ดอยอินทนนท์
Highlight
- ความสวยงามของ ดอยอินทนนท์ จะอยู่ที่จุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นตรงกิ่วแม่ปาน และเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ส่วนบนยอดสูงสุดดอยอินทนนท์จะไม่มี Landscape สวยๆ หากมีเวลาเหลือค่อยแวะขึ้นไปถ่ายรูปป้ายสูงสุดในสยาม และเดินเส้นทางธรรมชาติอ่างกา
- เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เป็นช่วงเวลาที่สวยที่สุด ป่าไม้ธรรมชาติเขียวสดงดงาม และเป็นช่วงที่กิ่วแม่ปานมีโอกาสเกิดทะเลหมอกมากที่สุด ส่วนช่วงเดือนมกราคมอากาศหนาวจัดมีโอกาสเกิดเหมยขาบมากที่สุด และดอกพญาเสือโคร่งบานเยอะสุด แต่ข้อเสียคือต้นไม้บางส่วนเริ่มร่วง และป่าไม้ไม่ค่อยเขียวแล้ว
- จุดที่เกิดน้ำค้างแข็งบ่อยจริง ๆ อยู่บริเวณหน้าทางเข้ากิ่วแม่ปาน ไม่ใช่บนยอดสูงสุดของดอยอินทนนท์
1. รู้จักกับดอยอินทนนท์ กับยอดเขาสูงสุดในไทย
ดอยอินทนนท์หลายคนน่าจะรู้จักแล้วว่าเป็นยอดเขาที่สูงสุดในประเทศไทย แต่จริง ๆ แล้วหลายคนไม่รู้ว่าดอยอินทนนท์ยังเป็นตัวแทนของหิมาลัยในประเทศไทย เนื่องจากบนดอยอินทนนท์มีพืชพรรณและสัตวป่าหลายชนิดคล้ายกับบนเทือกเขาหิมาลัย อย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็พวกต้นกุหลาบพันปี จึงไม่แปลกที่บนยอดดอยอินทนนท์มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ และมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามอลังการกระจายตามจุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก ภูเขา จุดชมทะเลหมอก จุดล่าแสงเช้าเฝ้าแสงเย็น เรียกได้ว่า “มาวันเดียวก็เที่ยวไม่พอ” แต่คราวนี้มันอยู่ที่เราอยากจะไปเที่ยวแบบไหน ดังนั้นใครมีเวลาน้อยก็ต้องเลือกหน่อยนะครับ แน่นอนว่าใครที่กำลังวางแพลนมาเชียงใหม่ ก็ไม่ควรพลาดดอยอินทนนท์เป็นอย่างยิ่ง และควรจดไว้ในลิสต์เป็นลำดับแรก ๆ รับรองว่าไม่มีผิดหวัง
“ดอยอินทนนท์” เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยตอนกลางที่เกิดจากการดันตัวของเปลือกโลกพร้อมกับเทือกเขาหิมาลัยเมื่อ 65 ล้านปีก่อน จึงทำให้มีระบบนิเวศบางส่วนของดอยอินทนนท์คล้ายคลึงกับเทือกเขาหิมาลัย สิ่งที่เห็นได้ชัดคือที่ระดับความสูงมากกว่า 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล(กิ่วแม่ปาน) ลักษณะพืชพรรณป่าไม้ที่พบจะเป็นแบบเขตอบอุ่น ซึ่งหาได้ยากมาก ๆ ในเมืองไทย นอกจากนี้หลายคนยังขนานนามว่า “ดอยอินทนนท์คือนครหลวงของระบบนิเวศป่าไม้ไทยด้วย” เพราะระบบนิเวศป่าไม้บนดอยอินทนนท์มีความหลากหลายมาก ไล่ตั้งแต่แต่ตีนดอยที่เป็นแบบเขตร้อน ตอนกลางเป็นกึ่งเขตร้อน และบริเวณยอดดอยเป็นเขตอบอุ่น หรือสังเกตง่ายๆ ถ้าหากเราขับรถมาจากด้านล่างขึ้นมาบนดอย ภูมิทัศน์ป่าไม้จะเปลี่ยนแปลงตลอดตามระดับความสูง อย่างแรกที่เห็นได้ชัด คือด้านล่างหรือตีนดอยจะไม่มีต้นสนสามใบ แต่พอขึ้นมาบริเวณยอดดอย ก็จะพบว่าข้างทางมีต้นสนสามใบขึ้นแทรกเต็มไปหมด