ภูชี้ฟ้า
Highlight
- เมื่อมาถึงภูชี้ฟ้าแล้วสิ่งที่ควรทำ คือการมาดูทะเลหมอกพร้อมพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดภูชี้ฟ้า ซึ่งนับว่าเป็นทะเลหมอกที่มีภูมิทัศน์สวยสุดในประเทศไทย แนะนำให้ขึ้นไปเก็บแสงสนธยาบนยอดผายื่นก่อน พอพระอาทิตย์ขึ้นได้สัก 15 นาที ค่อยลงมาเก็บรูปที่บริเวณจุดชมวิวผาหินยื่น
- พระอาทิตย์ตกดินบนภูชี้ฟ้าให้ไปดูที่จุดชมวิวร่มฟ้าทอง หรือบริเวณใกล้ ๆกับภูชี้ฟ้ารีสอร์ทตรงทางแยกลงไปเทิง หรือใครจะขึ้นไปเก็บบนยอดภูชี้ฟ้าก็ได้สวยเหมือนกัน และท้องฟ้าบนภูชี้ฟ้ามืดพอ ๆกับดอยเสมอดาว สามารถเก็บดาวได้สบาย ๆ
- เพื่อไม่ให้พลาดทะเลหมอกสวย ๆ ควรมาช่วงปลายฝนต้นหนาว(ต.ค. – พ.ย.) ถ้าโชคดีอาจเจอหมอกไหลบนสันเขาด้วย หลังจากเดือนมกราคมเป็นต้นไป ทะเลหมอกจะเริ่มไม่ค่อยมีแล้ว ต้องลุ้นนิดหน่อย ส่วนช่วงหน้าร้อนแทบไม่ต้องหวัง ถ้ากลางคืนไม่มีฝนตก เช้าวันต่อมาทะเลหมอกไม่มีแน่นอน
1. ภูชี้ฟ้า สุดยอดวิวทะเลหมอกของไทย
ผมเชื่อว่าใครหลายคนตั้งเป้าหมายในชีวิตว่า “สักครั้งในชีวิตจะต้องมาเก็บทะเลหมอกสวย ๆบนยอด “ภูชี้ฟ้า” แห่งนี้ให้ได้” ด้วย Landscape ของภูชี้ฟ้าที่มีลักษณะเป็นผาหินยื่นชี้เฉียงขึ้นไปบนฟ้าแล้วเบื้องล่างเป็นหุบเขาอันกว้างไกลพร้อมกับแนวทิวเขายอดทรงแหลม จึงทำให้ภูชี้ฟ้ากลายเป็นหนึ่งในสถานที่มีวิวทะเลหมอกสวยงามของไทย แล้วที่สำคัญคือสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่อื่น ๆ(ในสถานที่มีความสวยในระดับเดียวกัน เช่น ดอยม่อนจอง ดอยหลวงเชียงดาว เพราะเพียงแค่เดินจากจุดจอดรถประมาณ 800 เมตร ก็สามารถเจอวิวทะเลหมอกสวยงามในระดับสิบกะโหลกได้แล้ว ผมการันตีว่าถ้าใครมาภูชี้ฟ้าแล้วยังไงก็ต้องว้าวแน่นอน ต่อให้มาแล้วแป็กไม่เจอทะเลหมอกก็ตาม สำหรับผมแล้วภูชี้ฟ้านอกจากเป็นสถานที่แรงบันดาลใจในการเริ่มต้นเที่ยวภูเขาแล้วยังเป็นสถานที่ฝึกหัดถ่ายรูปแนว Landscape ของผมอีกด้วย
“ภูชี้ฟ้า” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดเชียงราย เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยผาหม่น(ตอนบนของเทือกเขาผีปันน้ำตะวันออก) มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,628 เมตร แน่นอนว่าบนนี้จะเห็น Landscape ของทิวเขาในประเทศลาวได้อย่างกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ส่วนด้านล่างภูชี้ฟ้าที่มีลักษณะเป็นแอ่งหุบเขา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของหมู่บ้านเชียงตอง