กิ่วแม่ปาน
Highlight
- “กิ่วแม่ปาน” เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยอินทนนท์ ที่สามารถสัมผัสระบบนิเวศป่าไม้เขตอบอุ่นและพบกวางผาได้ง่ายที่สุดของไทย ใครตั้งใจอยากไปเห็นกวางผาต้องไปช่วงที่คนน้อย ๆ โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคม มีโอกาสได้เห็นสูงมาก
- กิ่วแม่ปานจะเปิดให้เข้าไปเที่ยวตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน – 31 พฤษภาคม แต่ช่วงที่เหมาะกับการมาที่สุดคือเดือน พ.ย.- ธ.ค. เพราะทุ่งหญ้าช่วงนี้จะเขียวสดงดงาม และมีโอกาสเห็นทะเลหมอกได้มากที่สุด ส่วนใครที่ตั้งใจมาดูกุหลาบพีปีจะต้องมาตั้งมา เดือน ธันวาคม – มีนาคม ซึ่งดอกจะบานเยอะสุดช่วงกลางเดือนมกราคม
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน มีระยะทางทั้งหมด 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินชมแบบเนิบ ๆ ประมาณ 3-4 ช.ม. ขาไปไม่ค่อยเหนื่อย แต่ขากลับจะเหนื่อยมาก ซึ่งการเดินเข้าไปจะต้องจ้างไกด์ท้องถิ่นนำทาง ราคา 200 บาท/ไกด์ 1 คน และไกด์ 1 คนรับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกิน 10 คน
1. กิ่วแม่ปานเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ห้ามพลาด
สำหรับผมแล้วที่สุดของการมา”ดอยอินทนนท์” คือการมาเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน นอกจากได้ภาพ Landscape สวยๆ แล้วยังได้เรียนรู้สัมผัสธรรมชาติของระบบนิเวศป่าดิบเขาสูง และระบบนิเวศหน้าผาได้ง่ายที่สุดของไทยด้วย ผมขอย้ำเลยว่า Landscape ของดอยอินทนนท์ที่สวยจริง ๆอยู่บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “กิ่วแม่ปาน” ไม่ได้อยู่บนยอดดอยอินทนนท์แต่อย่างใด ส่วนบนยอดดอยอินทนนท์นั้นเอาไว้ขึ้นไปถ่ายรูปคู่กับป้ายสูงสุดในสยามแบบเกร๋ ๆเท่านั้น ไม่ได้มี Landscape สวย ๆอะไรเลย ฮ่า ๆ ดังนั้นใครได้มีโอกาสมาดอยอินทนนท์ควรพุ่งเป้าหมายแรกมาที่กิ่วแม่ปานเลย เพราะทีเด็ดสุดของดอยอินทนนท์อยู่ที่กิ่วแม่ปานนี่แหละครับ ส่วนที่อื่น ๆเอาไว้ไปเก็บที่หลัง
ในเส้นทางธรรมชาติกิ่วแม่ป่านมีระบบนิเวศที่แยกกันอย่างได้ชัด คือระบบนิเวศป่าดิบเขาเขตอบอุ่น ซึ่งลักษณะคล้ายกับเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาบนยอดดอยอินทนนท์ และระบบนิเวศแบบหน้าผามีลักษณะเป็นทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกวางผา ถ้าโชคดีก็สามารถเห็นกวางผาได้ไม่ยาก จริง ๆ แล้วระบบนิเวศแบบนี้ก็มีอยู่กระจายทั่ว ๆไปตามยอดดอยสูง ๆของไทย ไม่ว่าจะเป็นดอยภูแว ดอยม่อนจอง ดอยหลวงเชียงดาว ดอยผ้าห่มปก แต่ว่าการเข้าถึงจะยากกว่า”กิ่วแม่ปาน”มาก อาจจะต้องใช้เวลาเดินถึง 5-6 ช.ม.(เฉพาะไปอย่างเดียว ไม่รวมกลับ นะครับ) ในขณะที่กิ่วแม่ปานใช้เวลาไปกลับเพียง 3 ช.ม. เท่านั้น เรียกได้ว่าสบายโคตร ๆ