เดิมดอยอินทนนท์ มีชื่อเรียกว่า “ดอยอ่างกาหรือดอยหลวง” ส่วนที่ไปที่มาของชื่อเดิมคือ “อ่างกา” เป็นภาษาชาวปกาเกอญอ แปลว่า “ใหญ่” ส่วนคำว่า ”หลวง” ในภาษาล้านนา แปลว่า “ใหญ่” เช่นกัน แต่เนื่องจากว่าพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้เจ้าครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายให้ความสำคัญกับป่าไม้บริเวณแถบดอยหลวงเป็นอย่างมาก เมื่อท่านได้สวรรคต จึงได้มีคำสั่งให้นำพระอัฐิบางส่วนไปไว้ในสถูปที่สร้างอยู่บนยอดดอยหลวง ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชื่อดอยอินทนนท์นั่นเอง
2. ดอยอินทนนท์ไปช่วงไหนดี? แต่ละฤดูกาลมีความแตกต่างกันยังไง
ดอยอินทนนท์ หน้าหนาว (เดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์) เป็นช่วงที่ดอยอินทนนท์ มีอากาศหนาวจัดทุกวัน และมีโอกาสเจอเหมยขาบหรือแม่คะนิ้งได้มากที่สุด ในช่วง ม.ค. ดอกพญาเสือโคร่งและกุหลาบพันปีบานสะพรั่ง แต่ข้อเสียช่วงนี้คือป่าไม้ใบหญ้าเริ่มไม่ค่อยเขียวแล้ว ทะเลหมอกช่วงนี้อาจต้องลุ้น และตั้งแต่เดือนกุมภาฯเป็นต้นไปทัศนวิสัยเริ่มลดลง สำหรับใครที่จะมาดูเหมยขาบเท่าที่ผมเก็บข้อมูลมาพบว่า “ช่วงที่มีโอกาสเกิดมากที่สุดจะอยู่ช่วงกลางเดือนมกราคม-กลางกุมภาพันธ์” ในเดือนธันวาคม จะมีก็ต่อเมื่อลมหนาวจากจีนลงมาแรง ๆเท่านั้น(เส้น 1018 แทงลงมาถึง กทม.)
ดอยอินทนนท์ หน้าร้อน (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม) ช่วงนี้ส่วนตัวผมคิดถ้าใครจะมาเก็บภาพ Landscape สวยๆ ป่าไม้เขียว ๆ โบกมือลาได้เลย ไม่มีแน่นอน ป่าไม้ช่วงนี้เป็นสีน้ำตาลออกเหลืองๆ ยกเว้นป่าเมฆที่เขียว ทุ่งหญ้าในกิ่วแม่ปานจะเป็นสีทอง และมีดอกขาวๆ ในช่วงนี้หมอกแดดหรือหมอกควันมักปกคลุมหุบเขาด้านล่าง ทำให้แทบมองไม่เห็นป่าไม้ภูเขาด้านล้างเลย โดยปกติแล้วดอยอินทนนท์จะอยู่เหนือหมอกควัน จะมีเพียงบางวันเท่านั้นที่หมอกควันปกคลุมถึงยอดดอย หลายคนไม่รู้ว่าช่วงนี้อากาศบนยอดดอยยังหนาวอยู่นะครับ(มันก็หนาวตลอดปีแหละ) ดังนั้นถ้าใครจะหนีร้อนมารับอากาศเย็นๆก็มาได้
ดอยอินทนนท์ หน้าฝน (เดือนมิถุนายน – ตุลาคม) ช่วงนี้ต้องบอกเลยว่าบนยอดดอยอินทนนส่วนใหญ่จะถูกคลุมด้วยเมฆฝนเกือบตลอดทั้งวัน ไม่เหมาะแก่การท่องเที่ยวถ่ายรูปใด ๆทั้งสิ้น และกิ่วแม่ปานจะปิดเส้นทางเดินธรรมชาติในช่วงนี้ เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติอีกด้วย
ดอยอินทนนท์ ปลายฝนต้นหนาว (พฤศจิกายน) ผมให้เป็นที่สุดของฤดูท่องเที่ยวเลย เพราะช่วงนี้อากาศจะค่อนข้างแจ่มใส ความชื้นสะสมจากฤดูฝน ทำให้หุบเขาเบื้องล่างเกิดทะเลหมอกได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญป่าไม้ยังเขียวสดงดงาม คนไม่เยอะมาก แต่ต้องแลกมาด้วยกับอากาศที่ไม่ได้หนาวมากเช่นกัน ช่วงนี้อาจเกิดแม่คะนิ้งได้ในช่วงที่ความกดอากาศสูงจากจีนลงมาแรงจริง ๆ ซึ่งจะมีเพียงแค่ 1-2 วัน/ช่วง เท่านั้น