แขวงไชยบุรี ประเทศลาว(ไม่ใช่ไทยนะครับ หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นไทย) อันที่จริงแล้วภูชี้ฟ้าเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับลาว ผมได้มีโอกาสถามเจ้าหน้าที่ว่าจริง ๆ แล้วภูชี้ฟ้าเป็นของลาวหรือไทย เจ้าหน้าที่บอกว่า “พื้นที่บนหน้าผาทั้งหมดเป็นของไทยครับ แต่เมื่อหลุดจากจุดสูงสุดของหน้าผาไปแล้วจะเป็นของลาว ดังนั้นจุดชมวิวผาหินที่นักท่องเที่ยวต้องเดินลงไปข้างล่างส่วนนั้นเป็นประเทศลาวครับ ฮ่า ๆ” แต่ไม่ว่าจะเป็นลาวหรือไทยจุดนี้ถือว่าเป็น free zone สามารถใช้ร่วมกันได้ และประเทศลาวก็ไม่ได้พัฒนาตรงนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากด้านฝั่งลาวเป็นเหวทางขึ้นจะชันกว่าทางฝั่งไทยมาก ๆ
2. ภูชี้ฟ้า ไปช่วงไหนดี? ทะเลหมอกถึงจะสวยพีคที่สุด
บนภูชี้ฟ้าไม่ว่าจะลานกางเต็นท์หรือรีสอร์ทต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนระดับความสูงเฉลี่ย 1,150 – 1,350 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้มีอากาศโดยรวมเย็นตลอดทั้งปี และอากาศหนาวถึงหนาวจัดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ผมได้สรุปตารางอุณหภูมิเฉลี่ยรายเดือนตามนี้เลย
จริง ๆแล้วไม่ว่าจะมาเวลาไหนก็มีความสวยงามของธรรมชาติแตกต่างกันไป ถึงแม้ว่าภูชี้ฟ้าจะมีทะเลหมอกเกือบทุกวันในช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม แต่หลายคนมาแล้วก็พลาดทะเลหมอกบ้างหรือเจอหมอกน้อยบ้าง เอาเป็นว่าเดี๋ยวผมจะมาชำแหละให้ฟังเลยว่าไปช่วงไหนได้ธรรมชาติแบบไหน และไปช่วงไหนมีโอกาสเจอทะเลหมอกมากที่สุด ซึ่งผมจะแบ่งออกเป็นช่วง ๆ ตามด้านล่างนี้เลย
ภูชี้ฟ้า หน้าฝน (พฤษภาคม – กันยายน) เป็นอีกช่วงหนึ่งที่เราสามารถเห็นทะเลหมอกได้ถ้าท้องฟ้าเปิด(ฝนไม่ตก) ทะเลหมอกช่วงนี้จะเป็นหมอกผสมเมฆ มีลักษณะปุย ๆ ต่างจากหน้าหนาวที่เป็นแอ่งหมอกในหุบเขา บางเวลาหมอกก็ลอยขึ้นมาปะทะหน้ากันแบบตรงๆเลย ดังนั้นใครเคยไปหน้าหนาวแล้วก็ลองมาหน้าฝนดูบ้าง ขอบอกเลยว่ามันสวยกันคนละแบบเหมือนไปคนละสถานที่เลย แนะนำให้ไปช่วงกันยายน เพราะฝนจะเริ่มลดลงแล้ว ถ้าคืนไหนฝนตก เช้าวันนั้นอากาศแจ่มใสก็เตรียมพบทะเลหมอกแบบจัดเต็ม!!! แต่ต้องเผื่อใจไว้ด้วยถ้าฝนตกหนักเมฆหมอกจะปกคลุมยอดเขาจนแทบมองไม่เห็นอะไรเลย และทางเดินลื่นมาก ต้องระวังด้วย
