พื้นฐานการถ่ายภาพ Landscape
Highlight
- การถ่ายภาพแนว Landscape ให้สวย สิ่งสำคัญที่สุดคือแสงและธรรมชาติ การวางองค์ประกอบของภาพและอุปกรณ์เป็นเรื่องรอง ถ้าธรรมชาติสวยถ่ายออกมายังไงก็สวย
- การวางองค์ประกอบของภาพ(Composition) เป็นการทำให้ภาพเราดูมีเรื่องราว มิติความตื้นลึกมากขึ้น ซึ่งที่ใช้บ่อย ๆ ก็มีกฎสามส่วน จุดตัดเก้าช่อง และเส้นนำสาย ส่วนเทคนิคการถ่ายอย่าง Long exposure เป็นการทำให้ภาพดูอลังการและนวลมากขึ้น
- สิ่งสำคัญของการเตรียมตัวไปถ่ายภาพ Landscape ต้องเช็คว่าสถานที่นั้นมีสภาพอากาศอย่างไร ควรไปช่วงฤดูไหนถึงจะได้ธรรมชาติสวยที่สุด และสิ่งสำคัญที่สุด คืออย่าลืมเช็คอุปกรณ์ว่าพร้อมใช้งานหรือไม่ ก่อนออกจากบ้านเช็คให้ดีว่าเมมใส่หรือยัง แบตมีมั้ย ลืมที่ชาร์ตแบตหรือเปล่า เช็คให้ดีอย่าให้พลาด เพราะถ้าพลาดขึ้นมาธรรมชาติสวยแค่ไหน ก็อดได้รูปอยู่ดี
1. ภาพถ่ายแนว Landscape แยกออกเป็นอะไรได้อีกบ้าง
ภาพถ่ายแลนด์สเคป(Landscape) ถ้าให้พูดง่าย ๆเลยก็คือภาพถ่ายวิวทิวทัศน์ธรรมชาติ ที่ให้ความสำคัญกับการวางฉากหน้าฉากหลังและช่วงเวลาของแสงธรรมชาติ จะเจาะจงกับวัตถุหรือไม่ก็ได้ และยังไม่จำกัดว่าต้องใช้เลนส์อะไรอีกด้วย หลายคนบอกว่า Landscape นี่ต้องเลนส์มุมกว้าง(wide lenses) เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเลนส์มุมแคบ(tele) ก็สามารถถ่ายภาพแลนด์สเคปแบบเจาะจงบางมุมสวยๆได้ แถมยังได้มุมมองใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำใครอีกด้วย ซึ่งจริง ๆแล้วภาพถ่ายแนวแลนด์สเคปก็ยังสามารถแบ่งยิบย่อยลงไปอีกได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปภาพทะเล ภูเขา ตึก ดวงดาว ท้องฟ้า ล้วนแต่เป็นภาพถ่ายแนวแลนด์สเคปทั้งนั้น ซึ่งจะมีหลักๆ ดังนี้
Nature Scape
Nature Scape ภาพแลนด์สเคปที่เน้นธรรมชาติ ภูเขา น้ำตก ทะเลหมอก ทุ่งนา ซึ่งส่วนใหญ่ภาพแลนด์สเคปก็จะเป็นภาพแนว ๆนี้ละครับ เนื่องจากเป็นภาพถ่ายแลนเสเคปที่ถ่ายได้ทุกช่วงเวลา แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรเป็นช่วงเวลาแสงทอง (Golden Hour) เพราะธรรมชาติของแสงจะสวยสุดช่วงนี้
Cityscape
Cityscape เป็นภาพถ่ายแลนด์สเคปที่เน้นวิวเมืองหรือตึก ถ้าจะให้สวยแนะนำว่าควรถ่ายช่วงเวลาเย็นไปจนถึงค่ำ แต่จะพีคสุดก็ช่วงแสงสนธยา(twilight) เพราะว่าเราจะได้ไฟตึกบวกท้องฟ้าที่ไม่ยังไม่ได้มืดดำสนิท หรือช่างภาพบางคนเรียกว่า ช่วงเวลาแสงเงิน(Blue Hour) นั่นเอง