2. กิ่วแม่ปานไปช่วงไหน แตกต่างกันยังไง
กิ่วแม่ปานจะเปิดให้นักท่องเที่ยวให้เข้าได้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน – 31พฤษภาคม ของทุกปี จากประสบการณ์ผมไปกิ่วแม่ปานมาแล้วหลายรอบ ผมขอสรุปดังนี้
- เดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงสวยที่สุดครับ ทุ่งหญ้าเป็นสีเขียว มีโอกาสเจอทะเลหมอกบริเวณจุดชมวิวได้เยอะที่สุด อากาศไม่ได้หนาวเย็นมาก และคนไม่ค่อยเยอะครับ
- เดือนธันวาคม ช่วงนี้ทุ่งหญ้าเริ่มเป็นสีเหลืองแล้ว แต่ก็ยังสวยอยู่ เริ่มมีดอกกุหลาบพันปีออกบ้างแล้ว ทะเลหมอกมีเกือบทุกวัน แต่ปริมาณหมอกจะน้อยกว่าช่วงเดือน พ.ย. ข้อเสียช่วงนี้คือคนค่อนข้างเยอะ(ปีใหม่ไม่ต้องพูดถึง ดอยแทบแตก) ดังนั้นใครมาช่วงนี้โอกาสเห็นกวางผาจะน้อยมาก เพราะเสียงคนรบกวนเยอะมาก
- เดือนมกราคม-กลางกุมภาพันธ์ ทุ่งหญ้าเริ่มเป็นสีเหลือง ๆออกน้ำตาล ทะเลหมอกข้างล่างอาจจะต้องลุ้น กุหลาบพันปีออกดอกเยอะมากที่สุด อากาศหนาวจัดและลมพัดแรงมาก ๆ และช่วงนี้มีโอกาสเห็นแม่คะนิ้งเยอะที่สุด
- กลางกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ช่วงนี้เป็นช่วงที่ไม่ค่อยสวยแล้ว ทุ่งหญ้าเป็นสีน้ำตาล ตั้งแต่เดือนมีนาคมอาจจะเจอหมอกแดดปกคลุมด้านล่างหุบเขา ทำให้ไม่เห็นรายละเอียดด้านล่าง และแน่นอนไม่มีทะเลหมอก(ไม่นับหมอกควันนะครับ) ช่วงนี้เหมาะกับสายที่ต้องการอยากถ่ายรูปสัตว์ป่าอย่างกวางผา เนื่องจากช่วงนี้คนน้อยมากจึงไม่มีเสียงรบกวน โอกาสที่กวางผาจะออกมาก็มีมากขึ้น ส่วนดอกกุหลาบพันปีช่วงนี้ยังพอมีให้เห็นอยู่นะครับ
ข้อแนะนำ เมื่อไปถึงจุดชมวิวแล้ว ถ้าเกิดเจอหมอกปิดหนา แนะนำว่าให้รอก่อน เพราะสภาพอากาศบนภูเขาสูงจะเปลี่ยนๆทุก ๆ 10-15 นาที ไม่ต้องรีบเดินกลับนะครับ ให้ยืนตากหมอกไปเรื่อย ๆ ไม่เกิน10 นาทีหมอกจะเริ่มจางและผ่านไป ท้องฟ้าเปิดเมื่อไหร่บอกเลยว่าโคตรพีค ยกเว้นวันนั้นเกิดฝนตกจริง ๆ ซึ่งถ้าฝนตกแนะนำว่าไม่ควรเดินเข้าไปตั้งแต่แรกแล้ว ฮ่า ๆ
3. เจาะลึกบนเส้นทางกิ่วแม่ปาน