ภูชี้ฟ้า ช่วงปลายฝนต้นหนาว (ตุลาคม – พฤศจิกายน) เป็นช่วงที่เหมาะกับการมาเที่ยวภูชี้ฟ้ามากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อระหว่างฤดูฝนกับฤดูหนาว เมื่ออากาศเย็นที่พึ่งลงมาจากจีนปะทะกับความชื้นสะสมในฤดูฝน ทำให้ช่วงนี้มีโอกาสเกิดหมอกมากเป็นพิเศษ โอกาสพลาดทะเลหมอกช่วงนี้มีน้อยมาก ๆ ถ้าโชคดีช่วงนี้อาจจะได้ หมอกไหลบนสันเขา (upslope fog)ได้ด้วย และในช่วงนี้ท้องฟ้าค่อนข้างแจ่มใส ฝนเริ่มลดลง ต้นไม้ตามภูเขาเขียวสดงดงาม สำหรับนักล่าดาวช่วงนี้ก็เป็นโค้งสุดท้ายของการล่าทางช้างเผือกของปีอีกด้วย
ภูชี้ฟ้า หน้าหนาว (ธันวาคม-มกราคม) ช่วงนี้เหมาะกับการมาสัมผัสอากาศหนาว ทะเลหมอกยังมีอยู่เกือบทุกวัน แต่ช่วงกลางเดือนมกราคมเป็นต้นไปโอกาสที่จะไม่เจอทะเลหมอกมีมากขึ้นหรือต่อให้มีก็ไม่เยอะ เนื่องจากความชื้นของหน้าฝนเริ่มหายไปเรื่อย ๆ ต้นไม้ตามเขาเริ่มแห้ง และเริ่มปรากฎหมอกแดดหรือฟ้าหลัว ทัศนวิสัยเริ่มลดลง ท้องฟ้าไม่ใสเหมือนปลายฝนต้นหนาว ส่วนน้ำค้างแข็งบนภูชี้ฟ้าจะมีได้ก็ต่อเมื่อลมหนาวจากจีนลงมาแรงมาก ๆเท่านั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 ปี/ครั้ง และวันไหนที่หนาวจนเกิดน้ำแข็ง ทะเลหมอกก็จะมีปริมาณน้อยมาก สรุปคือช่วงนี้สวยน้อยกว่าปลายฝนต้นหนาว แต่ก็ไม่ได้ขี้เหร่นัก สำหรับใครที่จะมาล่าทางช้างเผือกช่วงนี้ไม่มีนะครับ น้องช้างลาพักร้อนนะครับ จะมีแต่หางช้างบาง ๆเท่านั้น
ภูชี้ฟ้า หน้าร้อน (กุมภาพันธ์-เมษายน) ถ้าไม่มาล่าทางช้างเผือกช่วงฟ้ารุ่งสาง ก็เป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะกับการมาภูชี้ฟ้าอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงที่ทางภาคเหนืออากาศจมตัวสมบูรณ์พร้อมกับการเผาป่า ทำให้เกิดหมอกควัน(หมอกแดด)ที่เกิดจากการเผาและถูกกักเอาไว้ไม่ลอยไปไหนปกคลุมท้องฟ้า นอกจากเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้วยังทำให้ทัศนวิสัยลดลงอีกด้วย ช่วงนี้โอกาสไม่พบทะเลหมอกมีเยอะมากหรือถ้ามีก็ไม่เยอะ เว้นแต่คืนไหนมีฝนตกเช้าวันต่อมาก็อาจมีทะเลหมอกได้ แต่โอกาสฝนตกช่วงนี้ก็น้อยมาก ๆ แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นฤดูร้อนแต่ตอนกลางคืนยังหนาวอยู่นะครับ อากาศช่วงนี้จะแห้งๆต้นไม้จะออกเป็นสีเหลืองน้ำตาล ส่วนใครที่จะมาล่าทางช้างก็สามารถมาได้ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. เป็นต้นไป ทางช้างเผือกจะขึ้นขนานกับขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณตี 4 ครึ่ง