Seascape
seacape เป็นภาพถ่ายแลนด์สเคปที่เน้นวิวทะเลจะเป็นกลางวันหรือช่วงเช้า/เย็นก็ได้ ถือว่าเป็น seascape หมด จริง ๆแล้ว seascape ก็ถือเป็น Nature scape ได้เหมือนกัน แต่หลายคนจะแยก seascape ออกไปเลยเพื่อจะได้ระบุชัดเจนว่าเป็นภาพถ่ายแนวทะเล นอกจากนี้ภาพถ่ายแนว seascape ยังสามารถนำกระแสน้ำไหลของคลื่นทะเลมาถ่ายแบบ Long exposure ได้อีกด้วย ดังนั้นคลื่นลมแรงก็ถือเป็นข้อดีสำหรับสาย Seascape
Sky scape
Sky scape เป็นภาพถ่ายที่แลนด์สเคปที่เน้นท้องฟ้า ก้อนเมฆ ปรากาฎการบนท้องฟ้า หรือรูปภาพที่ถ่ายจากบนเครื่องบิน
Perspective Landscape
Perspective Landscape ภาพถ่ายเลนส์เคปที่เจาะเป็นมุมแคบลงไป ถ้าให้พูดง่าย ๆ ภาพถ่ายแลนด์สเคปที่ใช้เลนส์ระยะซูมนั่นเอง ถึงได้บอกว่าเลนส์ระยะมุมแคบก็ถ่ายภาพแลนด์สเคปได้
Astronomical scape
Astronomical scape ภาพถ่ายแลนด์สเคปที่เป็นการถ่ายดาวบนท้องฟ้า ทางช้างเผือก รวมถึงการถ่ายวัตถุต่าง ๆบนท้องฟ้าด้วย เช่น เนบิวลานายพราน แอนโดรเมดา กระจุกดาวลูกไก่
2. อยากถ่ายภาพ Landscape ให้สวย ต้องจัดองค์ประกอบ(Composition)ยังไงบ้าง
ต้องบอกก่อนว่าสิ่งที่สำคัญของการถ่ายภาพแลนด์สเคปให้สวยเป็นเรื่องของแสงและธรรมชาติ ถ้าแสงสวย ธรรมชาติสวย รูปภาพก็ออกมาสวยได้(จำไว้ว่าธรรมชาติถือหุ้นแลนด์สเคป 90% ) เพียงแต่การจัดองค์ประกอบภาพจะทำให้ภาพของเราดูมีเรื่องราวมากขึ้น หรือมีมิติความลึกตื้นมากขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งในหนึ่งภาพอาจจะใช้เทคนิควางองค์ประกอบภาพหลายเทคนิครวมกันก็ได้ และบางภาพก็สวยได้โดยไม่ต้องใช้กฎอะไรเลยก็มี ผมจึงไม่อยากให้ยึดติดกับกฎมากนัก ในโลกของการถ่ายภาพแนว Landscape ก็มีรูปแบบการวางองค์ประกอบของภาพหลากหลายมาก ดังนั้นผมจะเขียนเฉพาะเทคนิคที่สำคัญใช้บ่อย ๆ ซึ่งไล่ลำดับตามหัวข้อด้านล่างนี้เลย
กฎ 3 ส่วน (Rule of thirds)
“กฎ 3 ส่วน” เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและใช้มากที่สุดแล้ว สำหรับการวางองค์ประกอบภาพเพื่อให้เกิดความสวยงามและสมดุลของภาพ กฎนี้ไม่มีอะไรมาก พูดง่าย ๆเลย จัดองค์ประกอบของท้องฟ้าจะอยู่ที่ 2 ส่วนบนหรือ พื้นดินให้อยู่ 1 ส่วนล่าง หรือถ้าจะเน้นพื้นดินก็ให้พื้นดิน 2 ส่วน และท้องฟ้า 1 ส่วน ก็ได้ อันที่จริงกฎนี้ก็ไม่ได้ตายตัวนะ จะถ่ายอย่างละครึ่งๆก็ได้แต่ต้องวางองค์ประกอบในภาพให้ดูสมดุลกันก็พอ