สำหรับใครที่ตั้งใจจะมาดูน้ำค้างแข็งหรือเหมยขาบในฤดูหนาว ควรไปช่วงเดือนธันวาคม – กลางกุมภาพันธ์ เพราะจะมีโอกาสเกิดน้ำค้างแข็งมากที่สุด แล้วถ้าจะเอาแบบไม่พลาดควรดูพยากรณ์อากาศล่วงหน้า ดูง่าย ๆหากกรมอุตุฯแจ้งว่าอาทิตย์หน้าความกดอากาศสูงลงมาแรงจนทำให้ กทม. มีอากาศเย็น ๆ แบบนี้ให้จัดเลยครับ แต่ถ้าใครดูแผนที่อากาศเป็น แนะนำให้เข้าไปดูพยากรณ์ ECMWF ของเว็บไซด์ Windyty.com แล้วดูว่ามีเส้นความกดอากาศ 1020 ลงมาแตะภาคเหนือหรือไม่ ถ้าแตะเมื่อไหร่โอกาสที่ดอยอินทนนท์จะมีน้ำค้างแข็ง 80% ส่วนอีก 20% อยู่ที่ว่าลมแรงหรือไม่ หากลมแรงก็ไม่มี (ECMWF เป็นโมเดลพยากรณ์ที่แม่นสุดในยุคนี้ ยิ่งหน้าหนาวยิ่งแม่น ซึ่งทาง windyty.com จ่ายเงินให้กับ ECMWF แล้วเอามาทำหน้า Interface ใหม่ให้เราดูเข้าใจมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันพยากรณ์อากาศหน้าหนาวในไทยค่อนข้างแม่นในระดับ 7-10 วัน แล้วนะครับ ) สุดท้ายน้ำค้างแข็งจะเกิดขึ้นได้เมื่ออุณหภูมิยอดหญ้าต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิอากาศอาจจะไม่ถึง 0 องศาเซลเซียสก็ได้ อุณหภูมิอากาศเพียงแค่ 0-8 องศาเซลเซียส ก็มีโอกาสเกิดน้ำค้างแข็งได้ ยิ่งคืนวันไหนท้องฟ้าแจ่มใสไร้เมฆ พื้นดินคายความร้อนได้ดี อาจทำให้อุณหภูมิยอดหญ้าต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ได้ทั้ง ๆที่อุณหภูมิอากาศอาจจะแค่ 7-8 องศาเซลเซียส เท่านั้น
3. เช้านี้ดูพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิวกิ่วแม่ปานกันเถอะ
“กิ่วแม่ปาน” เป็นจุดชมวิวดูพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอก(บางวัน)ของดอยอินททนท์ ซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,157 เมตร ตรงกับหลักกิโลเมตรที่ 42 ถนนจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ บริเวณนี้มีลานจอดรถได้ประมาณ 50 คัน แนะนำว่าในช่วงเทศกาลให้รีบๆมาหน่อยนะครับ เพราะจะเต็มเร็วมาก บนนี้มีร้านค้าขายของกับห้องน้ำพร้อม แต่มีไม่เยอะนะครับ ในช่วงเทศกาลอาจต้องแย่งกันกินแย่งกันใช้หน่อยนะฮ่า ๆ
สำหรับคนที่อยากเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานจะต้องมาลงทะเบียนและจ้างไกด์ที่จุดนี้นะครับ สามารถเข้าได้ตั้งแต่เวลา 06:00 – 16:00 และเปิดเฉพาะเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เท่านั้น ผมแนะนำให้ดูพระอาทิตย์ขึ้นเก็บแสงเช้าที่จุดนี้ให้พอก่อน แล้วค่อยเข้าไปในกิ่วแม่ปาน เพราะว่าในกิ่วแม่ปานจะไม่เห็นพระอาทิตย์ขึ้นโดยตรง และอาจเจอหมอกภูเขาปิดได้กว่าจะเปิดก็สายๆนู่น ส่วนใครต้องการรู้เกี่ยวกับเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานเพิ่มเติมให้คลิกไปที่ กิ่วแม่ปาน
4. เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ป่าดิบเขาสูงของไทย
เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา อยู่บริเวณใกล้ๆกับยอดสูงสุดของดอยอินทนนท์ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ย 2,500 เมตร มีระยะเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติประมาณ 360 เมตร ใช้เวลาเดินจริง ๆก็ประมาณ 20-30 นาที เส้นทางนี้จะชันแค่ช่วงแรก ขาไปไม่เหนื่อยเนื่องจากลงเขา แต่ขากลับก็เหนื่อยตอนขึ้น(ขึ้นทางเดิม) แนะนำว่าตอนเดินขึ้นให้เดินช้า ๆ นะครับไม่ต้องรีบ เนื่องจากความสูงระดับ 2,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ออกซิเจนจะเหลือประมาณ 15.4% (ปกติพื้นราบ 20.9%) หรือ 75% ของออกซิเจนพื้นราบจึงทำให้เราเหนื่อยเร็วขึ้นมากกว่าปกติ
เส้นทางนี้จะเดินวนรอบเป็นวงกลม เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ใกล้ชิดกับป่าดิบเขาแบบเขตอบอุ่นได้ดีที่สุดของไทย ถ้ามีคนถามว่าป่าแบบนี้คล้ายๆที่ไหนในโลก ก็คงตอบว่า “คล้าย ๆกับภูเขาสูงทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนแถบยูนนาน และอุทยานแห่งชาติโอลิมปัสที่สหรัฐอเมริกา” พืชพรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกมอส เฟิร์นที่เกาะตามต้นไม้ คล้ายกับป่าเมฆในเส้นทางกิ่วแม่ปานนั่นแหละ ส่วนพรรณไม้สำคัญ ได้แก่ ข้าวตอกฤษี ทะโล้ ว่านอ่างกา กุหลาบพันปี นอกจากนี้อ่างกายังเป็นต้นกำเนิดลำน้ำ และเป็นบึงน้ำที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากที่สุดของประเทศไทยด้วย โดยลำน้ำนี้จะไหลไปยังกิ่วแม่ปานกลายเป็นน้ำตกลานเสด็จ หลังจากนั้นไหลลงไปเป็นลำน้ำแม่จ่ม สุดท้ายจะไปรวมกับแม่น้ำปิงด้านล่างที่อำเภอฮอท แม่น้ำปิงก็เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกได้ว่าอ่างกาก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง
5.ยอดดอยอินทนนท์มีอะไรให้ดูบ้าง
เนื่องด้วยยอดดอยอินทนนท์มีความสูงมากกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล สภาพอากาศท้องฟ้าส่วนใหญ่แล้วปราศจากเมฆหมอกและแสงไฟรบกวน และมีบรรยากาศเบาบางที่สุดของประเทศไทย ทำให้สามารถเฝ้าสังเกตการณ์ปรากฎการณ์ต่าง ๆบนท้องฟ้าได้ดี ดังนั้นบริเวณนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเขตพื้นที่หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทัพอากาศ ศูนย์ตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร สถานีทวนสัญญาณโทรคมนาคม และแน่นอนหอดูดาวของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(NARIT)ก็ตั้งอยู่บนนี้
บริเวณมีอะไรให้เที่ยวบ้าง? จริง ๆแล้วก็ไม่ค่อยมีอะไรนะฮ่า ๆ ก็มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา ถ่ายรูปคู่กับป้ายจุดสูงสุดในสยาม และป้ายอุณหภูมิต่ำสุด ตามแบบฉบับสถานที่ท่องเที่ยวในไทย สำหรับความสูงของยอดดอยอินทนนท์จากการตรวจวัดอย่างแม่นยำจะมีความสูงอยู่ที่ 2,565.3341 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จริง ๆแล้วมีเรื่องเล่าว่า “แต่เดิมประเทศไทยเคยคิดว่า ดอยหลวงเชียงดาวสูงที่สุด แต่ต่อมามีการวัดใหม่อีกรอบทำให้ดอยอินทนนท์ได้แชมป์ความสูงของภูเขาในไทยไป” ส่วนหมุดวัดความสูงจะอยู่ใกล้กับสถูปเจดีย์ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์