ดังนั้นคำถามที่ว่า “ภูชี้ฟ้า” ไปช่วงไหนสวยที่สุด ทะเลหมอกเยอะที่สุด? ผมขอตอบเลยว่า “ช่วงกลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนธันวาคม” เพราะมีโอกาสเจอทะเลหมอกได้แทบทุกวัน ไม่ต้องลุ้นมาก และเป็นช่วงเวลาเดียวที่สามารถล่าทางช้างเผือกได้ในตอนหัวค่ำ
3. ยอดภูชี้ฟ้ามุมมหาชน ชมทะเลหมอกกับพระอาทิตย์ขึ้น
การขึ้นมาชมแสงเช้าบน “ยอดภูชี้ฟ้า” เรียกได้ว่าเป็นทีเด็ดของการเดินทางมาภูชี้ฟ้าเลย ดังนั้นอย่าขี้เกียจตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้นเด็ดขาด ใครพลาดบอกเลยเลยว่าน่าเสียดายมาก ผมแนะนำให้ไปถึงยอดภูชี้ฟ้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นประมาณหนึ่งชั่วโมง(ตื่นประมาณตี 4 และควรถึงบนยอดไม่เกินตี 5 ครึ่ง) เพราะจะได้เก็บแสงสนธยาพร้อมกับทะเลหมอกได้ทัน และจะได้ไม่พลาดจังหวะพระอาทิตย์กำลังขึ้นจากขอบฟ้าด้วย ยิ่งใครเป็นสายถ่ายภาพ Landscape ก็ไม่ควรตื่นสายเลยนะครับ
ทริคเล็ก ๆที่อยากจะแชร์ ผมแนะยำให้ขึ้นไปเก็บพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดภูชี้ฟ้าก่อน พอพระอาทิตย์เริ่มขึ้นให้รีบเก็บรูปภาพด้านบนยอดผาหินยื่นก่อน(ยอดสูงสุดภูชี้ฟ้า) หลังจากที่พระอาทิตย์ขึ้นได้ 15 นาที ค่อยเดินลงมาจุดชมวิวผาหินยื่น หากไปช่วงปลายเดือนตุลาคมพระอาทิตย์จะอยู่เคียงข้างผาหินยื่นพอดี จริง ๆ แล้วมุมที่สวยสุดของภูชี้ฟ้าไม่ได้อยู่บนยอดผาหินยื่นนะครับ แต่อยู่ตรงจุดชมวิวผาหินยื่นนี่เอง ดังนั้นใครขี้เกียจเดินขึ้นไปบนยอดก็ตั้งขาตั้งกล้องตรงจุดชมวิวผาหินยื่นได้เลย ยกเว้นช่วงฤดูฝนผาหินยื่นจะบังพระอาทิตย์ขึ้นนะครับ เนื่องจากพระอาทิตย์จะเฉียงค่อนข้างไปทางทิศเหนือในช่วงกลางฤดูฝน
ภูชี้ฟ้าเป็นยอดเขาสูงทางด้านทิศตะวันออกติดชายแดนลาว จึงเป็นแนวรับลมหนาวจากจีนเต็ม ๆ ดังนั้นข้างบนนี้ลมจะแรงมาก ๆ โดยเฉพาะช่วงที่ลมหนาวจากจีนลงมาแรง ๆ ใครที่จะมาเก็บแสงเช้า ควรนำของหนักมาถ่วงขาตั้งกล้องด้วย แล้วใครป่วยง่าย แนะนำให้ใส่เสื้อหนาวแบบกันลมมาให้ดี ส่วนเรื่องของทะเลหมอกว่าวันนี้เยอะหรือไม่เยอะ ก็พอมีข้อสังเกตอยู่บ้าง คือถ้าวันไหนตื่นมาตอนตี 4 แล้วท้องฟ้าแจ่มใสเห็นดวงดาวชัดเจน วันนั้นทะเลหมอกจะเยอะแน่นอน แต่ถ้าเกิดท้องฟ้ามีเมฆเยอะวันนั้นทะเลหมอกอาจจะไม่มีหรือมีน้อย