ช่วงแรก เป็นการเดินในเขตป่าดิบเขาสูงหรือที่เรียกกันว่า “ป่าเมฆ” ในช่วงต้นของเส้นทางเราจะเดินผ่าน “น้ำตกลานสเด็จ” ซึ่งถือว่าเป็นน้ำตกที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากที่สุดในไทยและมีน้ำไหลตลอดทั้งปี โดยทั่วไปแล้วป่าเมฆจะเป็นป่าไม้เนื้ออ่อน ทุกครั้งในฤดูฝนเวลาเกิดพายุลมแรงมักจะมีต้นไม้ล้มเสมอ(เราจะเห็นซากต้นไม้ล้มเยอะมาก) แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีต้นไม้เกิดใหม่มาเรื่อย ๆ นอกจากนี้หากสังเกตดี ๆตามต้นไม้ใหญ่มักจะมีมอสเฟิร์นเกาะอยู่ตามลำต้น ซึ่งจริง ๆแล้วเฟิร์นที่เราเห็นอยู่กันนี้เป็นหนึ่งในพืชยุคดึกดำบรรพ์สืบทอดมาตั้งแต่ 230 ล้านปีที่แล้ว และความพิเศษของเฟิร์นชนิดนี้คือไม่มีปากใบมีเพียงช่องอากาศเอาไว้แลกเปลี่ยนก๊าซและดูซับหมอกเท่านั้น สามารถอยู่ได้ด้วยแสงอาทิตย์แบบรำไรกลางสายหมอก ในช่วงฤดูแล้งจะเหี่ยวแต่ไม่ตาย แต่พอเข้าฤดูฝนเฟิร์นก็จะกลับมาเขียวเปล่งเหมือนเดิม
ช่วงที่สอง จะเริ่มออกจากป่าดิบเขาสูง(ป่าเมฆ)มาเป็นระบบนิเวศแบบทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ ซึ่งบริเวณนี้เป็นชั้นดินตื้น สังคมพืชส่วนใหญ่จะเป็นพวกหญ้า เนื่องจากว่าหญ้าเป็นพืชที่มีรากไม่ลึกมาก หรือบางคนอาจจะเรียกว่าเป็นระบบนิเวศแบบหน้าผาก็ได้ ซึ่งตรงนี้เองก็เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผาด้วย จากทุ่งหญ้าเมื่อเราเดินต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะเจอกับระเบียงไม้สำหรับชมวิวถ่ายรูป จุดชมวิวนี้ก็คือ Highlight ของกิ่วแม่ปานเลยนั่นแหละ เพราะมันสามารถเห็นแนวเทือกเขาถนนธงชัยฝั่งอำเภอแม่แจ่มได้ไกลสุดลูกหูลูกตามาก และหากมาถูกช่วงเวลาตรงนี้จะมีทะเลหมอกด้านล่างหุบเขาด้วยนะครับ (เดือนพฤศจิกายนมีโอกาสเห็นมากที่สุด) และขอเตือนว่า “อย่านั่งถ่ายบนราวไม้นะครับ” นอกจากจะไม่ปลอดภัยแล้วเดี๋ยวจะเป็นดราม่าในพันทิปแบบไม่รู้ตัวอีกด้วยฮ่า ๆ
ช่วงที่สาม เมื่อเดินจากจุดชมวิวแล้วเราก็จะเดินไปตามทางริมสันเขาแคบ ๆด้านขวามือจะเป็นหุบผาเหวลึกลงไป ซึ่งสภาพภูมิประเทศแบบนี้จะเรียกว่า “กิ่ว” กิ่วก็คือทางเดินแคบ ๆบนสันเขา ในช่วงระหว่างทางเดินนี้เราจะผ่านผาแง่มน้อย และในวันที่คนน้อย ๆเงียบๆตรงนี้ก็สามารถเห็นกวางได้อีกด้วย จากจุดชมวิวผาแง่มน้อยเมื่อเราเดินมาถึงช่วงที่สามตอนปลายก็จะเป็นดงของต้นกุหลาบพันปี เราจะเห็นดอกกุหลาบพันปีตรงนี้ได้เยอะมากที่สุด สำหรับใครที่มาจะดูดอกกุหลาบพันปีเยอะๆแนะนำให้มาช่วงกลางเดือนมกราคม-กลางกุมภาพันธ์
ช่วงที่สี่ จากบริเวณดงกุหลาบพันปีเมื่อเดินสักแปร๊บก็จะเริ่มเข้าสู่ป่าเมฆอีกครั้ง จากตรงนี้ไปเราจะต้องเดินขึ้นลงเขาประมาณ 4 รอบ(ถ้าจำไม่ผิดนะ) ลักษณะคล้ายๆกับช่วงแรกที่เดินเข้ามา แต่ระยะทางยาวกว่ามากและเหนื่อยกว่าตอนเดินเข้ามาโคตร ๆ แล้วก็ไม่มีอะไรให้ดูด้วยนอกจากต้นไม้ ถ้าใครเหนื่อย ๆให้คิดว่าไปเดินดูป่าเมฆเล่นๆละกันครับ จะได้ไม่เหนื่อย 5555