เผื่อใครสงสัยว่าทำไมต้องไปวัดนิวตรอนด้านบนยอดดอยอิทนนท์ด้วย? จากความรู้ฟิสิกส์ที่อันน้อยนิดขอตอบแบบง่าย ๆว่า โดยทั่วไปแล้วอวกาศจะมีรังสีคอสมิกที่ปล่อยมาจากดาวฤกษ์หรือวัตถุอวกาศต่าง ๆ เมื่อรังสีคอสมิกชนกับบรรยากาศของโลกแล้วจะปลดปล่อยนิวตรอนออกมา เนื่องด้วยดอยอินทนนท์ตั้งอยู่บนเส้นศูนย์สูตรขั้วคู่แม่เหล็กโลกพอดี(เส้นศูนย์สูตรแม่เหล็กโลกกับเส้นศูนย์สูตรโลกคนละตัวนะ ตัวแม่เหล็กจะขยับขึ้นบนมาหน่อยนึง) และด้วยความสูง 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล จึงทำให้สามารถตรวดวัดฟลักซ์หรือความเข้มของรังสีคอสมิกกำลังสูงได้ดีกว่าบริเวณพื้นราบนั่นเอง เนื่องจากว่าชั้นบรรยากาศโลกมีการดูดซับนิวตรอนทำให้ภาคพื้นราบมีการสูญเสียนิวตรอนไปประมาณ 40% นับว่าเป็นสถานที่มีความสำคัญต่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์เป็นอย่างยิ่ง
6.น้ำตกวชิรธาร น้ำตกใหญ่ใกล้ถนนหลัก
ถ้าใครมีโอกาสได้มาเที่ยวดอยอินทนนท์แล้วยังพอมีเวลาเหลืออยู่แนะนำให้ลองแวะน้ำตกวชิรธาร ซึ่งเป็นหนึ่งในน้ำตกที่มีความสวยงามของดอยอินทนนท์แล้วไม่ไกลจากถนนหลัก “น้ำตกวชิรธาร” เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่เกิดจากลำห้วยแม่กลาง มีความสูงของน้ำตกประมาณ 70 – 80 เมตร และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร ทำให้ตรงนี้มีอากาศเย็นสบายไม่ร้อน สำหรับทางเข้าจะอยู่หลักกิโลเมตร 20 ของถนน ทล. 1009 (จอมทอง-ดอยอินทนนท์) เข้าไปประมาณ 250 เมตร เป็นทางลาดยางตลอดทั้งสาย แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการขับหน่อยนะครับ เพราะทางค่อนข้างแคบเวลาถึงทางโค้งมุมอับแนะนำให้บีบแตรเพื่อเตือนรถที่สวนมาด้วย มีหรือไม่มีรถบีบไว้ก่อนครับ
7.ไปดอยอินทนนท์ ไปพักที่ไหนดี
จริง ๆผมไปดอยอินทนนท์มาแล้วหลายรอบ เมื่อก่อนผมจะไปพักที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ แต่ปัจจุบันไม่ได้เปิดให้บุคคลธรรมดาเข้าไปพักแล้ว ให้พักเฉพาะบุคคลสำคัญข้าราชการระดับสูงเท่านั้น(ซะงั้น) แต่ไม่เป็นไรครั้งต่อ ๆ มาผมก็ไปพักของเอกชนแถบบ้านขุนกลางแทน ครั้งแรกผมไปพักที่หลายเว็บรีวิวให้ว่าดี แต่พอไปพักจริง ๆ ขอบอกเลยว่าห่วยมาก ๆ ราคาก็พอกับที่อื่น ๆ หรือแพงกว่าด้วยซ้ำ ผมไม่ขอเอ่ยนามว่าที่ไหน แต่แน่นอนไม่ได้อยู่ในลิสต์รายชื่อที่พักด้านล่างของผมแน่ ๆ ดังนั้นใครที่จะไปพักตามลิงค์ด้านล่างนี้วางใจได้ว่าคุณภาพค่อนข้างดีมีมาตราฐาน เพราะผมคัดเลือกไว้ให้แล้ว แต่ถ้าเอาแบบที่ผมเคยไปพักจริง ๆแล้วดี ก็คงเป็น “บ้านสวนบนดอยสูงอินทนนท์” เป็นที่พักพึ่งเปิดใหม่ค่อนข้างสะอาดเลยทีเดียว มีโต๊ะกินข้าวลานจอดรถให้พร้อม ห้องน้ำถือว่าดีมาก ๆ ราคา 1,000 – 1,200 บาท/คืน ตัวบ้านพักจะอยู่หลังที่ทำการอุทยานฯเดินทางง่าย ลองดูรูปข้างล่างตัดสินใจได้เลย ถ้าสนใจติดต่อไปที่เบอร์โทร 085-715-0443 หรือ Facebook Fanpag : บ้านสวนดอยสูงอินทนนท์ ส่วนใครอยากเลือกไปพักที่อื่น ๆ ผมลองค้นหาดูในอากู๋ให้แล้ว คัดเอาเฉพาะคะแนนสูง ๆ คนรีวิวเยอะ บวกเข้าไปดูในเพจว่าดูดีพอใช้ได้ ถ้าใครขี้เกียจไปหาในเว็บอื่นก็เลือกตามด้านล่างนี้ได้เลย