4. ไปเก็บแสงเย็น ที่ภูชี้ฟ้าก็เด็ดไม่แพ้กัน
“ภูชี้ฟ้า” คนส่วนใหญ่มักจะมุ่งไปเก็บแสงเช้ากันจนมองข้ามแสงเย็น ซึ่งจริง ๆแล้วก็ไม่ใช่อะไรหรอก เพราะไม่รู้ว่าจะไปเก็บแสงเย็นหรือพระอาทิตย์ตกดินตรงไหนดี เพราะว่าจุดเก็บแสงเย็นของภูชี้ฟ้าส่วนใหญ่แล้วจะอยู่แถวข้างทาง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีจุดชมวิวหลัก โดยทั่วไปแล้วคนส่วนมากจะเลือกไปจุดชมวิวร่มฟ้าทอง ซึ่งจุดนั้นในช่วงฤดูหนาวพระอาทิตย์จะโดนต้นไม้บังได้ ดังนั้นผมขอแนะนำให้ไปเก็บจุดชมวิวใกล้สามแยกไปอำเภอเทิง หรือด้านบนของภูชี้ฟ้ารีสอร์ท หรือถ้าใครพักที่ภูชี้ฟ้ารีสอร์ทอยู่แล้วมุมนั้นแหละอย่างเด็ดเลย
ส่วนอีกจุดหนึ่งที่สามารถเก็บพระอาทิตย์ตกดิน ก็คือบอยอดภูชี้ฟ้านั่นแหละครับ จุดเดียวกับที่เราชมพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า แต่ให้เราหันหน้ามาทางด้านทิศตะวันตกแทน ตรงจุดนี้เราจะได้วิวทิวทัศน์แนวเทือกเขาฝั่งไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของวนอุทยานพญาพิภักดิ์หรือภูหลงถัง สุดท้ายแล้วใครที่เป็นสายถ่ายรูปไม่ควรพลาดเก็บแสงเย็นเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงเวลาจังหวะแสงทองสาดส่องลงมาบอกเลยว่าโคตรงาม
5. ไปภูชี้ฟ้าตอนกลางวันก็เปรี้ยวได้
พอดีผมมีโอกาสได้ขึ้นไปบนยอดภูชี้ฟ้าในตอนกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมมาเที่ยว เมื่อขึ้นมาถึงแล้วบรรยากาศที่ได้จะเป็นหน้าผากับทุ่งหญ้าเขียว ๆ แต่ว่าจะมาให้เจอทุ่งหญ้าเขียว ๆแบบนี้ต้องมาหน้าฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาวเท่านั้นนะครับ ชาวม้งที่อาศัยอยู่แถวนั้นเขาบอกว่า “พอเดือนธ.ค. เป็นต้นไป หญ้าบนภูชี้ฟ้าจะเริ่มออกเป็นสีเหลือง ๆ แล้วจะเป็นสีน้ำตาลเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน และจะกลับมาเขียวอีกครั้งหลังเดือน พ.ค.” ดังนั้นใครที่มาภูชี้ฟ้าหน้าฝนแล้วมีเวลาก็ลองขึ้นมาบนยอดในตอนกลางวันได้ครับ รับรองว่าได้บรรยากาศแตกต่างจากตอนเช้าแน่นอน (ชาวม้งกระซิบว่าช่วงหน้าฝนตอนกลางวันจะสวยที่สุด เอาไว้ผมมีโอกาสไปเมื่อไหร่จะเอามารีวิวเพิ่มแน่นอน) สุดท้ายใครที่ขึ้นไปแล้วเจอท้องฟ้าแจ่มใสแบบที่ผมไป แม้ว่าบนนี้จะมีลมพัดเย็น ๆก็จริง(22-23 องศาเซลเซียส) แต่แดดบนนี้ก็แสบผิวมาก แนะนำให้ใส่เสื้อแขนยาวหรือพกร่มไปด้วย
6. ขึ้นชื่อว่าภูชี้ฟ้าจะไม่มาล่าดาวได้ยังไง