จุดตัด 9 ช่อง
“จุดตัดเก้าช่อง” คือการนำวัตถุหรือสิ่งสนใจไปไว้บริเวณจุดตัดเก้าช่องที่เกิดจากกฎสามส่วน เพื่อให้ภาพดูมีเรื่องราว กฏนี้ก็ไม่ตายตัวอีกเหมือนกัน ถ้าเราจะเน้นวัตถุเฉพาะจริง ๆ อย่างพระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า เราก็เอาพระอาทิตย์ไปไว้กลางภาพได้ หรือถ้าหากว่าเรามีจุดสนใจอันเดียวแล้วสภาพแวดล้อมไม่มีอะไรเด่นชัด เราก้สามารถนำจุดสนใจไว้กลางภาพได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องวางบนจุดตัดเก้าช่องเสมอไป แต่อย่างไรก็ควรวางภาพให้ตรงกับจุดตัด 9 ช่องจะดีที่สุด เพราะภาพจะดูมีเรื่องราวมากขึ้นไม่น้อยเลย
การวางฉากหน้าหรือโฟร์กราว
โฟร์กราว คือการถ่ายให้มีฉากหน้า เพื่อเป็นการเพิ่มมิติให้กับภาพ การมีฉากหน้าทำให้ภาพดูมีรายละเอียดมีความลึกของภาพ ลำทำให้ภาพดูมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นด้วย
การเล่นกับลำดับชั้น(Layer)
การใช้ธรรมชาติที่ซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆอย่างเช่น แนวเทือกเขา เพื่อทำให้ดูมีมิติหรือมีความลึกตื้นนั่นเอง แต่ยังไงก็ตามภาพแนวนี้จะต้องอาศัยแสงในการช่วยสร้างชั้นของภูเขา ซึ่งจะตรงกับช่วงพระอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้าหรือลับขอบฟ้าไปแล้วสักพักนั่นเอง
ความสมดุลของภาพ
ถึงแม้ว่าการนำจุดที่สนใจไปไว้กลางภาพอาจจะเป็นเรื่องที่ดูแหกกฎจุดตัด 9 ช่อง แต่การนำจุดสนใจไว้กลางภาพแล้วให้สองด้านให้เกิดความสมดุลกัน ก็สามารถทำให้คนมองภาพโฟกัสไปยังจุดสนใจกลางภาพได้ไม่น้อยเลย แต่เน้นนะครับ 2 ฝั่งต้องสมดุลกัน ถ้าฝั่งไหนเบี้ยวเกินภาพจะดูไม่มีอะไรเลย
เล่นกับเงาสะท้อน
เป็นการใช้พื้นน้ำที่นิ่ง พื้นกระจก เพื่อสร้างเงาสะท้อน ทำให้ภาพดูมีอะไรน่าหลงใหล และทำให้ภาพมีความสมดุลอีกด้วย แน่นอนว่าการถ่ายภาพแบบสะท้อนอาจจะต้องให้เส้นขอบวางกลางภาพ พูดง่าย ๆคือแหกกฎสามส่วนนั่นแหละครับ
เส้นนำสายตา
เป็นหนึ่งเทคนิคที่สายถ่ายแลนด์สเคปใช้บ่อยมาก คือการหาอะไรสักอย่างในธรรมชาติมาเป็นเส้นนำสายตา เพื่อให้เพิ่มดูมีเรื่องราวเพิ่มมากขึ้นส่วนใหญ่ที่ใช้ก็จะเป็นการถ่ายรูปถนนหรือสะพานอย่างไรให้สวย และมีเรื่องราวนั่นเอง
3. เทคนิคการถ่ายภาพ Landscape ให้ดูอลังการขึ้น
เทคนิคการถ่าย Long Exposure