ดอยหมอกตะวันวิว เบอร์โทร 063-115-3443
แม่กลางหลวงวิว เบอร์โทร 086-189-4075
8. พืชพรรณและสัตว์ป่า
ดอยอินทนนท์ เป็นสถานที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ๆ เนื่องจากเป็นรอยต่อระหว่างเทือกเขาหิมาลัยซึ่งเป็นระบบนิเวศป่าเขตอบอุ่นกับเทือกเขาในประเทศไทยที่เป็นระบบนิเวศแบบเขตร้อน และดอยอินทนนท์ยังเป็นยอดเขาที่ความสูงมากที่สุดในประเทศไทย ทำให้ระบบนิเวศป่าของดอยอินทนนท์จะแบ่งตามลักษณะความสูง หากเราขับรถจากอำเภอจอมทองไต่ขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ จะเห็นได้ว่าลักษณะพืชพรรณต้นไม้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามระดับความสูงด้านล่างจะเป็นป่าเต็งรัง ในขณะที่บนยอดดอยจะพบต้นสนเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นตัวแทนของต้นไม้ในเขตอบอุ่นในประเทศไทย
- ป่าเต็งรัง ระดับความสูงจากระดับทะเล 400-750 เมตร พบกระจายตามพื้นที่รอบ ๆ ตามเนินเขาหรือสันเขาที่แห้งแล้งบริเวณรอบอุทยานฯ พันธุ์ไม้ที่สำคัญก็ได้แก่ เต็ง รัง เหียง สัก ตะแบก ประดู่ หญ้าคา หญ้าแฝก
- ป่าดิบแล้ง ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 400-1,000 เมตร กระจายตามบริเวณหุบเขาที่มีลำห้วยไหลผ่าน พันธุ์ไม่ที่สำคัญได้แก่ ยางปาย ยางแดง ตะเคียนทอง ก่อเดือย กล้วยป่า หญ้าสองปล้อง
- ป่าดิบเขาตอนล่าง ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 -1,800 เมตร พบตามตอนกลางของดอยอินททนท์ เป็นสภาพป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด พันธุ์ไม่สำคัญได้แก่ ป่าต้นสน ป่าก่อผสมสน สนสามใบ สนสองใบ ก่อใบเลื่อม ก่อแป้น ทะโล้ จำปีป่า กำลังเสือโคร่ง กล้วยฤษี
- ป่าดิบเขาตอนบน ระดับความสูงจากน้ำทะเล 1,800 เมตรขึ้นไป ระบบนิเวศส่วนใหญ่เป็นแบบเขตอบอุ่น ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็นอีก 3 ระบบนิเวศ ป่าดิบเขาชื้น ป่าพรุ ป่าก่อ สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าที่มีต้นไม้สูงใหญ่ ลักษณะคล้ายป่าดึกดำบรรพ์ พืชพื้นล่างไม่แน่นทึบ ตามกิ่งต้นไม้ลำต้นจะมี มอส กล้วยไม้ เฟิน ปกคลุมต้นไม้อยู่ กุหลาบพันปีสีแดงซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ค้นพบบนดอยอินทนนท์เท่านั้น
สำหรับสัตว์ป่าบนดอยอินทนนท์แล้วก็คงไม่พ้นกวางผา ดอยอินทนนท์ถือว่าเป็นบ้านของกวางผา นอกจากกวางผาแล้วก็ยังมี เต่าปูลู ไก่ฟ้าหลังขาว และนอกจากนี้อินทนนท์ยังขึ้นชื่อได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการดูนกอีกด้วย