“ภูชี้ฟ้า” จัดว่าเป็นหนึ่งในสถานที่เหมาะกับการล่าดาวเป็นอย่างมาก ด้วยระยะทางที่ห่างไกลจากเมืองเชียงรายและอำเภอเทิง ทำให้ท้องฟ้าค่อนข้างมืด หากมีใครสงสัยว่าดอยเสมอดาวกับภูชี้ฟ้าเห็นดาวชัดกว่ากัน ต้องตอบเลยว่า “ดอยเสมอดาวชัดกว่า 5555” แต่ก็ไม่ได้ชัดไปกว่ากันเท่าไหร่ครับ ที่นี่ก็ชัดพอที่จะล่าทางช้างเผือกได้อย่างสบาย ๆ สำหรับใครที่ต้องการล่าช้างพร้อมกับหน้าผายื่นตรงจุดชมทะเลหมอกพระอาทิตย์ขึ้น ต้องมาช่วงเช้ามืดในเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมีนาคม เพราะน้องช้างจะขึ้นขนานกับท้องฟ้าพอดี ตารางทางช้างเผือก
อันที่จริงแล้วภูชี้ฟ้ายังถือว่าเป็นสถานที่ครูสอนถ่ายดาวผมด้วย เมื่อสมัยผมปีหนึ่งผมมีโอกาสได้มาร่วมทริปกับชมรมถ่ายรูปของมหาลัย ผมได้ความรู้เทคนิคการถ่ายดาวจากรุ่นพี่ก็ที่นี่แหละครับ ต้องขอบคุณพี่ๆในวันนั้นด้วย แต่ยังไงก็ตามเท่าที่จำได้เมื่อก่อนตอนที่ผมมาหัดถ่ายดาวกับรุ่นพี่ท้องฟ้ามันมืดกว่าครั้งล่าสุดนะ ผมคิดว่าภูชี้ฟ้ากำลังเริ่มมีปัญหา Light Pollution แล้วนะครับ ในอนาคตหากแสงไฟจากรีสอร์ทและไฟตามถนนสว่างกว่านี้ ก็น่าจะเริ่มมีผลต่อการเห็นดวงดาวแล้ว
7. ภูชี้ฟ้า ไปพักที่ไหนดี มีที่พักไหนน่าสนใจบ้าง
เท่าที่ผมไปภูชี้ฟ้าส่วนมากจะไปลงเอย ที่ภูชี้ฟ้ารีสอร์ท เพราะที่นี่ค่อนข้างสะดวกสบาย ห้องน้ำดี วิวหลังบ้านสวย สามารถออกมาหน้าระเบียงแล้วเก็บแสงเย็นได้เลย ไม่ไกลจากทางขึ้นภูชี้ฟ้า(ประมาณ 2 กิโลเมตร) และที่สำคัญราคาถูกมาก ๆ ราคา 700-1000 บาท / ห้อง / คืน หนึ่งห้องสามารถพักได้พักได้ 4 คน หารเฉลี่ยออกมาแล้วจ่ายคนละ 250 บาท / คืน เท่านั้นเอง ถือว่าคุ้มโคตร ๆ (ในช่วง Low season ราคา 700 บาท/คืน ไม่มีอาหารเช้านะครับ แต่ถ้าช่วง High season มีอาหารเช้าเป็นข้าวต้ม ไข่ ขนมปัง กาแฟ ให้ครับ) แล้วล่าสุดผมได้มีโอกาสพักห้อง VIP ของภูชี้ฟ้ารีสอร์ทแบบราคาห้องธรรมดา เนื่องจากทางรีสอร์ทลืม Booking ห้องพักที่ผมจองไว้ แล้ววันนั้นห้องเต็มหมดเลย ทางเจ้าของใจดีรับผิดชอบโดยการเปิดห้องคืนละ 3,000 บาท ให้พัก ขอบอกเลยว่าดูดีมาก ๆ เหมาะกับสายนั่งนอนพักชิว ๆ มีห้องทำครัวและอ่างอาบน้ำให้ด้วย
ส่วนภาพด้านล่างนี้เป็นบ้านพักภูชี้ฟ้ารีสอร์ทแบบธรรมดาคืนละ 700-1000 บาท ทั้งหมดนะครับ
รายชื่อที่พัก ภูชี้ฟ้า อื่น ๆเพิ่มเติม
บ้านพักภูชี้ฟ้ารีสอร์ท เบอร์โทร 081-783-5505 , 098-782-4679
บ้านระเบียงฟ้า เบอร์โทร 081 885 5721