การถ่ายแบบ Long Exposure คือการถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวออกมาให้เป็นเส้นสาย ดูนวลขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสายน้ำที่ไหล คลื่นทะเล ไฟรถวิ่งตอนกลางคืน ดาวหมุน หรือภาพพลุดอกไม้ไฟ และมีบางคนใช้เทคนิคนี้ในการพิสูจน์บั้งไฟพญานาคด้วย ซึ่งการถ่ายแบบ Long Exposure ก็คือการเปิด speed shutter นานมากกว่า 1 วินาที เป็นต้นไป จริง ๆแล้วเรียกว่าการถ่ายแบบ Low speed shutter ก็ได้ แน่นอนว่าการถ่ายภาพแนวนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือขากล้อง ในช่วงกลางคืนวิธีการถ่ายแบบนี้อาจจะไม่มีปัญหาเท่าไหร่ ถ้าไม่ขาดขาตั้งกล้อง แต่จะมีปัญหานิดๆถ้าจะถ่ายช่วงกลางวัน เพราะส่วนมากแล้วแสงจะแรงมาก ต่อให้เปิด iso ต่ำสุด f แคบ สุดก็แล้ว ก็ดัน speed shutter ได้ไม่เกิน 1 วินาที ผมเจอบ่อยตอนถ่ายน้ำตกนี่แหละ วิธีแก้คือไปหาฟิลเตอร์ตัดแสงมา(ND Filter) ช่วยได้เยอะมาก หรือถ้างบจำกัดก็ต้องอาศัยจังหวะธรรมชาติ เช่นการรอให้เมฆบังแดด ในช่วงจังหวะที่เมฆบังแดดอาจจะทำให้แสงลดลงไปถึง 5-6 stop เลย
เทคนิดการถ่ายเล่นกับเงา(Silhouette)
ภาพถ่ายแนวซินลูเอจ คือภาพถ่ายที่มีความแตกต่างของความสว่างและมืดในภาพเดียวกัน ถ้าภาษาชาวบ้านก็คือ ถ่ายย้อนแสงจนให้เกิดเงาดำในภาพนั่นแหละ ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาดูลึกลับน่าค้นหา ซึ่งการถ่ายแนวนี้ก็ไม่ยาก ง่าย ๆเลยก็ถ่ายย้อนแสงนั่นแหละ โดยวัดแสงจุดที่ท้องฟ้าหรือจุดสว่าง(ห้ามวัดแสงจุดที่สนใจเด็ดขาด) การภาพแนวซินลูเอจช่วงเวลาที่เหมาะสมคือไม่เช้าก็เย็น เพราะแสงอาทิตย์จะย้อนได้เป็นแนวตรงพอดี
4. เทคนิคการเตรียมตัวการถ่ายภาพ Landscape
มาถึงหัวข้อนี้หลายคนคงมีความรู้เรื่องการจัดองค์ประกอบและเทคนิคของการถ่ายภาพแนวแลนด์สเคปกันแล้ว ก็คงอยากเริ่มต้นลองถ่ายภาพแลนด์สเคปดูบ้าง จริง ๆแล้วการถ่ายภาพแลนด์สเคปก็ไม่ได้ยากอะไร เพียงแค่หยิบกล้องออกไปหาธรรมชาติสวย ๆ ยิ่งใครเป็นสายท่องเที่ยวแนวธรรมชาติอยู่แล้วก็คงไม่มีปัญหาอะไรสำหรับการเก็บแสงเช้าเฝ้าแสงเย็น แต่ใครที่กำลังเริ่มต้นถ่ายแลนด์สเคปอาจจะต้องมีความอดทนและอยู่กับธรรมชาติสักนิดนึง(ยิ่งมากยิ่งดี) เพราะการถ่ายภาพแลนด์สเคปให้สวยจำเป็นต้องเข้าป่าเดินเขา หรือแม้แต่ถ่าย Cityscape ก็ต้องมีความอดทนเฝ้ารอช่วงลาแสงสวยอยู่ดี ซึ่งจะเห็นได้ว่าสายแลนด์สเคปจะเน้นไปที่ธรรมชาติและแสง ดังนั้นเพื่อไม่ให้ไปแล้วพลาดแสงสวยๆจำเป็นต้องวางแผนเพื่อไปเก็บภาพ ซึ่งผมจะสรุปเป็นข้อ ๆ ตามด้านล่างเลย