สรุปการเดินทาง จากจุดเริ่มต้นไประเบียงไม้ชมวิวมีระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร และจากระเบียงไม้ไปจุดจบอีก 1.5 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 3 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 3-4 ชั่วโมง ถามว่าเหนื่อยมั้ย? ก็พอควรช่วงแรกที่ไปจุดชมวิวไม่เหนื่อยเท่าไหร่ แต่มันจะเหนื่อยก็ตอนขากลับนี่แหละครับ ความเหนื่อยจะเริ่มตั้งแต่ดงต้นกุหลาบพันเป็นต้นไป เพราะเราจะต้องเดินขึ้นลงเขา 4 รอบ จนกว่าถึงทางออก ช่วงนี้แหละครับเหนื่อยสุดแถมไม่มีวิวอะไรสวยเลยนอกจากต้นไม้ให้ชม แต่ถามว่าคุ้มค่ามั้ยบอกเลยว่าคุ้มค่ามาก เพราะถ้ามาดอยอินทนนท์แล้วไม่มาเดินกิ่วแม่ปานถือว่าโคตรพลาด ข้อแนะนำและคำเตือน เนื่องจากกิ่วแม่ปานอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,100 – 2,200 เมตร ออกซิเจนจะน้อยกว่าพื้นราบประมาณ 76% ทำให้เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ใครที่เป็นโรคประจำตัวเหนื่อยง่ายให้ค่อยๆเดินไป ไม่ไหวให้พักก่อน หายเหนื่อยแล้วค่อยเดินต่อ อย่าหักโหมเพราะไม่งั้นเดี๋ยวจะเหนื่อยเจ้าหน้าที่ต้องหามลงมาและเป็นอันตรายกับตัวเองด้วย ถึงแม้ว่ามันอาจจะดูเหนื่อย แต่ผมเชื่อว่าทุกคนสามารถเดินได้ครับอยู่ที่ใจ(ยกเว้นพิการหรือแก่จริง ๆ) เพราะขนาดแม่ผมอายุ 62 ปียังเดินได้เลย แต่ก็พักบ่อยอยู่เหมือนกัน ฮ่า ๆ
- การเดินเข้าไปจะต้องจ้างไกด์ท้องถิ่น ราคาอยู่ประมาณ 200 บาท/ไกด์ 1 คน และไกด์ 1 คนสามารถรับนักท่องเที่ยวได้กลุ่มละไม่เกิน 10 คน แต่ถ้าใครคิดว่าจะเข้าไปเที่ยวนาน ๆ ผมแนะนำว่าให้จ้างตัวต่อตัวไปเลยยอมจ่ายเต็ม 200 บาท หรือกลุ่มละไม่เกิน 3 คน/ไกด์ แล้วเราจะอยู่ยาวเท่าไหร่ก็ได้ไม่ต้องง้อคนอื่น ซึ่งเงิน 200 บาท ไกด์จะได้จริง ๆ 160 บาท เท่านั้น อีก 40 บาท จะถูกนำไปเข้ากองกลางเพื่อนฟื้นฟูป่า
- ข้อแนะนำสำหรับคนอยากถ่ายกวางผา อันดับแรกไปซื้อเลนส์ระยะ 300-500 mm มาก่อน เพราะกวางผาจะปรากฎไกลมาก แบบไกลจริง ๆ ขนาด 300 mm ยังต้อง Crop เลย ควรไปช่วงเวลาเช้าๆและต้องมีเวลาเยอะมาก เพราะบางทีอาจจะต้องรอเวลา 2-3 ชม. และต้องไปช่วงที่คนไม่เยอะ นั่นหมายความว่า ต้องไปเดือนมีนาคม-เมษายน ช่วงนี้คนแทบไม่มี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยทัศนียภาพที่ไม่สวย แต่อย่าลืมให้ท่องเอาไว้ว่า”เราจะมาถ่ายกวางผา”ไม่ได้มาเอาต้นไม่สีเขียว