแต่เข้ปากาถ้ำ เพื่อปรับอุณหภูมิหน้าเลนส์ให้เท่ากับอุณหภูมิถ้ำ ป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าหน้าเลนส์ เนื่องจากในถ้ำมีความชื้นสูงมากจริง ๆ
3.เจาะลึกถ้ำพระนอน ถ้ำที่ใครก็เข้าได้
การท่องเที่ยวถ้ำเชียงดาว สำหรับถ้ำพระนอนแล้วจะใช้เวลาเที่ยวชมแบบถ่ายรูปประมาณ 1 ชม. ถ้าให้แบบเจาะลึกกันจริง ๆ รวมทั้งถ้ำแก้วและถ้ำม้าก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมงเลยทีเดียว
4.มารู้จักกระบวนการเกิดถ้ำ และหินงอกหินย้อยกันเถอะ
โดยทั่วไปแล้วถ้ำมักจะเกิดในลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์(Karst) หรือภาษาชาวบ้าน ก็คือภูมิประเทศแบบเขาหินปูนนั่นเอง แน่นอนว่าดอยหลวงเชียงดาวทั้งลูกเป็นภูเขาหินปูน ด้วยความเป็นภูเขาหินปูนเมื่อเจอกับน้ำฝนที่เป็นกรดอ่อนจะทำปฏิกิริยากับหินปูน ทำให้หินปูนละลายเกิดเป็นรอยแตกแยกภายในภูเขาหินปูน จากรอยแตกแยกเล็ก ๆก็เริ่มกลายเป็นรูขนาดใหญ่ขึ้นขึ้น น้ำฝนที่เป็นกรดอ่อนก็ไหลแทรกเข้าไปในรอยแตกทำปฏิกิริยาละลายหินปูนไปเรื่อย ๆจากรูขนาดใหญ่ก็กลายเป็นโพรงน้ำไหล เมื่อน้ำไหลกัดเซาะไปเรื่อย ๆเป็นเวลาหลายล้านปี จากโพรงน้ำก็กลายเป็นโถงถ้ำขนาดใหญ่เท่าที่เราเห็นในปัจจุบัน และในระหว่างกระบวนการเกิดถ้ำก็มีการพัดตะกอนหินปูนทำให้เกิดหินงอกหินย้อยภายในถ้ำด้วย
หินงอก คือตะกอนหินปูนสะสมเป็นแท่งสูงจากพื้นถ้ำไปหาเพดานถ้ำ เกิดจากหยดน้ำที่เป็นสารละลายแคลเซียมไฮโดรคาร์บอเนตที่ไหลออกมาจากหินย้อย เมื่อหยดลงถึงพื้นถ้ำสารละลายจะสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำระเหยออกไป คาร์บอเนตที่เหลือยู่ก็จะตกตะกอนสะสมตัวจนเป็นเสาสูงขึ้นมาจากพื้นถ้ำ
หินย้อย คือตะกอนหินปูนสะสมเป็นแท่งย้อยจากเพดานถ้ำไปหาพื้นถ้ำ เกิดจากหยดน้ำที่เป็นสารละลายแคลเซียมไฮโดรคาร์บอเนตไหลออกมาจากรอยแตกของชั้นบนเพดานถ้ำเกิดการสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำระเหยออกไป คาร์บอเนตที่เหลือยู่ก็จะตกตะกอนสะสมตัวจนพอกยาวลงมาจากเพดานถ้ำ
คราวนี้เรามาดูอธิบายเพิ่มเติมทางเคมีบ้าง บางกระบวนการมันสามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ อย่างสระน้ำมรกต ก็เป็นสระน้ำที่มีหินปูนละลาอยู่ ไม่ได้เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด เผื่อใครอยากระลึกถึงเคมี ม.ปลาย ก็ตามมาได้เลย
โดยปกติแล้วในอากาศจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่(CO2) ซึ่งเมื่อผสมกับน้ำฝน(H2O) ทำให้ฝนมีสภาพเป็นสารละลายกรดคาร์บอนิก(H2CO3) ซึ่งเป็นกรดอ่อน
CO2(g) + H2O(l) -> H2CO3(aq)
เมื่อฝนที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนไหลลงไปยังภูเขาหินปูนซึ่งมีองค์ประกอบทางเคมีคือแคลเซียมคาร์บอเนต(CaCO3) น้ำฝนจะทำปฏิกิริยากับหินปูนจะได้สารละลายแคลเซียมไฮโดรคาร์บอเนตCa(HCO3)2
H2CO3(aq) + CaCO3(s) -> Ca(HCO3)2(aq)
สารละลายแคลเซียมไฮโดรคาร์บอเนตจะไหลไปตามรอยแตกเพดานถ้ำกับน้ำหากสารละลายดังกล่าวได้มีการระเหยออกจากน้ำจะกลายเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตที่สะสมอยู่ตามผนังถ้ำหรือหินงอกหินย้อยนั่นเอง
Ca(HCO3)2(aq) -> CaCO3(s)[หินงอกหินย้อย] + CO2(g)[ก๊าซคาร์บอนที่ระเหย] + H2O(l)[น้ำ]
หินงอกหินย้อยโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลางอกประมาณ 0.007 มิลลิเมตรต่อปี หรือประมาณ 140 ปีต่อ 1 มิลลิเมตร นั่นหมายความว่าหินงอกหินย้อยที่มีความยาว 1 เมตร ใช้เวลาสะสมตัวถึง 140,000 ปีเลยที่เดียว ส่วนสารละลายแคลเซียมไฮโดรคาร์บอเนตที่ไม่มีการระเหยของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะไปผสมกับน้ำฝนที่ไหลลงมาทางถ้ำ ทำให้น้ำนั้นมีสีออกฟ้าๆเขียว เมื่อไหลออกมานอกถ้ำเจอแสงอาทิตย์ส่องจึงเห็นน้ำไปสีฟ้ามรกตนั่นเอง