กู๊ดวิวแอทภูชี้ฟ้า รีสอร์ท เบอร์โทร 063-565-9465
ภูชี้ฟ้าฮิลล์ เบอร์โทร 081-9804163 , 089-8501577
ภูชี้ฟ้ายอดมณี รีสอร์ท เบอร์โทร 081-9804163 , 089-8501577
รายชื่อที่พักผมคัดมาแล้ว 5 ที่ ทั้งจากที่เคยไปพักเอง และลองไล่ดูคะแนนใน Google map + เข้าไปดูในเพจ ผมจะเลือกอันที่เห็นว่าดีหรือพอไปได้ แต่ไม่ได้หมายความที่อื่น ๆไม่ดีนะครับ เพราะบางที่พึ่งเปิดมาใหม่ อาจจะดีกว่าก็ได้ ดังนั้นตรงนี้มีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดนะครับ ในอนาคตผมเห็นว่าอันไหนดีอันไหนสวย ก็จะเอาลิงค์พร้อมเบอร์โทรแปะไว้ให้
8. ไปภูชี้ฟ้า ใช้เส้นทางไหน ขับรถไม่ยาก
หลายคนถามว่า ภูชี้ฟ้าไปเส้นไหนที่ขับง่ายสุด มีทางลัดบ้างไหม ขอบตอบเลยทางขึ้นภูชี้ฟ้าจะมีหลักอยู่ 3 ทางที่คนนิยมขับรถท่องเที่ยวกัน ซึ่งจะแบ่งตามนี้
- เส้นทางเทิงหรือบ้านตับเตา(ทล.1155) เส้นทางนี้เป็นเส้นหลักที่ขับง่ายที่สุดแล้ว ถนนลาดยางอย่างดีกว้าง มีจุดแคบแค่ในหมู่บ้านเท่านั้น เหมาะกับมือใหม่ที่สุด แต่ก็ต้องระมัดระวังทางนี้ถนนมีโค้งและชันก่อนถึงแยกไปดอยผาตั้ง ถ้ามาจากเมืองเชียงรายหรือพะเยา-น่าน จะเป็นเส้นทางที่ไม่ใกล้ไม่ไกล ส่วนเรื่องของวิวข้างทางนี่สวยมาก สวยกว่าเส้นภูซาง แต่น้อยกว่าภูหลงถัง
- เส้นทางภูซาง(ทล.1093) เส้นทางนี้จะผ่านน้ำตกภูซาง ความชันน้อยกว่าเส้นบ้านตับเตา แต่ผิวถนนพังมากแถมบางช่วงแคบอีกด้วย เส้นนี้เป็นเส้นทางสั้นที่สุดสำหรับคนที่มาจาก น่าน-เชียงคำ-พะเยา แต่ถ้าให้ผมแนะนำอ้อมไปเส้นบ้านตับเตาดีกว่าวิวสวยกว่าถนนดีกว่า เพียงแต่ชันกว่านิดนึง
- เส้นทางภูหลงถัง(ชร.4018) เส้นนี้โหดสุดขับรถไม่แข็งอย่าคิดไปเลย โหดกว่าดอยอ่างขาง และน่าจะเป็น on road ที่ชันที่สุดในไทยด้วย ความชันช่วงพีคอยู่ที่ประมาณ 16% โดยเฉลี่ยชันประมาณ 14% แต่ถ้าใครมือโปรรู้รถตัวเอง แนะนำว่าต้องมาลองสักครั้ง เพราะวิวถนนอลังการมากสวยกว่าเส้นตับเตา เส้นทางนี้เป็นเส้นลัดจากเชียงรายไปภูชี้ฟ้า แต่ใช้เวลาขับพอ ๆ กับเส้นตับเตานั่นแหละครับ ฮ่า ๆ
ข้อแนะนำการใช้ GPS หลายคนคงเคยโดน GPS หลอกกันมาบ้าง ใครที่วางเส้นทางจากเชียงรายไปภูชี้ฟ้ามันจะแนะนำให้ไปเส้นทางภูหลงถัง ซึ่งหลายคนเป็นมือใหม่คงจะเสียวไม่น้อย ถ้ารอดมาได้รถไม่พังเบรกไม่แตก คุณสามารถไปได้ทุกดอยในเมืองไทย ผมแนะนำว่าให้ปรับเส้นทางเทิง-ตับเตาจะดีกว่า ถนอมเครื่องรถด้วย และปลอดภัยกว่าเยอะเลย