- สิ่งแรกเลยต้องรู้ว่าเราจะไปเก็บภาพแนวไหน ที่ไหน แล้วต้องไปช่วงเวลาไหนถึงจะได้ความสวยงาม ผมขอยกตัวอย่างเช่น ผมต้องการภาพไอหมอกบนน้ำสวยๆสักที่ในเมืองไทย แน่นอนว่าต้องไปปางอุ๋งหรือไม่ก็บ้านรักไทย
- ถ้าผมเลือกไปบ้านรักไทยแล้วก็ต้องมาดูอีกว่าไปช่วงฤดูไหน ถึงมีไอหมอกบนน้ำ คงไม่ใช่ฤดูฝนกับฤดูร้อนแน่ ๆ ตัดทิ้งไปเลย ดังนั้นต้องไปฤดูหนาว แต่อย่าลืมนะครับว่าเมืองไทยฤดูหนาวก็ไม่ได้หนาวทุกวัน เราก็คงต้องไปเปิดดูสถิติย้อนหลังว่าแม่ฮ่องสอนเนี่ยหนาวสุดช่วงไหน เมื่อเรารู้ว่าแม่ฮ่องสอนหนาวสุดติดต่อกันช่วงปลายเดือนมกราคม เราก็จัดเลยช่วงเดือนมกราคมยังไงก็เจอ หรือถ้าใครขี้เกียจหา ก็อ่านในหัวข้อสถานที่นั้น ๆในเว็บผมได้เลย (พยายามจะไปที่สำคัญแล้วมาเขียนให้ครบ)
การถ่ายภาพแลนด์สเคปจะต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติและสภาพอากาศ มีชัยไปกว่าครึ่งเลย ดังนั้นเราจะไปถ่ายรูป Landscape ที่ไหนควรศึกษาธรรมชาติของสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ ในสถานที่นั้น ๆให้ดี เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสเจอธรรมชาติสวย ๆ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือการเตรียมอุปกรณ์ถ่ายภาพ หลายคนวางแผนไปเจอธรรมชาติสวย ๆอย่างดิบดี แต่ถ้าอยู่ดี ๆไปถึงแล้วกล้องใช้ไม่ได้บ้าง ลืมแบต ลืมเมม ลืมเลนส์บ้าง ก็คงเป็นอะไรที่ไม่น่าสนุก ซึ่งผมแนะนำให้เช็คอุปกรณ์ดังนี้
- ควรตรวจเช็คอุปกรณ์ให้ดีว่ายังใช้ได้หรือไม่ มีส่วนไหนเสียหายก็เอาไปเช็คและซ่อม เพื่อเวลาไปถึงสถานที่จริงแล้วธรรมชาติอลังการขึ้นมาจะได้ไม่รู้สึกเสียดาย อย่าลืมดูเมมการ์ดในกล้องด้วยว่ามีมั้ย ผมเคยลืมมาแล้ว
- ก่อนออกจากบ้านดูให้เรียบร้อยว่าเมมกับก้อนแบตอยู่ในกล้องหรือไม่ อย่าลืมเอาที่ชาร์ตแบตกล้องไปด้วย ถ้าใครมีอุปกรณ์อื่นเช่นฟิลเตอร์ ขาตั้งกล้อง ก็ต้องเช็คด้วย ขาตั้งกล้องขาดไม่ได้ถ้าจะถ่ายรูปช่วงแสงเย็น/เช้า/มืด
- สมมุติว่าถ้าลืมอุปกรณ์แล้วไม่สามารถถ่ายจังหวะธรรมชาติสวย ๆได้ แนะนำว่าถ้าหากใครลืมจริง ๆก็นั่งชมธรรมชาติสวย ๆไปก็ได้ เก็บความสวยงามนั้นลงไปในสมองแทน 5555 การดูธรรมชาติสวยๆแบบไม่ต้องกังวลเรื่องถ่ายรูป ผมว่าธรรมชาติจะสวยเป็นพิเศษเลยนะ เพราะเคยลืมมาแล้ว